๑๐ เมษายน ๒๕๕๓

ปรากฏการณ์เหวง


-1-

ผมคิดว่าปรากฏการณ์ เหวง ที่นำเอาคำว่า เหวง มาใช้แทนความหมายต่างๆ เช่น พูดจาไม่รู้เรื่อง วกวน น้ำท่วมทุ่ง เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ไม่ได้น่าสนใจเพราะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ แต่น่าสนใจเพราะมันไม่ใช่ปรากฏการณ์ ใหม่ เลยสักนิดเดียว ทว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องยาวนานในสังคมไทย

ตัวอย่างของคำที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ เหวง คือคำที่หยิบเอาชื่อของคนมาใช้แทนความหมายอื่นๆมีอาทิ

-พิเรนทร์ : ตามเรื่องเล่า (ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่น่าจะจริง) มาจากชื่อของพระพระเรนทรเทพ ที่ฝึกคนให้ไปดำน้ำเจาะเรือรบฝรั่งเศส โดยใช้ไม้ค้ำกดไว้ให้ดำน้ำทน จนมีคนตายหลายคน ต่อมาใครทำเรื่องไม่เข้าที ก็ถูกเรียกว่า เล่นพิเรนทร์

-กุ : คำว่ากุ หมายถึงสร้างเรื่องขึ้นมา มาจาก กุหลาบ ตฤษณานนท์ หรือ ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งเป็นปัญญาชนที่แอบคัดลอกหนังสือจากในวังออกมาเผยแพร่เพื่อให้คนทั่วไปได้มีความรู้ แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้ถูกจับได้ จึงปรับเปลี่ยนเนื้อหาและถ้อยคำ ที่สุดก็เลยกลายเป็นคำว่า กุ ที่หมายถึงสร้างเรื่องขึ้นมาหรือโกหก โดยเริ่มจากมีคนเรียกหนังสือของท่านว่าเป็น หนังสือกุ ก่อน

-ถั่วดำ : คำนี้มาจากชื่อคนด้วยเหมือนกัน เป็นเรื่องที่เกิดในสมัย พ.ศ.2478 มีชายคนหนึ่งชื่อเล่นว่าถั่วดำถูกจับกุม เนื่องจากสำเร็จความใคร่กับเด็กชายหลายคนที่พามาพักอยู่ด้วย และบังคับให้เด็กชายเหล่านั้นค้าประเวณี เป็นข่าวโด่งดังจนทำให้เกิดคำว่า อัดถั่วดำ ขึ้นมา

-คำยุคใหม่ๆที่เรารู้ที่มากันดีมีอยูหลายคำ อาทิเช่น ตุ๋ย, สมพงษ์, นาธาน หรือแม้แต่คำที่มาจากเพลงอย่างประเทือง และล่าสุดก็คือคำว่า เหวง

การที่ปรากฏการณ์นี้ ไม่ใหม่ หรือ เกิดขึ้นมานานแล้ว (จนเรา เคยชิน) แสดงให้เราเห็นถึงอะไรบ้าง

อย่างแรกก็คือ คำต่างๆเหล่านี้เกิดมีชีวิตและ ที่ทาง (ในการใช้งานจริง) ในสังคมไทย โดยบางคำอาจเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่มีอยู่หลายคำที่ยืนยงคงกระพันมาจนถึงปัจจุบัน เช่นคำว่าถั่วดำ, ตุ๋ย หรือพิเรนทร์ นั่นแปลว่าคำเหล่านี้ (บางคำ) ไม่ได้เป็นแค่แฟชั่นชั่วครั้งชั่วคราว

อย่างที่สอง คำพวกนี้มีน้อยมากที่มี ความหมายดีๆ อยู่ในตัว เช่นเราอาจเห็นภราดรหรือแทมมี่เล่นเทนนิสเก่งกาจมาก แต่กลับไม่เคยเกิดวลี เธอเล่นเทนนิสได้ภราดร/แทมมี่จังเลย ขึ้นมาในสังคมไทย คำประเภทนี้มักมีแต่ความหมายในแง่ลบที่ถูกหยิบขึ้นมาล้อเลียนกันเท่านั้น (ข้อยกเว้นเท่าที่นึกออกคือคำว่า วัลลี)

คำถามถัดมาก็คือ แล้วคำเหล่านี้ทำ หน้าที่ อะไรในสังคม

คำตอบหนึ่งที่โหดร้ายอย่างยิ่งแต่เป็นจริงพอกันก็คือ-นอกจากทำหน้าที่สร้างความหมายใหม่ให้ภาษาแล้ว การนำคำเหล่านี้มาใช้ยังทำหน้าที่ ลงโทษ บุคคลที่เป็นต้นทางของคำเหล่านั้นไปด้วยในตัว

