๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒

บรรณาธิการ

 

                นันทขว้าง สิรสุนทร โทรศัพท์มาถามว่ามีความเห็นอย่างไรกับการที่มนุษย์ยุคไซเบอร์เข้าไปเขียนงานในเว็บกันมากขึ้น จนสื่อสิ่งพิมพ์แทบจะตายไปหมดแล้ว โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ และในภาวะอย่างนี้ คนที่เป็น บรรณาธิการ จะปรับตัวรับมืออย่างไร บรรณาธิการจะยังมีบทบาทอยู่ไหม ในยุคที่ใครๆก็เขียนได้ และเขียนปุ๊บก็สามารถ เผยแพร่ ได้ปั๊บ แทบจะในทันทีทันใด

                สำหรับตัวเอง ผมคิดว่าคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเช่นเดียวกัน ในกรณีนี้ ผมชอบคิดเปรียบเทียบ นักเขียน เข้ากับ นักพูด ในแง่ที่ว่า ใครๆก็ พูด เป็น ใครๆก็เจื้อยแจ้วเจรจาเล่าเรื่องกันได้ ส่งคลื่นสะเทือนผ่านเส้นเสียงออกมาเป็นคำกันได้

                แต่มีคนที่เป็น นักพูด ที่แท้จริงอยู่สักกี่คน

                ในเรื่องของการเขียนก็เช่นเดียวกัน ผมคิดว่ายิ่งมีคนเข้ามาเขียนในโลกไซเบอร์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นเรื่องดีเท่านั้น เพราะยิ่งมีคนเขียนในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เรา แยก คนที่ เป็น กับการเขียน กับคนที่ทำได้แค่เขียน ออกจากกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นกรณีคล้ายกับการแยกคนที่ เป็น กับการพูด กับคนที่ทำได้แค่พูดออกจากกัน

                แน่นอน คำว่า เป็น กับการเขียนในที่นี้ ย่อมไม่เหมือนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว ในโลกการเขียนยุค โมเดิร์นนิสม์ การเขียนย่อมมี แบบแผน บางอย่างที่ต้อง ไปให้ถึง อาทิเช่น การใช้ภาษา มุมมองที่เหมาะสม ลีลา การเล่าเรื่อง คลังคำ ฯลฯ ซึ่งในโลกแบบนั้น บรรณาธิการย่อมเป็นคนสำคัญที่สุด เพราะบรรณาธิการคือผู้คัดเลือก คัดสรร บรรณาธิการในตำนานอย่าง คุณย่าบอกอ แห่งสตรีสาร หรือคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ไม่ได้ทำหน้าแค่แนะนำวิธีเขียน แต่ยังแนะนำเลยไปถึงวิธีคิด เช่น แนะนำให้ผู้เขียนหัดมองโลกในแง่ดี รวมไปถึงนำเสนอวิธีใช้คำแบบใหม่ๆ บรรณาธิการอย่างสุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็เป็นตำนานที่สร้างนักเขียนเรื่องสั้นขึ้นมามากมาย

                แต่เราปฏิเสธได้หรือว่า บรรณาธิการแบบคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง หรือบรรณาธิการแบบสุชาติ สวัสดิ์ศรี นั้น ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ใช่ แบบ (หรือ Model ในความหมายของเพลโต) ของบรรณาธิการเพียง แบบ เดียว พูดง่ายๆก็คือ ถ้าคุณนิลวรรณเป็น สัจธรรม ของบรรณาธิการแบบหนึ่ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็เป็น สัจธรรม ของบรรณาธิการอีกแบบหนึ่ง

                ไม่นับรวมบรรณาธิการแบบสุวรรณี สุคนธา, นันทวัน หยุ่น, ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล, เสถียร จันทิมาธร, สุภาวดี โกมารทัต, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, นวลจันทร์ ศุภนิมิตร และอื่นๆ

                พูดง่ายๆก็คือ แม้จะมี หลักการใหญ่ บางอย่างร่วมกันอยู่เป็นสัจธรรมสูงสุด แต่เมื่อปลีกย่อยลงไปแล้ว บรรณาธิการแต่ละคนก็คือแต่ละ แบบ

