๑๐ เมษายน ๒๕๕๓

ปรากฏการณ์เหวง


-1-

ผมคิดว่าปรากฏการณ์ เหวง ที่นำเอาคำว่า เหวง มาใช้แทนความหมายต่างๆ เช่น พูดจาไม่รู้เรื่อง วกวน น้ำท่วมทุ่ง เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ไม่ได้น่าสนใจเพราะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ แต่น่าสนใจเพราะมันไม่ใช่ปรากฏการณ์ ใหม่ เลยสักนิดเดียว ทว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องยาวนานในสังคมไทย

ตัวอย่างของคำที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ เหวง คือคำที่หยิบเอาชื่อของคนมาใช้แทนความหมายอื่นๆมีอาทิ

-พิเรนทร์ : ตามเรื่องเล่า (ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่น่าจะจริง) มาจากชื่อของพระพระเรนทรเทพ ที่ฝึกคนให้ไปดำน้ำเจาะเรือรบฝรั่งเศส โดยใช้ไม้ค้ำกดไว้ให้ดำน้ำทน จนมีคนตายหลายคน ต่อมาใครทำเรื่องไม่เข้าที ก็ถูกเรียกว่า เล่นพิเรนทร์

-กุ : คำว่ากุ หมายถึงสร้างเรื่องขึ้นมา มาจาก กุหลาบ ตฤษณานนท์ หรือ ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งเป็นปัญญาชนที่แอบคัดลอกหนังสือจากในวังออกมาเผยแพร่เพื่อให้คนทั่วไปได้มีความรู้ แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้ถูกจับได้ จึงปรับเปลี่ยนเนื้อหาและถ้อยคำ ที่สุดก็เลยกลายเป็นคำว่า กุ ที่หมายถึงสร้างเรื่องขึ้นมาหรือโกหก โดยเริ่มจากมีคนเรียกหนังสือของท่านว่าเป็น หนังสือกุ ก่อน

-ถั่วดำ : คำนี้มาจากชื่อคนด้วยเหมือนกัน เป็นเรื่องที่เกิดในสมัย พ.ศ.2478 มีชายคนหนึ่งชื่อเล่นว่าถั่วดำถูกจับกุม เนื่องจากสำเร็จความใคร่กับเด็กชายหลายคนที่พามาพักอยู่ด้วย และบังคับให้เด็กชายเหล่านั้นค้าประเวณี เป็นข่าวโด่งดังจนทำให้เกิดคำว่า อัดถั่วดำ ขึ้นมา

-คำยุคใหม่ๆที่เรารู้ที่มากันดีมีอยูหลายคำ อาทิเช่น ตุ๋ย, สมพงษ์, นาธาน หรือแม้แต่คำที่มาจากเพลงอย่างประเทือง และล่าสุดก็คือคำว่า เหวง

การที่ปรากฏการณ์นี้ ไม่ใหม่ หรือ เกิดขึ้นมานานแล้ว (จนเรา เคยชิน) แสดงให้เราเห็นถึงอะไรบ้าง

อย่างแรกก็คือ คำต่างๆเหล่านี้เกิดมีชีวิตและ ที่ทาง (ในการใช้งานจริง) ในสังคมไทย โดยบางคำอาจเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่มีอยู่หลายคำที่ยืนยงคงกระพันมาจนถึงปัจจุบัน เช่นคำว่าถั่วดำ, ตุ๋ย หรือพิเรนทร์ นั่นแปลว่าคำเหล่านี้ (บางคำ) ไม่ได้เป็นแค่แฟชั่นชั่วครั้งชั่วคราว

อย่างที่สอง คำพวกนี้มีน้อยมากที่มี ความหมายดีๆ อยู่ในตัว เช่นเราอาจเห็นภราดรหรือแทมมี่เล่นเทนนิสเก่งกาจมาก แต่กลับไม่เคยเกิดวลี เธอเล่นเทนนิสได้ภราดร/แทมมี่จังเลย ขึ้นมาในสังคมไทย คำประเภทนี้มักมีแต่ความหมายในแง่ลบที่ถูกหยิบขึ้นมาล้อเลียนกันเท่านั้น (ข้อยกเว้นเท่าที่นึกออกคือคำว่า วัลลี)