นายถั่วดำอาจถูกลงโทษตามกฎหมายอาญาไปแล้ว นาธานก็ได้คืนเงินให้แม่บ้านไปแล้ว สมพงษ์ เลือดทหาร ออกมายอมรับผิดแล้ว แต่การลงโทษด้วยถ้อยคำยังคงอยู่ และเป็นไปได้ว่าจะอยู่ต่อไปไม่สิ้นสุด จนบางครั้งอาจหนักหนาว่าโทษที่สมควรได้รับด้วยซ้ำ ทั้งนี้ไม่ใช่ด้วยความ จงใจของสังคม แต่เพราะเมื่อคำคำหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว มันจะมีชีวิตของมันเอง ไม่มีใครไปควบคุมอะไรได้

ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งถ่องแท้แล้ว เราจะพบว่าคำพวกนี้ ล้วนแต่เป็นคำที่สามารถสร้างความ กระทบกระเทือน ให้กับเจ้าของชื่อได้อย่างบาดลึก จึงเป็น การลงโทษ ที่โหดร้ายรุนแรงไม่น้อย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์นำชื่อคนอื่นมาล้อเลียนล้อเล่นแบบนี้ เป็นการแสดงลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสังคมไทย คือการใช้อารมณ์ขัน แต่ที่ควรต้องพิจารณาต่อมาก็คือ อารมณ์ขันที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอารมณ์ขันแบบไหน

อารมณ์ขันแบบดั้งเดิมจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราขบขันกับคนหรือสถานการณ์ที่มีความ เป็นอื่น กับตัวเรา หมายความว่าต้องมี คนอื่น เป็นเดือดเป็นร้อนกับอะไรบางอย่าง เช่น ถูกถาดตีหัว หรืออยู่ในสถานการณ์ยากลำบากบางอย่างที่อาจชวนให้น่าสงสารก็ได้ แต่เราไม่สงสาร เราเลือกที่จะขบขันแทน เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้นให้เปลี่ยนความน่าสงสารไปเป็นความน่าขัน แต่โดยรวมแล้ว เราขันได้ หัวเราะออก ก็เพราะเราไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์นั้นด้วยตัวของเราเอง เราไม่ได้เป็นคนคนนั้น เราไม่ได้เผชิญหน้ากับสิ่งนั้น-เราจึงขำขัน

แต่การขำขันชนิดนี้เป็นการขำขันที่ชอบธรรมไหม-บางทีเราอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเอง

เราสร้าง ความเป็นอื่นให้คนอื่น เพื่อที่เราจะหัวเราะเยาะเขา ล้อเลียนเขา นั่นคือการกระทำชนิดไหน

สำหรับผม อารมณ์ขันแบบนี้-แท้จริงแล้วก็คือความรุนแรงอย่างหนึ่งที่ถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอด้วยลีลาและรูปแบบเดิมๆ

ความรุนแรงแบบนี้ร้ายกาจกว่าการถูกถาดตีหัวอันเป็นความรุนแรงทางตรง และร้ายกาจยิ่งกว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วย นี่คือความรุนแรงที่ฝังลึกอยู่ในอณูเนื้อของเรา เป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ที่เป็นตัวสร้างความชอบธรรมให้กับอารมณ์ขันแบบนี้ของเรา เมื่อซ่อนอยู่ใต้เปลือกของวัฒนธรรม เราจึงมองไม่เห็นว่ามันคือความรุนแรงอย่างหนึ่ง พลอยทำให้เราเชิดชูความรุนแรงนั้นไปด้วยตามกระแสของ เสียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่เพราะคนอื่นก็ทำกันเท่านั้น แต่เพราะมันคือวัฒนธรรมและเนื้อตัวหัวใจของเราไปในเวลาเดียวกันด้วย

-2-

สำหรับผม ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอย่างการนำชื่อคนมาล้อเลียนโดย เสียงส่วนใหญ่ นั้น มีปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ-มันดันไป สอดรับ กับวิธีคิดแบบ ประชาธิปไตยตื้นๆ อย่างสอดคล้องลงตัวเข้าให้น่ะสิครับ

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมี เสียงส่วนใหญ่ มาช่วยกันโหมกระพือให้เกิดขึ้น และ ประชาธิปไตยตื้นๆ ก็มักยึดถือว่า เสียงส่วนใหญ่ คือเสียงสวรรค์ เป็นเสียงของพระเจ้า เป็นประกาศิตที่ต้องทำตาม (จึงมีคนจำนวนมากที่คิดว่า การเลือกตั้ง เพียงอย่างเดียว คือคำตอบสุดท้ายที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้) โดยละเลยสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญข้อที่ว่าด้วย ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือเรื่องของ สิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งอย่างหนึ่งก็คือสิทธิมนุษยชน-ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว เพราะตกอยู่ใต้ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

