1
ผมชักสงสัยเสียแล้วว่า ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ คืออะไร?
สำหรับผม การสั่งฆ่าหนังเรื่อง Insects in the Backyard ด้วยเรต ห หรือ ‘ไม่อนุญาตให้ฉายในราชอาณาจักร’ เพราะ ‘มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ถือเป็นเรื่องเศร้ามากพอๆกับที่มีการฆ่าผู้คนบนท้องถนนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเศร้าพอๆกับการฆ่าฟันต้นไม้ใหญ่อายุหลายร้อยปีใจกลางกรุงเทพฯทิ้งโดยไม่คิดว่าได้ฆ่าเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงนิเวศทิ้งลงไปด้วย
พึงสังเกตว่า ทั้งสามเรื่องเป็นสิ่งที่ ‘ถูกกฎหมาย’ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธรรมดาหรือกฎหมายพิเศษ
ผมใช้คำว่า ‘สั่งฆ่า’ กับการแบนหนังเรื่องนี้เพราะผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ มันเหมือนการ ‘ขับไล่’ หนังเรื่องนี้และตัวผู้กำกับให้พ้นออกไปจากความเป็นคนไทย การ ‘ไม่อนุญาตให้ฉายในราชอาณาจักร’ ก็คือการบอกว่า หนังเรื่องนี้ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ใต้ร่มเงาของประเทศอันเป็นราชอาณาจักรแห่งนี้ เหมือนคุณทำผิดคิดร้ายต่อราชอาณาจักรแห่งนี้อย่างรุนแรง จึงไม่สมควรที่จะ Exist อยู่ที่นี่
ตอนได้พบกับธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์-ผู้กำกับหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก เขา (หรือเธอ) ถามผมว่า “ก่อนมานี่ พี่คิดว่าหนูเป็นเสื้อแดงไหมคะ”
ให้ตายเถอะ-บอกตรงๆว่าแอบคิดอย่างนั้นเหมือนกัน ค่าที่หนังที่ได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี ของเธอ (คือเรื่อง I’m Fine สบายดีค่ะ) นั้นเสียดเย้ยความเป็นคนไทยและการเมืองไทยเอาไว้อย่างแสบสันต์ แถมนักแสดงยังใส่เสื้อแดงนั่งอยู่ในกรงอีกต่างหาก
เพราะฉะนั้น เมื่อมีข่าวว่าหนังของเขาถูกแบน (คือได้เรต ห แปลว่า ‘ห้ามฉาย) จึงชวนให้คิดไปไกลว่า ชะรอยหนังจะมีเนื้อหาทางการเมืองรุนแรง มีนัยส่อไปในทางล้มล้างประเทศชาติราชอาณาจักรเสียละกระมัง จึงต้องถึงขั้น ‘สั่งฆ่า’ อย่าให้มันได้ผุดได้เกิดในประเทศแห่งนี้เลย
แต่แล้วผมก็ต้องหัวเราะขันๆอย่างขื่นๆ เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้จบลง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากผู้กำกับ ให้นำมาดูในโน้ตบุ๊คเป็นการส่วนตัวบนดาวอีกดวงหนึ่งซึ่งผมคิดเอาเองว่าไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรแห่งนี้
ผมดูอย่างตั้งใจจนจบ ที่บอกว่าตั้งใจ ก็คือตั้งใจจะจับผิดหนังเรื่องนี้ว่ามันเลวทรามต่ำช้าตรงไหน สมควรแล้วหรือไม่ที่จะต้องถูก ‘สั่งฆ่า’ สมควรแล้วหรือไม่ที่จะห้ามผุดบังเกิดขึ้นมาบนราชอาณาจักรแห่งนี้ ราชอาณาจักรที่ใครๆก็กล่าวขานกันว่าเป็นเมืองพุทธที่เปิดกว้าง มีเมตตาธรรม และยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้ ทำให้เรามีศาสนาหลากหลาย มีคนต่างเชื้อชาติเข้ามาพึ่งพิงราชอาณาจักรแห่งนี้กันเป็นอันมากนับแต่โบราณกาล
