รถที่ว่า เป็นคล้ายๆกับรถกระบะคันเล็กๆ ส่วนใหญ่เป็นรถไดฮัทสุ ที่นำมาดัดแปลง ใส่หลังคากับที่นั่งเข้าไป ทำให้สามารถนั่งได้ถึงหกคนในด้านหลัง และอีกหนึ่งคนทางด้านหน้า (ไม่นับรวมคนขับ)
รถที่ว่า จะวิ่งวนอยู่ในซอยโชคชัยร่วมมิตร ปากซอยด้านหนึ่งเป็นถนนวิภาวดีรังสิต อีกด้านหนึ่งเป็นถนนรัชดาภิเษก ซึ่งมีสถานีรถไฟฟ้าอยู่ด้วย โดยรถจะจอดเข้าคิวกันอยู่ทั้งสองฝั่ง รถที่ว่า เป็นบริการสาธารณะที่ผู้คนใช้บริการกันมาก โดยเฉพาะในช่วงเร่งด่วน จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนเม็ดเลือดแดงขนส่งฮีโมโกลบิน (คือผู้คน) จากที่อยู่ในซอยที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอย ออกไปยังเส้นเลือดใหญ่อย่างถนนวิภาวดีรังสิตหรือถนนรัชดาภิเษก (และรถใต้ดิน)
สมัยก่อน รถป๊อกๆที่ว่า เมื่อจอดอยู่ตรงคิวรถ ถ้ามีคนขึ้นแม้เพียงคนเดียว รถก็จะออก ด้วยความที่ในซอยมีผู้โดยสารรอใช้บริการระหว่างทางเป็นจำนวนพอสมควร หรือแม้แต่ไม่มีผู้โดยสาร ก็คาดว่าค่าโดยสาร 7 บาทนั้น น่าจะคุ้มค่าแก๊ซอยู่พอสมควร เพราะทุกคันทำอย่างนั้นกันหมดเหมือน คล้ายกับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารในซอยรู้สึกดีที่ไม่ต้องรอให้รถเต็มเสียก่อน รถถึงจะออก
บางคนถึงขั้นบอกว่า นี่คือความงดงามอย่างหนึ่ง เป็นลักษณะพิเศษของรถป๊อกๆในซอยโชคชัยร่วมมิตร เป็นการให้บริการที่เข้าใจความรู้สึกของลูกค้าอย่างแท้จริง
แต่กระนั้น ในระยะหลังๆ ปรากฏว่า รถป๊อกๆในคิว โดยเฉพาะคิวตรงถนนรัชดาภิเษก มักจะจอดรอผู้โดยสารที่ขึ้นมาจากรถไฟใต้ดิน ให้ขึ้นรถจนเต็ม 6-7 ที่นั่งเสียก่อน ถึงจะออกรถ
ผมเข้าใจว่า ผู้โดยสารจำนวนมากไม่ได้บ่นว่าอะไรมากนัก ภายในใจอาจรู้สึกอยู่บ้าง แต่ผมไม่เห็นใครแสดงออก ทุกคนอาจ ‘เข้าใจ’ ก็ได้ ว่าในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ค่ารถ 7 บาท อาจไม่มากพอ และการรอให้คนเต็มรถก็ไม่ได้รอนานมาก
ทั้งหมดจึงฟังดู ‘สมเหตุสมผล’ ดีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาแง่มุมทางเศรษฐกิจ ที่แม้ไม่เป็น win-win situation เพราะผู้ให้บริการได้ลูกค้ามากขึ้น แต่ผู้รับบริการเสียประโยชน์ แต่การเสียประโยชน์นั้นยังถือว่าไม่มาก เนื่องจากรถแต่ละคันแค่รอคอยผู้โดยสาร 6 คน เท่านั้น ไม่เหมือนรถสองแถวทั่วไปที่ต้องรอผู้โดยสารจำนวนมากก่อนออกรถ ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลานานเกินไป แถมผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังเป็นผู้โดยสารที่กรูกันขึ้นมาจากรถใต้ดิน ซึ่งแต่ละขบวนทิ้งเวลาห่างกันไม่มากนัก ใช้เวลาไม่นานก็เต็มคันรถแล้ว
เอาเข้าจริงแล้ว ผมอดคิดไม่ได้ว่า มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจไม่น้อยทีเดียว ยิ่งถ้าพิจารณาในมิติของสิ่งแวดล้อม ก็อาจถือว่าเป็น win-win situation ได้เสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าเรานับรวมเรื่องการปล่อยคาร์บอนของรถแต่ละคันออกมา การรอให้ผู้โดยสารเต็มรถก็ทำให้เกิดระบบคล้ายๆกับคาร์พูล จึงช่วยลด ‘คาร์บอนฟุตพรินท์’ ลงไปได้นิดหน่อย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าทำไม่ใช่หรือ