                ผมคิดว่า คนรุ่นใหม่ที่เข้าไปอยู่ในเว็บไซต์มีลักษณะแบบโพสต์โมเดิร์นนิสม์มากขึ้น แต่ละคนได้ แตกกระจาย ในเรื่องของ แบบ ออกมา ทำให้ แบบ ที่เคย ใหญ่ นั้นแตกตัวออกมาเป็น แบบ เล็กๆยิบย่อย พูดง่ายๆก็คือ พวกเขาไขว่คว้าและ สร้าง สัจธรรมใน แบบ ของตัวเองขึ้นมา

                เพราะฉะนั้น แต่ละคนจึงสามารถเป็นได้ทั้ง นักเขียน และ บรรณาธิการ ในตัวของตัวเอง บรรณาธิการในโลกไซเบอร์เป็นได้ตั้งแต่คนที่คอย กำกับ ให้เด็กสาวในแคมฟร็อกถอดชิ้นนั้นชิ้นนี้ ไปจนกระทั่งถึงเพื่อนฝูงในเว็บบอร์ดคนรักการเขียนที่เอานิยายที่ตนเขียนมาโพสต์ แล้วคนอื่นๆก็ติชมและทำหน้าที่ shape ทั้งเรื่องและความคิดกันไป เลยไปถึงการเป็นเว็บมาสเตอร์คอยคัดกรองคำหรือวิธีคิดที่ (ตัวเองเห็นว่า) ไม่เหมาะสม

                ในโลกไซเบอร์จึงไม่มีคำว่า บรรณาธิการตัวจริง หรือ บรรณาธิการใหญ่ อยู่อีกต่อไปแล้ว ซึ่งสำหรับผม มันไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าเสียใจอะไร มันเพียงแต่เป็นไปอย่างที่มันเป็นเท่านั้นเอง

                อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อของผมอยู่ว่า หนังสือเล่มหรือนิตยสารไม่มีวันล้มหายตายจากไป มันจะเป็น สื่อ อีกสื่อหนึ่งที่คงอยู่และทำรายได้หล่อเลี้ยงตัวเองและคนที่รักมันได้ แม้จะไม่เปรี้ยงปร้างโด่งดังเหมือนเมื่อก่อน แต่ ข้อดีที่สุด ของการที่ผู้คน เคลื่อน เข้าไปอยู่ในเว็บกันเยอะ ทุกคนต่างก็ เขียนได้ นั้น มันทำให้แวดวงคนทำหนังสือเล่มหรือนิตยสาร มีโอกาส เห็น ได้ชัดขึ้น แยกแยะคนที่เขียนหนังสือ เป็น กับเขียนหนังสือ ได้ ได้ชัดเจนขึ้น เหมือนแยกอัญมณีในกองหิน และบรรณาธิการก็ยังคงมีบทบาทของตัวเองอยู่ เพียงแต่ต้อง รู้และ ตระหนัก ให้ได้ว่า ถ้าอยู่ในโลกไซเบอร์ เราควรเป็นบรรณาธิการแบบไหน ถ้าอยู่ในโลกจริงของการทำหนังสือเล่มและนิตยสาร เราควรเป็นบรรณาธิการแบบไหน และทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีเขียน ในโลกไซเบอร์ (ที่ต้องการความสั้นเป็นสรณะ) ก็ไม่เหมือน วิธีเขียน ในหนังสือเล่ม ในหนังสือ Microtrends ของ มาร์ค เพนน์ บอกไว้ว่า เทรนด์ การอ่านหนังสือของคนอเมริกัน (ที่คลั่งโลกไซเบอร์ยิ่งกว่าเรา) นั้น ตามสถติจะเห็นว่า หนังสือ ขายดี นั้นมี ความหนา เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ความหนาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยหน้า แปลว่าเมื่อโลกสมาธิสั้นกันถึงที่สุด ก็มีโอกาสที่คนบางกลุ่มจะหันมาสมาธิยาวกันใหม่อีกครั้งได้เหมือนกัน

                อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน ที่เคยใช้วัดสิ่งต่างๆมาตรฐานเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เราต้องการมากกว่า สองมาตรฐาน ด้วยซ้ำไปครับ ในสถานการณ์หนึ่งๆ บริบทหนึ่งๆ ผู้คนแบบหนึ่งๆ เราไม่สามารถเอามาตรวัดเดิมที่เราคุ้นเคย (ในฐานะบรรณาธิการ) ไปทาบเทียบ แล้วชี้ถูกผิดได้อีกต่อไป