เมื่อดูจบ ผมอยากหัวเราะ...และอยากร้องไห้
2
จริงๆแล้ว หนังนอกกระแสในบ้านเราที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่างๆในราชอาณาจักรแห่งนี้อย่างรุนแรงกว่า Insects in the Backyard นั้น มีอยู่ตั้งหลายต่อหลายเรื่อง เพียงแต่ผู้กำกับหนังเหล่านั้นเลือกใช้วิธีการทางศิลปะมาอำพรางสารที่ต้องการสื่อเสียจนคลับคล้ายจะ ‘ดูไม่รู้เรื่อง’ ทว่าเนื้อหาอันทรงพลังก็แทรกซ่อนเข้ามาสู่ตัวคนดูได้อยู่ดี
Insects in the Backyard อาจเป็นหนังนอกกระแส เป็นหนังอาร์ต แต่ก็ไม่ได้เป็นหนังอาร์ตที่ ‘อาร์ตตัวแม่’ เสียจนดูไม่รู้เรื่อง
บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มันถูกสั่งฆ่าก็ได้
เพราะผู้เฒ่าผู้แก่พอจะดูรู้เรื่องว่ามันต้องการจะบอกอะไร แต่ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนอาจไม่มี ‘วุฒิภาวะ’ มากพอจะยอมรับความจริงได้
หนังไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันการเมือง สถาบันกษัตริย์ สถาบันตุลาการ หรือสถาบันอะไรที่สูงส่งเลย หนังเพียงแต่วิพากษ์เรื่องเก่าๆที่ใครๆก็พูดถึงกันมาแล้วเป็นสิบๆปี ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปถามนักเขียนหญิงอย่าง อรุณวดี อรุณมาศ ดูได้ ว่าเธอเขียนหนังสือเรื่อง ‘การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา’ มานานกี่ปีแล้ว
หนังเรื่องนี้ก็ ‘พูด’ แบบเดียวกัน!
ถามหน่อยเถอะครับ ว่าสังคมปัจจุบันนี้มันร่าเริงสดใสงดงามเหมือนผีเสื้อยามเช้ากระนั้นหรือ สาบานได้ไหมว่าไม่มีใครเอากันในโรงแรมม่านรูดโดยใส่ชุดนักเรียน เด็กไทยไม่ได้เอากันเหมือนกระต่าย พ่อของบ้านนี้ไม่ได้แต่งหญิงไปเอากับพ่อของบ้านโน้น ไม่มีกะเทยสักคนเดียวที่ใส่ดิลโด้เพื่อกระทำเว็จมรรคกับผู้หญิง และอื่นๆอีกมากมายอันเป็นพฤติกรรมทางเพศที่หลากหลาย
คุณไม่ทำ-ไม่ได้แปลว่าไม่มีคนทำ
คุณไม่ทำ-ไม่ได้แปลว่าจะต้องสวมถุงมือปลอดเชื้อเอื้อมเข้าไปล้วงควักตับไตไส้พุงควบคุมคนอื่นถึงบนเตียงนอน
ที่สำคัญ คนที่ทำ คนที่มีพฤติกรรมทางเพศต่างออกไปจากมาตรฐาน (‘มาตรฐาน’ คือต้องทำท่ามิชชันนารีธรรมดาๆระหว่างชายกับหญิงที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ควรต้องแต่งงานกัน มีอายุไม่น้อยไม่มากเกินไป อายุของทั้งสองฝ่ายต้องไม่ห่างกันเกินไป และผู้ชายควรอยู่ข้างบน ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ) ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านั้นจะต้องเป็น ‘คนเลว’ เสียเมื่อไหร่
แต่เราก็ชอบเอาพฤติกรรมทางเพศของคนอื่นมาตัดสินชีวิตทั้งชีวิตของพวกเขา