เมื่อได้ดูที่คุณหมอเหวงเองให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงแรกๆ-ย้ำว่าในช่วงแรกนะครับ เพราะหลังจากนั้นคุณหมออาจให้สัมภาษณ์แบบอื่น (ดู http://blog.noppatjak.com/2010/03/blog-post_31.html) ผมพบว่าเขาไม่โกรธเคืองกับปรากฏการณ์เหวง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะและความใจเย็น ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่เจ้าตัวยอมรับได้นี้ เราคงพูดไม่ได้ว่ามีใครไป ละเมิด คุณหมอเหวง

แต่กระนั้น คุณหมอก็ได้ให้คำอธิบายอย่างหนึ่งที่สะดุดใจผมอย่างยิ่ง นั่นคือ คุณหมอบอกว่าที่ไม่โกรธก็เพราะการที่คนเอาชื่อคุณหมอไปล้อเลียนนั้น ถือเป็น 'สิทธิเสรีภาพ' อย่างหนึ่ง ทั้งยังบอกด้วยว่า "เราอยู่ในโลกนี้เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่"

ตรงนี้ทำให้ผมชักแปลกใจ ที่ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตย มองข้ามหลักการพื้นฐานอย่างอื่นของประชาธิปไตย ไปยอมรับเฉพาะ 'เสียงส่วนใหญ่' ทั้งที่มันกระทบถึงตัวเองโดยตรง แต่ก็อาจเป็นได้ว่า เพราะกระทบถึงตัวเองโดยตรง คุณหมอจึงเลือกที่จะแสดงอาการ ยอมลง ซึ่งเห็นได้ชัดๆว่าเป็นการ ยอมลง ให้กับสิ่งที่เรียกว่า เสียงส่วนใหญ่ โดยนำเอาวลี เสียงส่วนใหญ่ ไปผูกติดกับคำว่า ประชาธิปไตย ทั้งที่จริงๆแล้ว นี่คือการยอมจำนนให้กับ อำนาจทางวัฒนธรรม (ที่มีความรุนแรงฝังอยู่) ที่จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานต่างหาก

นี่คือสิ่งที่ผมนึกกลัวมาโดยตลอด ว่าเอาเข้าจริงแล้ว เราจะเข้าใจคำว่า ประชาธิปไตย กันแค่เรื่องของ เสียงส่วนใหญ่ หรือ การเลือกตั้ง เท่านั้น ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นแค่องค์ประกอบอย่างหนึ่งเท่านั้นของประชาธิปไตย ถ้าเรายึดเฉพาะ เสียงส่วนใหญ่ ว่าเป็นเสียงสวรรค์ เราจะเผชิญปัญหาต่างๆอีกมากมาย เหมือนที่ใครบางคนเคยพูดไว้ว่า ในคนร้อยคน ถ้าเก้าสิบเก้าคนเป็นบ้า คนสติดีหนึ่งคนที่เหลืออยู่ก็จะกลายเป็นบ้าไปในพริบตา-และเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยๆในสังคมไทยเสียด้วย เพราะมันคือเรื่องเชิงวัฒนธรรม

ประชาธิปไตยที่วางอยู่บนวัฒนธรรมที่มีความรุนแรงแฝงฝังอยู่-ย่อมเป็นประชาธิปไตยที่ชอบใช้ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมนั้น และที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ-ผู้ถูกกระทำก็จะยอมรับความรุนแรงนั้นด้วย

เหมือนที่ทุกคำตั้งแต่พิเรนทร์ถึงเหวง-ต่างเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้อย่างราบรื่นในสังคมนี้นั่นเอง

ภาพที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็คือ คุณหมอเหวงต้องยอมรับคำว่าเหวง และคนทั่วแผ่นดินก็นำคำว่าเหวงมาล้อเลียนกันในรูปแบบต่างๆนานามากมาย ตั้งแต่แต่งเพลง พูดเล่นกัน กระทั่งในสภาก็ยังนำมาใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า คนที่ถือว่าเป็นผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตย เข้าใจประชาธิปไตยมากแค่ไหน และผู้คนในประเทศนี้ในระดับต่างๆที่ออกมาเรียกร้องสิ่งต่างๆ (ไม่ใช่แค่ชาวเสื้อแดง แต่รวมถึงชาวเสื้อสีอื่นๆด้วย) ต่างเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยอย่างไรกันหรือ

เรื่องที่ผมว่าน่ากลัวที่สุด ก็คือการที่เราเลือกจะ Simplify และ Modify ประชาธิปไตย ให้มันมาสอดรับกับเงื่อนไขอันจำกัดของวัฒนธรรมไทยโดยขาด วัฒนธรรมการวิพากษ์วัฒนธรรม นี่แหละครับ

เพราะเราอาจเลือกที่จะหล่อเลี้ยงความรุนแรงในวัฒนธรรมไทยอันแสนดีงามเอาไว้ใต้พรมของประชาธิปไตยได้โดยไม่มีใครรู้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น