                บทบาทของการเป็นบรรณาธิการในโลกยุคนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว อัญมณีเลอค่าของทุกวันนี้ ไม่ใช่อัญมณีก้อนเดิมกับเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว

                เผลอๆ ก้อนหินที่เคยไร้ค่า อาจกลายเป็นอัญมณีของยุคสมัยก็ได้ ใครจะรู้ มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะให้ค่ากับสิ่งไหน

                เพราะเราก็สมมุติทุกอย่างขึ้นมาไม่ใช่หรือ

                รวมทั้งความเป็น บรรณาธิการ ด้วยนั่นแหละ!

 

recalcitranter.blogspot.com

๐๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒

วันสำคัญของโลก

วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา

ไม่มีอะไรมาก นอกจากเมื่อถึงวันนี้ มักจะได้ยินคนพูดอยู่ตลอดเวลาว่า สหประชาชาติประกาศให้เป็นวันสำคัญของโลกแล้ว

ก็เลยนึกไปถึงวันอีสเตอร์ วันคริสต์มาส หรือแม้กระทั่งวันวาเลนไทน์

ด้วยความสงสัย (และยังไม่มีเวลาไปค้น) ว่าสหประชาชาติได้ 'ประกาศ' ให้วันเหล่านั้นเป็นวันสำคัญของโลกด้วยหรือเปล่า

ถ้าใช่ก็แล้วไป

แต่ถ้าไม่ใช่,

มันจะมี 'ความหมาย' ว่าอย่างไร?

๐๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒

วาทกรรม

คุณเคยได้ยินคำว่า 'วาทกรรม' ไหม?

ล่าสุด ในสภา (อันเป็นที่รักยิ่ง!) ของเรา ก็มีคนหล่นคำว่า 'วาทกรรม' กันเกลื่อนกล่น คำคำนี้ยังหล่นอยู่ตามหน้าปัดวิทยุและจอโทรทัศน์อีกด้วย เมื่อนักเล่าข่าว พิธีกรข่าว หรือนักวิเคราะห์การเมืองทั้งหลายพูดถึง 'วาทะ' ของคนอื่นๆ

ผมเข้าใจว่า คำว่า 'วาทกรรม' ที่คนเหล่านี้ใช้ หมายความถึง 'วาทะ' + 'กรรม' อย่างตรงไปตรงมา (ซึ่งก็ชวนให้คิดเช่นนั้นอยู่) และแปลได้ง่ายๆว่าเป็น 'กรรม' หรือการกระทำที่เกิดจาก 'วาทะ' หรือการพูด ซึ่งฟังดูก็เก๋ไก๋ดี ตัวอย่างก็คือ บางคนบอกว่า สิ่งที่อีกคนหนึ่งพูดนั้นก็เป็นแค่ 'วาทกรรม' เท่านั้นเอง หาสาระประโยชน์อะไรไม่ได้ และทำให้คำว่า 'วาทกรรม' ที่สู้อุตส่าห์ถูกปลุกปั้นมาโดยนักวิชาการโพสต์โมเดิร์นนิสต์นั้น ต้องหดหายเรื่องความหมาย มาเหลือแค่คำว่า 'วาทะ' ในทำนองเดียวกับ วาทศิลป์ หรือการตีฝีปากอะไรแบบนั้น

ที่จริง 'วาทกรรม' มีที่มาจากคำว่า discourse และมันไม่ได้หมายถึงแค่ 'วาทะ' เฉยๆ แต่มีนัยย้อนโยงกลับไปถึงมิเชล ฟูโกต์ ซึ่งถ้าใครอยากจะรู้มากกว่านี้ ก็คงต้องไปค้นหากันเอาเองว่า discourse นั้นไซร้ มันหมายถึงอะไรบ้าง

เพราะผมไม่ได้อยากจะเล่าให้ใครฟังถึง 'วาทกรรม' แต่อย่างใด

เรื่องที่ผมอยากจะบันทึกไว้ และคิดว่ามันสุดแสนจะ irony ก็คือการที่ผมได้ยินนักวิชาการโพสต์โมเดิร์นบางราย ออกมาประณามการใช้คำว่า 'วาทกรรม' ในแบบที่หดหายมันให้เหลือความหมายในระดับของ 'วาทะ' โดยผู้ (ไม่) รู้ ในแวดวงสื่อสารมวลชนและนักการเมือง