คำถามถัดมาก็คือ แล้วคำเหล่านี้ทำ หน้าที่ อะไรในสังคม

คำตอบหนึ่งที่โหดร้ายอย่างยิ่งแต่เป็นจริงพอกันก็คือ-นอกจากทำหน้าที่สร้างความหมายใหม่ให้ภาษาแล้ว การนำคำเหล่านี้มาใช้ยังทำหน้าที่ ลงโทษ บุคคลที่เป็นต้นทางของคำเหล่านั้นไปด้วยในตัว

นายถั่วดำอาจถูกลงโทษตามกฎหมายอาญาไปแล้ว นาธานก็ได้คืนเงินให้แม่บ้านไปแล้ว สมพงษ์ เลือดทหาร ออกมายอมรับผิดแล้ว แต่การลงโทษด้วยถ้อยคำยังคงอยู่ และเป็นไปได้ว่าจะอยู่ต่อไปไม่สิ้นสุด จนบางครั้งอาจหนักหนาว่าโทษที่สมควรได้รับด้วยซ้ำ ทั้งนี้ไม่ใช่ด้วยความ จงใจของสังคม แต่เพราะเมื่อคำคำหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว มันจะมีชีวิตของมันเอง ไม่มีใครไปควบคุมอะไรได้

ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งถ่องแท้แล้ว เราจะพบว่าคำพวกนี้ ล้วนแต่เป็นคำที่สามารถสร้างความ กระทบกระเทือน ให้กับเจ้าของชื่อได้อย่างบาดลึก จึงเป็น การลงโทษ ที่โหดร้ายรุนแรงไม่น้อย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์นำชื่อคนอื่นมาล้อเลียนล้อเล่นแบบนี้ เป็นการแสดงลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสังคมไทย คือการใช้อารมณ์ขัน แต่ที่ควรต้องพิจารณาต่อมาก็คือ อารมณ์ขันที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอารมณ์ขันแบบไหน

อารมณ์ขันแบบดั้งเดิมจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราขบขันกับคนหรือสถานการณ์ที่มีความ เป็นอื่น กับตัวเรา หมายความว่าต้องมี คนอื่น เป็นเดือดเป็นร้อนกับอะไรบางอย่าง เช่น ถูกถาดตีหัว หรืออยู่ในสถานการณ์ยากลำบากบางอย่างที่อาจชวนให้น่าสงสารก็ได้ แต่เราไม่สงสาร เราเลือกที่จะขบขันแทน เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้นให้เปลี่ยนความน่าสงสารไปเป็นความน่าขัน แต่โดยรวมแล้ว เราขันได้ หัวเราะออก ก็เพราะเราไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์นั้นด้วยตัวของเราเอง เราไม่ได้เป็นคนคนนั้น เราไม่ได้เผชิญหน้ากับสิ่งนั้น-เราจึงขำขัน

แต่การขำขันชนิดนี้เป็นการขำขันที่ชอบธรรมไหม-บางทีเราอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเอง

เราสร้าง ความเป็นอื่นให้คนอื่น เพื่อที่เราจะหัวเราะเยาะเขา ล้อเลียนเขา นั่นคือการกระทำชนิดไหน

สำหรับผม อารมณ์ขันแบบนี้-แท้จริงแล้วก็คือความรุนแรงอย่างหนึ่งที่ถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอด้วยลีลาและรูปแบบเดิมๆ

ความรุนแรงแบบนี้ร้ายกาจกว่าการถูกถาดตีหัวอันเป็นความรุนแรงทางตรง และร้ายกาจยิ่งกว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วย นี่คือความรุนแรงที่ฝังลึกอยู่ในอณูเนื้อของเรา เป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ที่เป็นตัวสร้างความชอบธรรมให้กับอารมณ์ขันแบบนี้ของเรา เมื่อซ่อนอยู่ใต้เปลือกของวัฒนธรรม เราจึงมองไม่เห็นว่ามันคือความรุนแรงอย่างหนึ่ง พลอยทำให้เราเชิดชูความรุนแรงนั้นไปด้วยตามกระแสของ เสียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่เพราะคนอื่นก็ทำกันเท่านั้น แต่เพราะมันคือวัฒนธรรมและเนื้อตัวหัวใจของเราไปในเวลาเดียวกันด้วย