ทว่าแม้คิดเช่นนั้น ในเวลาเดียวกน ผมก็กลับ ‘รู้สึก’ ว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไป
สิ่งที่ขาดหายไปไม่ใช่ ‘เหตุผล’
แต่คือความงามบางอย่างของชีวิตที่อธิบายออกมาให้ใครฟังไม่ได้ เพราะถ้าอธิบายออกมา ผมเข้าใจว่าอาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งประมาณว่า...ก็เพราะคุณเป็นชนชั้นกลาง (กลวง!) น่ะสิ คุณจึงได้ ‘Romanticize’ แม้กระทั่งรถป๊อกๆ ทำให้เรื่องนี้โรแมนติก เพียงเพื่อประโยชน์เล็กๆน้อยๆของตัวเอง คือเห็นการออกรถแม้มีผู้โดยสารหนึ่งคนว่าเป็นเรื่องน่ารัก เป็นน้ำเนื้อของชีวิต เป็นน้ำจิตน้ำใจ เป็นวัตรปฏิบัติที่ไม่เห็นแก่เงิน ทั้งที่ถ้าคุณรู้จักการแบ่งปันจริงๆ คุณต้องรู้จักรอ เพื่อให้คนขับรถป๊อกๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ถึงได้ทนร้อนมาขับรถป๊อกๆอยู่อย่างนี้, ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นแม้เพียงอีกนิดก็ยังดี
ผมเข้าใจข้อโต้แย้งอย่างนี้ จึงไม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับพวกเขาว่าเพราะอะไรพวกเขาจึงไม่ทำอย่างที่เคยทำ
แล้วผมก็ทำใจ (ตามประสาชนชั้นกลางที่หลงใหลอดีตแบบ Nostalgia) ว่าสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว คงเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว ผมไม่อาจเรียกร้องให้สิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้วหวนคืนกลับมาได้อีก และผมก็จะไม่ก่นด่าปัจจุบันด้วยว่ามันย่ำแย่อย่างนั้นอย่างนี้เหมือนคนแก่ๆจำนวนหนึ่งที่เอาแต่หวนหา Good Old Days ทั้งที่มันอาจไม่ได้ Good อะไรนักหนา แต่อิทธิพลของ Nostalgia ทำให้มันแลดู Good ไปอย่างนั้นเอง
แต่แล้ว...อยู่มาวันหนึ่ง ผมก็ต้องรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมา หัวใจของผมเต้นตูมตามเป็นจังหวะประหลาด เมื่อเดินมาที่คิวรถป๊อกๆในเย็นวันหนึ่ง แล้วเห็นป้ายเล็กๆป้ายหนึ่งติดอยู่ที่กำแพงข้างๆคิวรถ
ผมจำข้อความในป้ายนั้นไม่ได้ถนัดถนี่ แต่ใจความของป้ายนั้นเป็นคล้ายๆอย่างนี้
คิวรถในซอยโชคชัยร่วมมิตรไม่ใช่คิวรถสองแถวที่ต้องรอให้คนเต็มก่อนถึงออก เมื่อก่อน มีผู้โดยสารแค่ 1-3 คน ก็ออกรถกันได้แล้ว แต่ปัจจุบันมีคนเห็นแก่ตัวบางคนมาทำให้เสีย ด้วยการรอให้คนเต็มรถก่อนถึงออก ต่อไปนี้ ถ้ามีคน 1-3 คน ก็ให้ออกรถกันได้แล้ว และห้ามวนรถตัดหน้ากันมารับผู้โดยสารด้วย
ตอนแรกป้ายนั้นไม่มีการลงชื่อ แต่มีคนมาเขียนชื่อและเบอร์โทรห้อยท้ายภายหลัง แรกทีเดียวผมคิดว่าป้ายนี้คงอยู่ได้ไม่นาน น่าจะมีใครมาฉีกมันออก แต่มันก็ยังยืนยงคงอยู่จนกระทั่งถึงเมื่อวานก่อนวันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้
มองเผินๆ เหมือนป้ายนี้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่สำหรับผม เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างนี้กลับสะท้อนถึงเรื่องที่ใหญ่โตมากในบ้านเมืองของเรา
ป้ายนี้บอกอะไรเราบ้าง?