ที่บอกว่ามัน irony เป็นเพราะโพสต์โมเดิร์นนิสม์นั้น ไม่มีนโยบายประชานิยม เอ๊ย! ไม่ใช่ครับ ไม่มีนโยบายแบ่งแยกประเภท อย่างหนังสือของ อ.ไชยันต์ ไชยพร ที่พูดถึงมนุษย์ที่แบ่งประเภทไม่ได้นั่นแหละ และนอกจากนี้ โพสต์โมเดิร์นก็ยังเกิดขึ้นเพื่อต่อสู้ต่อรองกับ 'โมเดิร์น' ด้วย โมเดิร์นนั้นหมายถึงหลักการอะไรบางอย่างที่ต้องมี 'แบบ' อันเป็นที่สุด เป็น model ที่ถูกต้องแน่นอน และต้องไปให้ถึงแบบนั้น ถึงจะเรียกได้ว่าโมเดิร์น แต่พอมาเป็นโพสต์โมเดิร์น ก็มีการ 'รื้อ' ทำลายไอ้เจ้าแบบที่ว่า แล้วสร้างใหม่ (หรือไม่สร้างก็ได้) ให้มันเกิดอาการกระจัดกระจายพรายพลัดเล่นๆ ถือเป็นการทำความเข้าใจและมองโลกที่เคยมีโครงสร้างแข็งๆเสียใหม่ ด้วยการรื้อโครงสร้างพวกนั้นออกมาดูกันให้ถึงกึ๋นถึงแก่น

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องสุดแสน irony สำหรับผมนัก ที่นักโพสต์โมเดิร์น (อันที่จริงโลกไม่มีคำคำนี้หรอกนะครับ เพราะโพสต์โมเดิร์นแบ่งแยกประเภทไม่ได้!) จะออกมาบอกเราว่า มีการใช้คำว่า 'วาทกรรม' ผิดๆ

เพราะถ้าคุณพูดเช่นนั้น ก็หมายความว่ามี 'แบบ' ของคำว่า 'วาทกรรม' ที่ถูกต้องอยู่แบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือ 'แบบ' ที่ใช้กันในแวดวงวิชาการ คือ 'นิยาม' แบบเดียวกับ discourse ของฟูโกต์ หรืออะไรทำนองนั้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม มีคนบอกว่า 'ความจริง' ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่อง exclusivism คือเป็นการ 'กัน' ความจริงอื่นๆทิ้งไปให้หมด ความจริงตามนิยามของฉัน (หรือของกู!) จะได้เด่นชัด จะได้ลอยตัวขึ้นมาให้เห็นได้ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน ถ้าเราอยากให้ 'วาทกรรม' มีนิยามเฉพาะในแบบของเรา เราก็ต้อง 'กัน' ความจริงในการใช้คำว่า 'วาทกรรม' ในแบบอื่นๆทิ้งไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักโพสต์โมเดิร์นออกมาพยายาม 'กัน' ความจริงที่ว่า 'วาทกรรม' ก็คือ 'วาทะ' ของคนหลายๆคน (ในวงกว้าง)

แต่การออกมา 'กัน' แบบนี้ มันคือท่าทีแบบโมเดิร์นนะครับ ไม่ใช่ท่าทีแบบโพสต์โมเดิร์น!

เหมือนที่เรา (เคย) บอกว่า ภาษาไทยที่ถูกต้องก็คือภาษาไทยกลางเท่านั้น ไทยอีสาน ไทยเหนือ ไทยสุพรรณฯ เป็นแค่สำเนียงที่ 'แปร่ง' หรือ 'เหน่อ' ไปจาก 'ต้นแบบ' (ที่เห็นในทีวีและข่าวพระราชสำนัก) เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็น 'ภาษา' โดยตัวของมันเอง นั่นก็คือการพยายามลดทอน 'อำนาจ' ของภาษาแบบอื่นที่ไม่เหมือนกับตัวเอง และเป็นบทเรียนอันเจ็บแสบ เจ็บปวด ที่เกิดขึ้นกับคำว่า 'รัฐไทย' ซึ่งส่วนหนึ่งส่องสะท้อนออกมาในปัญหาความขัดแย้งปัจจุบันด้วย

มันเกิดขึ้นเพราะวิธีคิดแบบโมเดิร์นนั่นเอง!