-2-

สำหรับผม ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอย่างการนำชื่อคนมาล้อเลียนโดย เสียงส่วนใหญ่ นั้น มีปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ-มันดันไป สอดรับ กับวิธีคิดแบบ ประชาธิปไตยตื้นๆ อย่างสอดคล้องลงตัวเข้าให้น่ะสิครับ

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมี เสียงส่วนใหญ่ มาช่วยกันโหมกระพือให้เกิดขึ้น และ ประชาธิปไตยตื้นๆ ก็มักยึดถือว่า เสียงส่วนใหญ่ คือเสียงสวรรค์ เป็นเสียงของพระเจ้า เป็นประกาศิตที่ต้องทำตาม (จึงมีคนจำนวนมากที่คิดว่า การเลือกตั้ง เพียงอย่างเดียว คือคำตอบสุดท้ายที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้) โดยละเลยสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญข้อที่ว่าด้วย ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือเรื่องของ สิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งอย่างหนึ่งก็คือสิทธิมนุษยชน-ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว เพราะตกอยู่ใต้ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

เมื่อได้ดูที่คุณหมอเหวงเองให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงแรกๆ-ย้ำว่าในช่วงแรกนะครับ เพราะหลังจากนั้นคุณหมออาจให้สัมภาษณ์แบบอื่น (ดู http://blog.noppatjak.com/2010/03/blog-post_31.html) ผมพบว่าเขาไม่โกรธเคืองกับปรากฏการณ์เหวง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะและความใจเย็น ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่เจ้าตัวยอมรับได้นี้ เราคงพูดไม่ได้ว่ามีใครไป ละเมิด คุณหมอเหวง

แต่กระนั้น คุณหมอก็ได้ให้คำอธิบายอย่างหนึ่งที่สะดุดใจผมอย่างยิ่ง นั่นคือ คุณหมอบอกว่าที่ไม่โกรธก็เพราะการที่คนเอาชื่อคุณหมอไปล้อเลียนนั้น ถือเป็น 'สิทธิเสรีภาพ' อย่างหนึ่ง ทั้งยังบอกด้วยว่า "เราอยู่ในโลกนี้เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่"

ตรงนี้ทำให้ผมชักแปลกใจ ที่ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตย มองข้ามหลักการพื้นฐานอย่างอื่นของประชาธิปไตย ไปยอมรับเฉพาะ 'เสียงส่วนใหญ่' ทั้งที่มันกระทบถึงตัวเองโดยตรง แต่ก็อาจเป็นได้ว่า เพราะกระทบถึงตัวเองโดยตรง คุณหมอจึงเลือกที่จะแสดงอาการ ยอมลง ซึ่งเห็นได้ชัดๆว่าเป็นการ ยอมลง ให้กับสิ่งที่เรียกว่า เสียงส่วนใหญ่ โดยนำเอาวลี เสียงส่วนใหญ่ ไปผูกติดกับคำว่า ประชาธิปไตย ทั้งที่จริงๆแล้ว นี่คือการยอมจำนนให้กับ อำนาจทางวัฒนธรรม (ที่มีความรุนแรงฝังอยู่) ที่จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานต่างหาก

นี่คือสิ่งที่ผมนึกกลัวมาโดยตลอด ว่าเอาเข้าจริงแล้ว เราจะเข้าใจคำว่า ประชาธิปไตย กันแค่เรื่องของ เสียงส่วนใหญ่ หรือ การเลือกตั้ง เท่านั้น ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นแค่องค์ประกอบอย่างหนึ่งเท่านั้นของประชาธิปไตย ถ้าเรายึดเฉพาะ เสียงส่วนใหญ่ ว่าเป็นเสียงสวรรค์ เราจะเผชิญปัญหาต่างๆอีกมากมาย เหมือนที่ใครบางคนเคยพูดไว้ว่า ในคนร้อยคน ถ้าเก้าสิบเก้าคนเป็นบ้า คนสติดีหนึ่งคนที่เหลืออยู่ก็จะกลายเป็นบ้าไปในพริบตา-และเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยๆในสังคมไทยเสียด้วย เพราะมันคือเรื่องเชิงวัฒนธรรม