อาการ ‘รับไม่ได้’ กับความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้ถึงขั้นต้องสั่งฆ่ามันด้วยข้อหา ‘ขัดต่อศีลธรรมอันดี’ นั้น ไม่ต่างอะไรกับความเป็นเผด็จการในนามของความดี แบบเดียวกับ ‘ตุลาการศาลศาสนา’ ในสเปนหรือโปรตุเกสใน ‘ยุคแห่งความมืดบอดทางปัญญา’ ที่ปล่อยให้ศรัทธาในหน้ากากของความดีจอมปลอมมาบังหน้าความเน่าเฟะภายใน
3
ความผิดฉกาจฉกรรจ์ของ Insects in the Backyard ก็คือ มันไม่ได้หน้าไหว้หลังหลอกตามมาตรฐานที่บางคนในราชอาณาจักรแห่งนี้ชอบทำกัน แต่มันบอกเราว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับ ‘สถาบันครอบครัวที่ล่มสลาย’
ความจริงแล้ว สำหรับผม เนื้อหาหนังค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมเสียด้วยซ้ำ เพราะในตอนใกล้จบ หนังทำให้เราซาบซึ้งกับสิ่งที่ใกล้เคียงกับสถาบันครอบครัวในบางฉาก แม้หนังไม่ได้บอกว่าปัญหาทั้งหมดสามารถคลี่คลายกลายเป็นจบแบบแฮ็ปปี้เอนดิ้งได้ด้วยสถาบันครอบครัวประดุจมันเป็นกระสุนเงินศักดิ์สิทธิ์นัดเดียวที่ยิงตัดขั้วหัวใจแวมไพร์ได้ก็ตาม
แนวคิดของหนังไม่ได้โลดโผนโจนทะยานท้าทายมาตรฐานศีลธรรมอันดีของสังคมจนถึงขั้นรับไม่ได้ หนังเพียงแต่ ‘ตรงไปตรงมา’ กับฉากการร่วมเพศที่หลากหลาย ชายกับชาย ชายกับหญิง หญิงกับหญิง หญิงกับกะเทย กะเทยกับผู้ชาย ซึ่งก็คือการพยายามบอกเราว่า เรื่องทางเพศไม่ใช่เรื่อง ‘ทวิลักษณ์’ คือไม่ได้มีแต่สองข้างชายหญิง แล้วใครไม่อยากเป็นชายก็ต้องไปเป็นหญิง ใครไม่อยากเป็นหญิงก็ต้องไปเป็นชายเท่านั้น แต่ ‘เพศ’ มีความหลากหลายมาก กะเทยก็เป็นพ่อได้ ผู้ชายก็มีอะไรกับผู้ชายเหมือนกันได้โดยไม่ต้องเป็นเกย์ ผู้หญิงบางคนก็ไม่ได้ถูกบังคับให้เป็นโสเภณี แต่เธอเป็นเพราะเหตุผลแวดล้อมอื่นบังคับ ฯลฯ
หนังเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า เรื่องราวทางเพศของมนุษย์นั้นซับซ้อน และใครไม่ได้เป็นอย่างที่คนเหล่านั้นเป็นก็อาจเข้าใจพวกเขาได้ยาก ทว่าสถานการณ์เหล่านี้ก็มีอยู่ ‘จริง’ ในสังคมแห่งนี้ หนังเรื่องนี้คือการยอมรับและบอกออกมาตรงๆว่า สังคมในราชอาณาจักรแห่งนี้มีความหลากหลายทางเพศ และบางที ‘ของจริง’ ยังอาจ ‘มาก’ กว่าที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ สังคมนี้มีพ่อที่เป็นกะเทย มีลูกที่ขายตัว มีแม่ที่พาลูกไปขายตัว มีผู้ชายที่แปลงเพศเป็นผู้หญิงแต่อยากมีอะไรกับผู้หญิง มีอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัดที่จินตนาการของคนทั่วๆนึกไม่ถึง และหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอออกมาได้อย่างทรงพลังและดัน ‘ดูรู้เรื่อง’ จนน่ากำจัดมันทิ้งไปเสียจากราชอาณาจักร
ถ้าหนังเรื่องนี้ทำออกมา ‘อาร์ตตัวแม่’ เสียจนคนเฒ่าคนแก่ดูไม่รู้เรื่อง ผมเชื่อว่ามันจะไม่ถูกสั่งฆ่า
เรื่องนี้แหละ ที่น่าหัวร่อ!