ผมคิดว่า ใครจะใช้คำว่า 'วาทกรรม' อย่างไร ก็เชิญใช้กันได้ตามเสบย แต่ควรต้องรู้ด้วยว่า 'นิยาม' ที่ตนใช้คืออะไร กีดกันสิ่งอื่นๆออกมามากน้อยแค่ไหน (เช่น วาทกรรมของนักข่าวและนักการเมือง ก็ได้ 'กีดกัน' คำว่า 'วาทกรรม' ในความหมายแบบฟูโกต์ออกไปอย่างสิ้นเชิง-ซึ่งก็น่าคับแค้นพอควรสำหรับคนที่อุตส่าห์คิดค้นขึ้นมา) และคิดว่านักคิดโพสต์โมเดิร์นก็คงเห็นด้วยกับความคิดนี้ ส่วนใครที่อยากตีวง จำกัดคำว่า วาทกรรม เอาไว้ในแวดวงของตัวเอง 'เท่านั้น'

คนคนนั้นก็ 'เดิ้น' (ในความหมายของ 'โมเดิร์น') จริงๆครับ!

๐๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒

ซ้าย-ขวา-ซ้าย

ผมคิดว่า ถ้าเรายังมองภาพของสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่สู้กันด้วยอุดมการณ์แบบ 'ซ้าย-ขวา' อยู่ เราก็จะไม่มีวันเข้าใจอะไรได้ชัดเจนนัก เพราะดูเผินๆ สิ่งมีชีวิตที่เคยเป็น 'ขวา' บางคน ตอนนี้กลับกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า 'ซ้าย' และกลับกัน สิ่งมีชีวิตที่เคยเป็น 'ซ้าย' ตอนนี้ก็กลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า 'ขวา' ไปเต็มประตู

ไม่ว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆหรือแค่ 'ถูก' เรียกก็ตามที

เพราะมันจะไขว้เขวไปหมด ขวาบางคนไปเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้ซากการนำของระบอบทักษิณ (และบางคนก็ถีบส่งทักษิณ) ส่วนซ้ายจำนวนมาก (รวมทั้งเอ็นจีโอบางส่วน) ก็ถูกกล่าวหาว่ากลายเป็นขวา ละทิ้งประชาชน และไปเข้ากับพวกอำมาตย์

ผมคิดว่าเรื่อง ซ้าย-ขวา ไม่ใช่กรอบในการมองปัญหาของบ้านเราอีกต่อไปแล้ว แต่คนในบางเว็บไซต์ และอาจารย์สายมาร์กซิสต์บางคน ก็ยังอยากใช้กรอบนี้ในการมองปัญหาอยู่

ซึ่งผมว่าทำให้พลาดเป้า มองปัญหาไม่ทะลุ ไม่เห็นถึงสาเหตุที่แท้จริง และมักทำให้เกิด comment แปลกๆ

อย่างไรก็ดี กรอบ ซ้าย-ขวา ก็ง่ายดีในการที่จะ label คน และกระทั่งอีกฝ่าย (ซึ่งถูกตั้งฉายาว่าเป็นอำมาตย์) ก็ไม่ตอบรับไม่ปฏิเสธ หรือเผลอๆ ก็อาจตกอยู่ในภาวะมนต์สะกดของ ซ้าย-ขวา ด้วยเหมือนกัน (เพราะติดเชื้อไวรัสทางประวัิติศาสตร์มา) 

สรุปก็คือ ประเทศนี้ 'อาจ' มีคนสองฝ่ายที่กำลังต่อสู้กัน โดย 'คิดเอาเอง' ว่ากำลังสู้กันด้วยอุดมการณ์แบบ ซ้ายกับขวา เหมือนที่เคยเป็นมาในยุคคอมมิวนิสม์

แต่มัน 'ยัง' เป็นอย่างนั้นอยู่ไหม?

ก็อาจเป็นได้-แต่จะไม่มี ideology อื่นเข้ามากำกับโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยหรือ?