ประชาธิปไตยที่วางอยู่บนวัฒนธรรมที่มีความรุนแรงแฝงฝังอยู่-ย่อมเป็นประชาธิปไตยที่ชอบใช้ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมนั้น และที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ-ผู้ถูกกระทำก็จะยอมรับความรุนแรงนั้นด้วย

เหมือนที่ทุกคำตั้งแต่พิเรนทร์ถึงเหวง-ต่างเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้อย่างราบรื่นในสังคมนี้นั่นเอง

ภาพที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็คือ คุณหมอเหวงต้องยอมรับคำว่าเหวง และคนทั่วแผ่นดินก็นำคำว่าเหวงมาล้อเลียนกันในรูปแบบต่างๆนานามากมาย ตั้งแต่แต่งเพลง พูดเล่นกัน กระทั่งในสภาก็ยังนำมาใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า คนที่ถือว่าเป็นผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตย เข้าใจประชาธิปไตยมากแค่ไหน และผู้คนในประเทศนี้ในระดับต่างๆที่ออกมาเรียกร้องสิ่งต่างๆ (ไม่ใช่แค่ชาวเสื้อแดง แต่รวมถึงชาวเสื้อสีอื่นๆด้วย) ต่างเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยอย่างไรกันหรือ

เรื่องที่ผมว่าน่ากลัวที่สุด ก็คือการที่เราเลือกจะ Simplify และ Modify ประชาธิปไตย ให้มันมาสอดรับกับเงื่อนไขอันจำกัดของวัฒนธรรมไทยโดยขาด วัฒนธรรมการวิพากษ์วัฒนธรรม นี่แหละครับ

เพราะเราอาจเลือกที่จะหล่อเลี้ยงความรุนแรงในวัฒนธรรมไทยอันแสนดีงามเอาไว้ใต้พรมของประชาธิปไตยได้โดยไม่มีใครรู้ตัว

ฉันทมติและความขัดแย้ง

ตั้งแต่เลิกใช้รถยนต์ ผมก็หันไปใช้บริการของรถสาธารณะในซอย ที่เรียกกันว่า รถป๊อกๆ อยู่บ่อยครั้ง

รถที่ว่า เป็นคล้ายๆกับรถกระบะคันเล็กๆ ส่วนใหญ่เป็นรถไดฮัทสุ ที่นำมาดัดแปลง ใส่หลังคากับที่นั่งเข้าไป ทำให้สามารถนั่งได้ถึงหกคนในด้านหลัง และอีกหนึ่งคนทางด้านหน้า (ไม่นับรวมคนขับ)

รถที่ว่า จะวิ่งวนอยู่ในซอยโชคชัยร่วมมิตร ปากซอยด้านหนึ่งเป็นถนนวิภาวดีรังสิต อีกด้านหนึ่งเป็นถนนรัชดาภิเษก ซึ่งมีสถานีรถไฟฟ้าอยู่ด้วย โดยรถจะจอดเข้าคิวกันอยู่ทั้งสองฝั่ง รถที่ว่า เป็นบริการสาธารณะที่ผู้คนใช้บริการกันมาก โดยเฉพาะในช่วงเร่งด่วน จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนเม็ดเลือดแดงขนส่งฮีโมโกลบิน (คือผู้คน) จากที่อยู่ในซอยที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอย ออกไปยังเส้นเลือดใหญ่อย่างถนนวิภาวดีรังสิตหรือถนนรัชดาภิเษก (และรถใต้ดิน)

สมัยก่อน รถป๊อกๆที่ว่า เมื่อจอดอยู่ตรงคิวรถ ถ้ามีคนขึ้นแม้เพียงคนเดียว รถก็จะออก ด้วยความที่ในซอยมีผู้โดยสารรอใช้บริการระหว่างทางเป็นจำนวนพอสมควร หรือแม้แต่ไม่มีผู้โดยสาร ก็คาดว่าค่าโดยสาร 7 บาทนั้น น่าจะคุ้มค่าแก๊ซอยู่พอสมควร เพราะทุกคันทำอย่างนั้นกันหมดเหมือน คล้ายกับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารในซอยรู้สึกดีที่ไม่ต้องรอให้รถเต็มเสียก่อน รถถึงจะออก