อย่างแรก ผมคิดว่าการที่ป้ายนี้ยังยืนยงคงอยู่มาได้ แปลว่าในป้ายนี้ต้องมี Consensus หรือฉันทมติบางอย่างค้ำจุนอยู่ข้างใน
อย่างที่สอง ผมคิดว่าฉันทมตินี้แสดงให้เห็นเราถึงการต่อสู้ต่อรองของ ‘อำนาจ’ และ ‘วาทกรรม’ หลายอย่าง หลายระดับชั้น ตั้งแต่วาทกรรมเชิงเศรษฐกิจ วาทกรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (ที่ผมอาจคิดไปเองอยู่คนเดียว) และวาทกรรมเชิงวัฒนธรรม หรือธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งแต่ละวาทกรรมมี ‘อำนาจ’ ของตัวเอง ที่ต่างก็ ‘งัด’ ออกมาต่อสู้ต่อรองกัน จนเกิดเป็นฉันทมติที่ว่าขึ้น
สำหรับซอยโชคชัยร่วมมิตร ชัยชนะของป้ายนี้ (ถ้ามันยังอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ก็แปลว่าได้ชัยชนะไปจนกว่าจะถูกปลด) ถือเป็นชัยชนะของเรื่องเชิงวัฒนธรรมที่มีเหนือเรื่องเศรษฐกิจ (ขอยกเรื่องสิ่งแวดล้อมออกไปก่อนก็แล้วกันครับท่านประธาน-เพราะอาจไม่มีใครในซอยคิดเรื่องนี้เหมือนผมก็เป็นได้)
แต่จะเป็นชัยชนะของอะไรเหนืออะไรก็แล้วแต่ ก่อนหน้าที่ป้ายนี้จะปรากฏตัวขึ้น แปลว่ามันต้องผ่านการต่อสู้ต่อรองกันมาระดับหนึ่งแล้ว และผมเดาเอาว่า ต้องผ่านสิ่งที่เราเรียกว่าการ ‘ทะเลาะ’ หรือ ‘ถกเถียง’ หรือ ‘ขัดแย้ง’ กันมาพอสมควร เพราะถ้าไม่ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาก่อน มันไม่น่าจะอยู่ได้ แต่ถ้ามันอยู่ได้ แปลว่าแม้คนที่เห็นขัดแย้ง ในที่สุดเมื่อผ่านกระบวนการทะเลาะแล้วเสร็จ พวกเขาก็ ‘ยินยอม’ ให้เกิดฉันทมตินี้ขึ้น แม้ดูเหมือนความขัดแย้งนั้นจะกระทบโดยตรงกับเงินในกระเป๋าของตัวเองที่อาจได้น้อยลง (ซึ่งก็ต้องเถียงกันต่อไปว่าน้อยลงจริงไหม เพราะการวนรถบ่อยๆให้เกิด Circulation มากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วอาจได้เงินจากผู้โดยสารเท่าเดิมหรือแม้แต่มากขึ้น แทนที่จะต้องจอดแช่อยู่นานๆเพื่อรอให้คนเต็มรถคันหน้าๆเสียก่อน)
ฉันทมตินี้แสดงให้เห็นว่า ชุมชนนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเชิงวัฒนธรรมและวัตรปฏิบัติมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ (หรือเงิน) ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกใจชื้นขึ้นมาหน่อย ว่าถ้าจะถูกกล่าวหาว่า ความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่ ‘โรแมนติก’ หรือเพ้อฝัน และไม่ยืนอยู่บน ‘ความจริงของชีวิต’ คือเรื่องเงินและปากท้อง อย่างน้อยๆผมก็ไม่ได้ยืนอยู่บนจุดยืนอันโรแมนติกเพียงลำพัง (บางคนทำยังกับว่าความโรแมนติกหรือการ Romanticize เป็นเสียดจัญไรยังงั้นแหละครับ!)
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ป้ายนั้นบอกผมว่า สังคมของเรามีความขัดแย้งกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าเราจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น และความขัดแย้งไหนๆก็ไม่อาจหมดไปได้ด้วยการเห็นพ้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ความขัดแย้งเพียงแต่หายไปชั่วคราวเมื่อมันพ่ายแพ้ต่อฉันทมติเท่านั้น แต่มันพร้อมจะกลับมาใหม่เสมอเมื่อการคานกันของอำนาจต่างๆมีการเปลี่ยนสมดุล
คำถามก็คือ เราจะจัดการให้ฉันทมตินั้นเป็นเรื่องที่ยุติธรรม ชอบธรรม และมีสันติธรรมได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเอะอะขัดแย้งกันก็ต้องทะเลาะกันด้วยวิธีที่รุนแรง และคนในซอยโชคชัยร่วมมิตรก็ได้แสดงให้เห็นว่า ฉันทมติสามารถได้มา โดยไม่ต้องทะเลาะกันอย่างรุนแรง (แม้ถ้อยคำจะรุนแรงอยู่บ้าง)
คำถามสำหรับสังคมใหญ่ก็คือ เราเรียนรู้ที่จะทะเลาะกันอย่างสันติได้ไหม และเมื่อทะเลาะกันอย่างสันติเรียบร้อยแล้ว เราเรียนรู้ที่จะยอมรับได้ไหมว่าฉันทมติหนึ่งๆสามารถถูกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ฉันทมติไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกที่จะต้องสถิตย์นิ่งอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ป้ายนั้นอาจไม่ได้อยู่ตรงนั้นตลอดไป วันหนึ่งมันอาจถูกฉีกออก แล้วทุกคนก็อาจได้ร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มเวลาในการเดินทางขึ้นอีกนิดหน่อย
เมื่อโครงสร้างอำนาจเปลี่ยน เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่เราคิดว่าเล็กๆน้อยๆเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
และเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับมัน-ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น