โลกทุกวันนี้ 'ซับซ้อน' มากกว่าที่เราเห็น ตั้งแต่เรื่องเพศ ไม้จิ้มฟัน ดิลโด หรือการเรียบเรียงดนตรีเพื่อประชันกันในรายการคุณพระช่วย และการซ้อมแดนเซอร์ในรายการชิงช้าสวรรค์

แล้วคิดว่าเรื่องการเมืองมันจะยัง 'ง่ายๆ' อยู่แค่กรอบการมองแบบ ซ้าย-ขวา อยู่อีกหรือ

ไม่คิดว่ามันมีความซับซ้อนมากไปกว่านี้อีกหรือ?

เหมือนคนตบกันเพราะคิดว่าอีกฝ่ายแย่งผู้ชายของตนไปประเด็นเดียว พูดแค่นี้ บางคนก็อาจคิดว่า 'คน' สองคนนั้นต้องเป็นผู้หญิง และผู้ชายก็เป็นวัตถุตั้งมั่นสถาพรให้ถูกแย่งไปได้ง่ายๆ พอถามแบบนี้ บางคนก็คิดว่าต้องเป็นกะเทยตบกันแน่ๆ หรือไม่ก็เป็นกะเทยตบกับผู้หญิง แต่ที่จริง แค่ 'ตัวตน' ของคนที่ตบกันในยุคนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมานั่ง 'แบ่งประเภท' และคิดแบบ stereotypicalism กันอีกต่อไปแล้ว 

ยังไม่นับรวม 'ประเด็น' อีก เพราะคนสองคนที่ตบกันอาจคิดว่าตัวเองตบกันด้วยเรื่องแย่งผู้ชาย (หรือประชาชน หรือประชาธิปไตย หรืออะไรที่ฟังดูโคตรจะสูงส่ง) แต่ที่จริงมันอาจเป็นเรื่องอื่นที่ซุกซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนสองคนนั่นก็ได้ 

คำว่า ซ้าย-ขวา ชวนให้คิดถึงการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ถ้าดูคนที่เข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คุณจะเห็นว่ามันไม่ได้มีเส้นพรมแดนแบ่งแยกทางชนชั้นมากขนาดนั้น ทั้งสองฝ่ายมีชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง และชนชั้น (ที่ถูกเรียกว่า) สูง อยู่ทั้งหมด

ผมไม่ใช่คนฉลาดเฉลียวอะไรนัก ไม่ใช่นักวิชาการ และยังไม่รู้ว่าควรจะใส่ 'แว่น' อันไหนมองดูสิ่งที่เกิดขึ้น

ผมเพียงแต่คิดว่า บางทีเราอาจใช้แว่นเพียงอันเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เราอาจต้องช่วยกันใส่แว่นหลายๆอันมองดูสิ่งที่เ้กิดขึ้น 

ถ้าเราติดยึด เราอาจกลายเป็นไดโนเสาร์ และโดยไม่รู้ตัว เราอาจกลายพันธุ์-เหมือนที่ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เคยวิพากษ์วงการสื่อไว้...ว่าไดโนเสาร์อาจกลายพันธุ์กลายมาเป็นเหี้ย

และเหี้ยก็ชอบเรียกสิ่งนั้นว่าวิัวัฒนาการ

๐๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒

อะไรคือแก่นของการต่อสู้กันแน่?

กิระดังได้ยินมา ว่าบางแดงก็แปลงร่างเป็นบางเหลือง ฉับพลันทันทีที่เห็นความรุนแรง
และกลับกัน บางเหลืองก็แปรผันเป็นบางแดง เมื่อล่วงรู้อะไรบางอย่าง

คำถามก็คือ เรากำลังต่อสู้เพื่ออะไร?
ถ้าตั้งคำถามแบบชื่อหนังสือของนักเขียนซีไรต์คนล่าสุด (ที่ดูจะไม่มีใครสนอกสนใจเขาเท่าไหร่นัก) คงต้องถามว่า 'เราหลงลืมอะไรบางอย่าง' กันไปหรือเปล่า?