บางคนถึงขั้นบอกว่า นี่คือความงดงามอย่างหนึ่ง เป็นลักษณะพิเศษของรถป๊อกๆในซอยโชคชัยร่วมมิตร เป็นการให้บริการที่เข้าใจความรู้สึกของลูกค้าอย่างแท้จริง

แต่กระนั้น ในระยะหลังๆ ปรากฏว่า รถป๊อกๆในคิว โดยเฉพาะคิวตรงถนนรัชดาภิเษก มักจะจอดรอผู้โดยสารที่ขึ้นมาจากรถไฟใต้ดิน ให้ขึ้นรถจนเต็ม 6-7 ที่นั่งเสียก่อน ถึงจะออกรถ

ผมเข้าใจว่า ผู้โดยสารจำนวนมากไม่ได้บ่นว่าอะไรมากนัก ภายในใจอาจรู้สึกอยู่บ้าง แต่ผมไม่เห็นใครแสดงออก ทุกคนอาจ เข้าใจ ก็ได้ ว่าในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ค่ารถ 7 บาท อาจไม่มากพอ และการรอให้คนเต็มรถก็ไม่ได้รอนานมาก

ทั้งหมดจึงฟังดู สมเหตุสมผล ดีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาแง่มุมทางเศรษฐกิจ ที่แม้ไม่เป็น win-win situation เพราะผู้ให้บริการได้ลูกค้ามากขึ้น แต่ผู้รับบริการเสียประโยชน์ แต่การเสียประโยชน์นั้นยังถือว่าไม่มาก เนื่องจากรถแต่ละคันแค่รอคอยผู้โดยสาร 6 คน เท่านั้น ไม่เหมือนรถสองแถวทั่วไปที่ต้องรอผู้โดยสารจำนวนมากก่อนออกรถ ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลานานเกินไป แถมผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังเป็นผู้โดยสารที่กรูกันขึ้นมาจากรถใต้ดิน ซึ่งแต่ละขบวนทิ้งเวลาห่างกันไม่มากนัก ใช้เวลาไม่นานก็เต็มคันรถแล้ว

เอาเข้าจริงแล้ว ผมอดคิดไม่ได้ว่า มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจไม่น้อยทีเดียว ยิ่งถ้าพิจารณาในมิติของสิ่งแวดล้อม ก็อาจถือว่าเป็น win-win situation ได้เสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าเรานับรวมเรื่องการปล่อยคาร์บอนของรถแต่ละคันออกมา การรอให้ผู้โดยสารเต็มรถก็ทำให้เกิดระบบคล้ายๆกับคาร์พูล จึงช่วยลด คาร์บอนฟุตพรินท์ ลงไปได้นิดหน่อย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าทำไม่ใช่หรือ

ทว่าแม้คิดเช่นนั้น ในเวลาเดียวกน ผมก็กลับ รู้สึก ว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไป

สิ่งที่ขาดหายไปไม่ใช่ เหตุผล

แต่คือความงามบางอย่างของชีวิตที่อธิบายออกมาให้ใครฟังไม่ได้ เพราะถ้าอธิบายออกมา ผมเข้าใจว่าอาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งประมาณว่า...ก็เพราะคุณเป็นชนชั้นกลาง (กลวง!) น่ะสิ คุณจึงได้ ‘Romanticize’ แม้กระทั่งรถป๊อกๆ ทำให้เรื่องนี้โรแมนติก เพียงเพื่อประโยชน์เล็กๆน้อยๆของตัวเอง คือเห็นการออกรถแม้มีผู้โดยสารหนึ่งคนว่าเป็นเรื่องน่ารัก เป็นน้ำเนื้อของชีวิต เป็นน้ำจิตน้ำใจ เป็นวัตรปฏิบัติที่ไม่เห็นแก่เงิน ทั้งที่ถ้าคุณรู้จักการแบ่งปันจริงๆ คุณต้องรู้จักรอ เพื่อให้คนขับรถป๊อกๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ถึงได้ทนร้อนมาขับรถป๊อกๆอยู่อย่างนี้, ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นแม้เพียงอีกนิดก็ยังดี