4
ธัญญ์วารินบอกผมว่า เธอไม่ได้เป็นชาวเสื้อแดง และจริงๆแล้ว เธอไม่รู้จักศัพท์เทคนิคพื้นๆของชาวเสื้อแดงอย่าง ‘สลิ่ม’ ด้วยซ้ำไป เธอเพียงแต่มีชีวิตอยู่เพื่อทำในสิ่งที่เธอรัก นั่นก็คือการได้ทำหนัง หนังจึงเหมือน ‘ลูก’ ที่เธอคลอดออกมาอย่างยากลำบาก เพราะหนังแบบนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่แล้ว เธอต้องทำทุกอย่างเองเพื่อให้หนังเรื่องนี้คลอดออกมา
แต่วิธีคิดแบบเผด็จการนั้นดำเนินมาเป็นแพ็คเกจ ถ้าอาณาจักรหรือราชอาณาจักรแห่งใดมีแนวโน้มเป็นเผด็จการ มันจะสำแดงอาการของเผด็จการออกมาให้เราเห็นในทุกแนวรบ ที่บอกว่าเป็นแนวรบก็เพราะรัฐเผด็จการมักมีแนวโน้มจะเห็นผู้ไม่เชื่อฟังเป็นศัตรูที่ต้องรบรา หรือถึงขึ้นฆ่าฟันกำจัดทิ้งเสียด้วยซ้ำ
แน่นอน เราอาจยังไม่ได้อยู่ในรัฐเผด็จการเต็มรูปแบบ แต่ ‘อาการ’ ที่ ‘ส่อ’ ให้เห็นถึงจิตสำนึกแบบเผด็จการที่ต้องการล้วงลึกเพื่อ ‘ควบคุม’ คนอื่นราวกับคนเหล่านั้นมีสมองของสัตว์ชั้นต่ำจำพวกแอมฟีเบียนเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิเช่น เราไม่อาจดูหนังเรื่อง Insects in the Backyard ได้, ไม่อาจเอาเหล้าใส่กระเช้าของขวัญได้ (แม้จะเอาไวน์ใส่กระเช้าไปให้ expat ชาวฝรั่งเศสที่เห็นว่าไวน์คือวัฒนธรรมประจำชาติที่สำคัญมากพอๆกับรำไทย), ต้องหมกมุ่นกับการสร้างสถาบันครอบครัวแบบสวยงามฉาบหน้า และไม่ควรพูดถึง ‘ความจริง’ ที่อยู่ข้างหลังหน้ากากต่างๆ
การแบนหนังเรื่องนี้อาจดูเหมือนเรื่องเล็ก ไม่เท่าเรื่องศพที่ตายกลางถนนและต้นไม้ที่ถูกโค่นกลางกรุง แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านี้แหละ คือ ‘สัญญาณ’ บอกถึงจิตสำนึกแบบเผด็จการอำนาจนิยมที่กำลังก่อร่างสร้างรูปขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งในทุกแนวรบ
‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ แท้แล้วจึงไม่ใช่ศีลธรรมอันดีของ ‘ประชาชน’ แต่เป็น ‘ศีลธรรมอันดี’ ที่อยากให้ ‘ประชาชน’ ก้มหัวสมาทานต่างหากเล่า!