เหมือนเราไม่มีแก่นกลางความคิดในการต่อสู้กันเลย เราเพียงแต่คิดว่า ถ้าสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป บางทีอาจเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ แล้วเราก็เร่งมือพยายามล้มล้างสิ่งนั้น

สำหรับบางคน เมื่อเห็น 30% ของความชั่วหรือด้านลบของสิ่งนั้น ก็พานสวิงกลับไปอยู่อีกขั้วหนึ่ง โดยมีพลพรรคของขั้วนั้นโห่ร้องต้อนรับยินดี

ไม่มีใครถามถึงความคิด

ทุกคนทำตัวเยี่ยง 'สัตว์ฝูง' ขอให้มีฝูง ขอให้ได้มีสังกัด

และเมื่อ 'ฝั่งนี้' มันชั่วเสียแล้ว สถานที่เดียวที่จะไปสังกัดได้ ก็คือต้องไป 'ฝั่งโน้น'

จึงมีคนที่ทำทั้งร่วมปิดสนามบิน และร่วมปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

คำถามก็คือ แล้วแก่นแกนในการคิดคืออะไร อะไรคืออุดมคติ อะไรคือสิ่งที่เราศรัทธายึดมั่น มาร์กซิสม์หรือ คอมมิวนิสม์หรือ กษัตริย์นิยมหรือ อัตถิภาวะนิยมหรือ โพสต์โมเดิร์นนิสม์หรือ

หรือว่าแค่ฝูง?

เราเรียกร้องผู้อุปถัมภ์กันอยู่ทุกลมหายใจ ถ้าไม่ใช่ใครคนนี้ ก็ต้องเหวี่ยงไปเป็นใครคนนั้น แล้วกระเหี้ยนกระหือรือที่จะฟาดฟันกัน

เมื่อก่อน ซ้ายกับขวา แบ่งแยกกันด้วย ideology ที่ชัดเจน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ถูกละ-บางคนอาจมี และผู้คนในประเทศนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ใช่แค่ชาวบ้าน ชายขอบ รากหญ้า แต่กระทั่งชนชั้นสูงเองก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

แต่เราต้องการอะไรเล่า?
เราต้องการอะไร?

ในเว็บไซต์บางแห่งที่ต่อต้านสิ่งนั้น ก็กลับยกย่องสิ่งที่ดูเหมือนศัตรูของสิ่งนั้น ทั้งที่แท้จริงแล้วก็คือลูกหลานของสิ่งนั้น

มันเป็นตรรกะที่ย้อนแย้ง

และแสดงสำนึกไพร่ แม้กระทั่งในบรรดาผู้ต่อต้านสิ่งนั้น

เขียน

ไม่คิดว่า จะได้กลับมาเขียนบล็อกอีก หลังจากเขียนไปนิดๆหน่อยๆ สองสามครั้งเมื่อหลายปีก่อน (คลิกย้อนกลับไปดู ปรากฏว่าเป็นปี 2006)

แต่แล้วก็พบว่า ตัวเองกลับมานั่งคลิกๆ เปิดดูบล็อกเก่า ที่ใช้ชื่อว่า Dhammanarchist หรือ ธรรมิกอนาธิปไตย ที่เคยเขียนเอาไว้เพียงแค่สองสามเรื่อง แถมยังกระแดะเขียนเป็นภาษาอังกฤษเสียด้วย อาจเพื่อทิ้ง 'ช่องว่าง' ให้ห่าง ตามประสาคนชอบมีช่องว่าง (ระหว่างวัย!) หรืออะไรก็แล้วแต่

ที่จริง แทบไม่มีการเขียนไหนเลย ที่บอกเล่า 'ความจริง' ของตัวตนผู้เขียนได้อย่าง 'แท้จริง' เพราะการเขียนทุกครั้ง ล้วนคือการ 'เขียนใหม่' เป็นการเขียนตัวตนของผู้เขียนขึ้นอีกครั้ง แต่การบอกเล่าเช่นนั้น ก็ยิ่งย้อนยอก เพราะเป็นการพยายามเขียนเพื่อกะเทาะความจริง แต่เมื่อความจริงก็คือความไม่จริงเสียแล้ว จะเอาความจริงที่ไหนมาแสดงได้อีกเล่า

ทำนองเดียวกับ 'การอ่านก็คือการเขียนอย่างหนึ่ง' การเขียนเองก็เป็นทั้งการอ่าน การเขียนใหม่ และการ rewrite ตัวตนของเราอยู่เสมอ
บางทีมันเหมือนการทบทวน

และบางที มนุษย์จึงลงมือเขียน