ผมเข้าใจข้อโต้แย้งอย่างนี้ จึงไม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับพวกเขาว่าเพราะอะไรพวกเขาจึงไม่ทำอย่างที่เคยทำ

แล้วผมก็ทำใจ (ตามประสาชนชั้นกลางที่หลงใหลอดีตแบบ Nostalgia) ว่าสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว คงเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว ผมไม่อาจเรียกร้องให้สิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้วหวนคืนกลับมาได้อีก และผมก็จะไม่ก่นด่าปัจจุบันด้วยว่ามันย่ำแย่อย่างนั้นอย่างนี้เหมือนคนแก่ๆจำนวนหนึ่งที่เอาแต่หวนหา Good Old Days ทั้งที่มันอาจไม่ได้ Good อะไรนักหนา แต่อิทธิพลของ Nostalgia ทำให้มันแลดู Good ไปอย่างนั้นเอง

แต่แล้ว...อยู่มาวันหนึ่ง ผมก็ต้องรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมา หัวใจของผมเต้นตูมตามเป็นจังหวะประหลาด เมื่อเดินมาที่คิวรถป๊อกๆในเย็นวันหนึ่ง แล้วเห็นป้ายเล็กๆป้ายหนึ่งติดอยู่ที่กำแพงข้างๆคิวรถ

ผมจำข้อความในป้ายนั้นไม่ได้ถนัดถนี่ แต่ใจความของป้ายนั้นเป็นคล้ายๆอย่างนี้

คิวรถในซอยโชคชัยร่วมมิตรไม่ใช่คิวรถสองแถวที่ต้องรอให้คนเต็มก่อนถึงออก เมื่อก่อน มีผู้โดยสารแค่ 1-3 คน ก็ออกรถกันได้แล้ว แต่ปัจจุบันมีคนเห็นแก่ตัวบางคนมาทำให้เสีย ด้วยการรอให้คนเต็มรถก่อนถึงออก ต่อไปนี้ ถ้ามีคน 1-3 คน ก็ให้ออกรถกันได้แล้ว และห้ามวนรถตัดหน้ากันมารับผู้โดยสารด้วย

ตอนแรกป้ายนั้นไม่มีการลงชื่อ แต่มีคนมาเขียนชื่อและเบอร์โทรห้อยท้ายภายหลัง แรกทีเดียวผมคิดว่าป้ายนี้คงอยู่ได้ไม่นาน น่าจะมีใครมาฉีกมันออก แต่มันก็ยังยืนยงคงอยู่จนกระทั่งถึงเมื่อวานก่อนวันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้

มองเผินๆ เหมือนป้ายนี้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่สำหรับผม เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างนี้กลับสะท้อนถึงเรื่องที่ใหญ่โตมากในบ้านเมืองของเรา

ป้ายนี้บอกอะไรเราบ้าง?

อย่างแรก ผมคิดว่าการที่ป้ายนี้ยังยืนยงคงอยู่มาได้ แปลว่าในป้ายนี้ต้องมี Consensus หรือฉันทมติบางอย่างค้ำจุนอยู่ข้างใน

อย่างที่สอง ผมคิดว่าฉันทมตินี้แสดงให้เห็นเราถึงการต่อสู้ต่อรองของ อำนาจและ วาทกรรมหลายอย่าง หลายระดับชั้น ตั้งแต่วาทกรรมเชิงเศรษฐกิจ วาทกรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (ที่ผมอาจคิดไปเองอยู่คนเดียว) และวาทกรรมเชิงวัฒนธรรม หรือธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งแต่ละวาทกรรมมี อำนาจของตัวเอง ที่ต่างก็ งัดออกมาต่อสู้ต่อรองกัน จนเกิดเป็นฉันทมติที่ว่าขึ้น

สำหรับซอยโชคชัยร่วมมิตร ชัยชนะของป้ายนี้ (ถ้ามันยังอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ก็แปลว่าได้ชัยชนะไปจนกว่าจะถูกปลด) ถือเป็นชัยชนะของเรื่องเชิงวัฒนธรรมที่มีเหนือเรื่องเศรษฐกิจ (ขอยกเรื่องสิ่งแวดล้อมออกไปก่อนก็แล้วกันครับท่านประธาน-เพราะอาจไม่มีใครในซอยคิดเรื่องนี้เหมือนผมก็เป็นได้)

แต่จะเป็นชัยชนะของอะไรเหนืออะไรก็แล้วแต่ ก่อนหน้าที่ป้ายนี้จะปรากฏตัวขึ้น แปลว่ามันต้องผ่านการต่อสู้ต่อรองกันมาระดับหนึ่งแล้ว และผมเดาเอาว่า ต้องผ่านสิ่งที่เราเรียกว่าการ ทะเลาะ หรือ ถกเถียง หรือ ขัดแย้ง กันมาพอสมควร เพราะถ้าไม่ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาก่อน มันไม่น่าจะอยู่ได้ แต่ถ้ามันอยู่ได้ แปลว่าแม้คนที่เห็นขัดแย้ง ในที่สุดเมื่อผ่านกระบวนการทะเลาะแล้วเสร็จ พวกเขาก็ ยินยอม ให้เกิดฉันทมตินี้ขึ้น แม้ดูเหมือนความขัดแย้งนั้นจะกระทบโดยตรงกับเงินในกระเป๋าของตัวเองที่อาจได้น้อยลง (ซึ่งก็ต้องเถียงกันต่อไปว่าน้อยลงจริงไหม เพราะการวนรถบ่อยๆให้เกิด Circulation มากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วอาจได้เงินจากผู้โดยสารเท่าเดิมหรือแม้แต่มากขึ้น แทนที่จะต้องจอดแช่อยู่นานๆเพื่อรอให้คนเต็มรถคันหน้าๆเสียก่อน)

ฉันทมตินี้แสดงให้เห็นว่า ชุมชนนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเชิงวัฒนธรรมและวัตรปฏิบัติมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ (หรือเงิน) ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกใจชื้นขึ้นมาหน่อย ว่าถ้าจะถูกกล่าวหาว่า ความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่ โรแมนติก หรือเพ้อฝัน และไม่ยืนอยู่บน ความจริงของชีวิต คือเรื่องเงินและปากท้อง อย่างน้อยๆผมก็ไม่ได้ยืนอยู่บนจุดยืนอันโรแมนติกเพียงลำพัง (บางคนทำยังกับว่าความโรแมนติกหรือการ Romanticize เป็นเสียดจัญไรยังงั้นแหละครับ!)

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ป้ายนั้นบอกผมว่า สังคมของเรามีความขัดแย้งกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าเราจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น และความขัดแย้งไหนๆก็ไม่อาจหมดไปได้ด้วยการเห็นพ้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ความขัดแย้งเพียงแต่หายไปชั่วคราวเมื่อมันพ่ายแพ้ต่อฉันทมติเท่านั้น แต่มันพร้อมจะกลับมาใหม่เสมอเมื่อการคานกันของอำนาจต่างๆมีการเปลี่ยนสมดุล

คำถามก็คือ เราจะจัดการให้ฉันทมตินั้นเป็นเรื่องที่ยุติธรรม ชอบธรรม และมีสันติธรรมได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเอะอะขัดแย้งกันก็ต้องทะเลาะกันด้วยวิธีที่รุนแรง และคนในซอยโชคชัยร่วมมิตรก็ได้แสดงให้เห็นว่า ฉันทมติสามารถได้มา โดยไม่ต้องทะเลาะกันอย่างรุนแรง (แม้ถ้อยคำจะรุนแรงอยู่บ้าง)

คำถามสำหรับสังคมใหญ่ก็คือ เราเรียนรู้ที่จะทะเลาะกันอย่างสันติได้ไหม และเมื่อทะเลาะกันอย่างสันติเรียบร้อยแล้ว เราเรียนรู้ที่จะยอมรับได้ไหมว่าฉันทมติหนึ่งๆสามารถถูกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ฉันทมติไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกที่จะต้องสถิตย์นิ่งอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ป้ายนั้นอาจไม่ได้อยู่ตรงนั้นตลอดไป วันหนึ่งมันอาจถูกฉีกออก แล้วทุกคนก็อาจได้ร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มเวลาในการเดินทางขึ้นอีกนิดหน่อย

เมื่อโครงสร้างอำนาจเปลี่ยน เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่เราคิดว่าเล็กๆน้อยๆเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

และเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับมัน-ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม