๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๕

ฝนตกที่บ้าน



                ไม่รู้ว่าคุณรักสายฝนไหม แต่ใครบางคนเคยบอกไว้ว่า สายฝนเป็นทั้งสิ่งน่ารักและน่าพรั่นพรึงในเวลาเดียวกัน เขาบอกว่า กลิ่นไอดินอันแสนหอมหวานนั้น นำมาซึ่งความสงสัยว่าในอีกชั่วขณะถัดไป อะไรจะเกิดขึ้นกับโลกเล็กๆของเราได้บ้าง พายุหนัก สายฟ้าฟาด หรือฝนอ่อนหวานที่พรำสายไม่รู้จักหยุดหย่อน
                เวลาฝนตก ใครบางคนชอบซุกตัวอยู่ในเก้าอี้ตัวหนานุ่มริมหน้าต่าง เม็ดฝนที่กระเซ็นมากระทบกระจกชวนให้คิดถึงการหยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาอ่าน แต่หนังสือเล่มไหนๆอาจไม่เหมาะสมกับฤดูฝนมากเท่างานเขียนครุ่นคิดที่มีภาษาแสนงามเหมือนงานของเฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) นักปรัชญาอเมริกันผู้เดียวดาย
                ธอโรเคยพูดถึงสายฝนเอาไว้ว่า

                การเฝ้ามองหยาดหยดใสกระจ่างจากสรวงสวรรค์นั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผมนัก เมื่อมวลเมฆและภูมิอากาศเคลื่อนเข้าปิดฟ้า เราสองก็เคลื่อนเข้าหาและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หมู่เมฆมารวมตัวพร้อมกับลมหายใจสุดท้ายอันเร่งรี่ของสายลม แล้วใบไม้กิ่งไม้ก็ร่วงหล่น เกิดความงามสอดผสานระหว่างความสงบสบายภายในและการเปิดรับโลกภายนอก สายฝนและต้นไม้จะทำหยดฝนร่วงหล่นใส่เมื่อคุณเดินผ่าน ภาพเลือนรางที่มองผ่านม่านฝนออกไปรอบตัวทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองกระจ้อยร่อยลง สิ่งเหล่านี้แหละคือโลกในเขตแดนของผม เขตแดนอันไร้ผู้รบกวน

                คำว่า เราสอง ของธอโร ไม่ได้หมายถึงเขากับใครคนใดคนหนึ่ง ทว่าคือระหว่างเขากับธรรมชาติ สายฝนนั้นสั่นคลอนความแน่นอนมั่นคงบางอย่าง โลกที่เคยสุขสบายของเราเปลี่ยนแปลง มันถูกขัดจังหวะด้วยสายน้ำที่พรมลงมา และเราไม่รู้แน่ ว่าสายฝนนั้นจะช่วยให้ความฝันของเราอ่อนหวานขึ้น หรือมันจะแปลงร่างเป็นฝันร้าย กรรโชกเฉือนเอาชีวิตและสิ่งรายล้อมที่เราคุ้นเคยไปจนหมดสิ้น
                แต่ที่แน่ๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่ฝนตก มนุษย์มักชอบนั่งมองสายฝนอยู่กับตัวเองเหมือนนั่นเป็นธรรมชาติดั้งเดิมบางอย่างของเรา
                นักวิทยาศาสตร์แบ่งสายฝนออกเป็นสามแบบ แบบแรกคือสายฝนอันผ่อนคลาย เรียกว่า Orographic rain นี่คือสายฝนที่เราคนไทยน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด เพราะเป็นฝนที่เกิดขึ้นจากสายลมร้อนและชื้นพัดผ่านเข้ามาในแผ่นดิน ปะทะกับภูเขา แล้วทำให้เกิดฝนตก สายฝนแบบนี้มักทำให้อากาศชื้นจนอิ่มตัว และลมมรสุมที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย ก็มักเป็นสายฝนประเภทนี้
                ฝนอีกแบบหนึ่งเป็นฝนที่เกิดจากความร้อน เรียกว่า Convective Rain ถือเป็นลมฝนหลักของเขตร้อนและเส้นศูนย์สูตร ซึ่งในตอนกลางวันจะมีอากาศร้อนจัด ทำให้น้ำระเหยกลายเป็นไอมาก ฝนแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดตามภูเขา แต่เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ที่อุณหภูมิสูง หลายคนเชื่อว่า ฝนที่ตกในเมืองใหญ่หรือเมืองที่มีอากาศร้อนเพราะการจราจรและคอนกรีต ก็อาจทำให้เกิดฝนแบบนี้ขึ้นได้เช่นกัน
                ฝนแบบสุดท้าย คือฝนที่เกิดจากพายุ ไม่ว่าจะเป็นพายุโซนร้อน พายุไต้ฝุ่น หรือแม้กระทั่งหย่อมความกดอากาศต่ำ ฝนแบบนี้อาจเกิดขึ้นรุนแรงมากน้อยตามความแรงของพายุ ถ้าเป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำ เราอาจพบกับสายฝนพรำที่ไม่รู้จักหยุดหย่อน แต่หากเป็นพายุที่มีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นหายนภัยร้ายกาจสุดคาดคิด
                เมื่อนั่งมองสายฝนอยู่ตามลำพังในบ้านของเราเอง เราอาจต้องทำความรู้จักกับสายฝนให้มากขึ้น ดูว่ามันเป็นสายฝนแบบไหน และเราควรรับมือกับสายฝนนั้นอย่างไร
                ไม่ใช่เพียงสายฝน, แต่ยังหมายรวมถึงสรรพสิ่งอื่นๆในชีวิตด้วย
                และโปรดอย่าลืม-ว่าบางครั้งการมองสายฝนด้วยสายตาแบบไหน...ก็อาจเป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะแม้ชาวกรีกโบราณจะมองว่า สายฝนคือการลงโทษของเทพเจ้า และชาวยุโรปมองว่าฝนเปรียบเสมือนอุปสรรค แต่จอห์น อัพไดค์ นักเขียนอเมริกัน กลับมองฝนด้วยสายตาอีกแบบหนึ่งไว้ว่า สายฝนนั้นสง่างาม มันคือผืนฟ้าที่ร่วงหล่นลงบนโลก ถ้าไม่มีฝน ก็ไม่มีชีวิต
                คุณจะคิดถึงสายฝนแบบไหน บางทีอาจขึ้นอยู่กับเมล็ดพันธุ์แห่งการระลึกรู้ที่คุณได้สั่งสมมาตลอดชีวิต
                และนั่นเอง คือสิ่งที่ก่อให้เกิดสุขหรือทุกข์ขึ้นในหัวใจ...
               

๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๓

ศีลธรรมอันดีของประชาชน

1

ผมชักสงสัยเสียแล้วว่า ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ คืออะไร?

สำหรับผม การสั่งฆ่าหนังเรื่อง Insects in the Backyard ด้วยเรต ห หรือ ไม่อนุญาตให้ฉายในราชอาณาจักร เพราะ ‘มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ถือเป็นเรื่องเศร้ามากพอๆกับที่มีการฆ่าผู้คนบนท้องถนนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเศร้าพอๆกับการฆ่าฟันต้นไม้ใหญ่อายุหลายร้อยปีใจกลางกรุงเทพฯทิ้งโดยไม่คิดว่าได้ฆ่าเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงนิเวศทิ้งลงไปด้วย

พึงสังเกตว่า ทั้งสามเรื่องเป็นสิ่งที่ ถูกกฎหมาย นะครับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธรรมดาหรือกฎหมายพิเศษ

ผมใช้คำว่า สั่งฆ่า กับการแบนหนังเรื่องนี้เพราะผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ มันเหมือนการ ขับไล่ หนังเรื่องนี้และตัวผู้กำกับให้พ้นออกไปจากความเป็นคนไทย การ ไม่อนุญาตให้ฉายในราชอาณาจักร ก็คือการบอกว่า หนังเรื่องนี้ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ใต้ร่มเงาของประเทศอันเป็นราชอาณาจักรแห่งนี้ เหมือนคุณทำผิดคิดร้ายต่อราชอาณาจักรแห่งนี้อย่างรุนแรง จึงไม่สมควรที่จะ Exist อยู่ที่นี่

ตอนได้พบกับธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์-ผู้กำกับหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก เขา (หรือเธอ) ถามผมว่า “ก่อนมานี่ พี่คิดว่าหนูเป็นเสื้อแดงไหมคะ”

ให้ตายเถอะ-บอกตรงๆว่าแอบคิดอย่างนั้นเหมือนกัน ค่าที่หนังที่ได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี ของเธอ (คือเรื่อง I’m Fine สบายดีค่ะ) นั้นเสียดเย้ยความเป็นคนไทยและการเมืองไทยเอาไว้อย่างแสบสันต์ แถมนักแสดงยังใส่เสื้อแดงนั่งอยู่ในกรงอีกต่างหาก

เพราะฉะนั้น เมื่อมีข่าวว่าหนังของเขาถูกแบน (คือได้เรต ห แปลว่า ห้ามฉาย) จึงชวนให้คิดไปไกลว่า ชะรอยหนังจะมีเนื้อหาทางการเมืองรุนแรง มีนัยส่อไปในทางล้มล้างประเทศชาติราชอาณาจักรเสียละกระมัง จึงต้องถึงขั้น สั่งฆ่าอย่าให้มันได้ผุดได้เกิดในประเทศแห่งนี้เลย

แต่แล้วผมก็ต้องหัวเราะขันๆอย่างขื่นๆ เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้จบลง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากผู้กำกับ ให้นำมาดูในโน้ตบุ๊คเป็นการส่วนตัวบนดาวอีกดวงหนึ่งซึ่งผมคิดเอาเองว่าไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรแห่งนี้
ผมดูอย่างตั้งใจจนจบ ที่บอกว่าตั้งใจ ก็คือตั้งใจจะจับผิดหนังเรื่องนี้ว่ามันเลวทรามต่ำช้าตรงไหน สมควรแล้วหรือไม่ที่จะต้องถูก
สั่งฆ่า สมควรแล้วหรือไม่ที่จะห้ามผุดบังเกิดขึ้นมาบนราชอาณาจักรแห่งนี้ ราชอาณาจักรที่ใครๆก็กล่าวขานกันว่าเป็นเมืองพุทธที่เปิดกว้าง มีเมตตาธรรม และยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้ ทำให้เรามีศาสนาหลากหลาย มีคนต่างเชื้อชาติเข้ามาพึ่งพิงราชอาณาจักรแห่งนี้กันเป็นอันมากนับแต่โบราณกาล

เมื่อดูจบ ผมอยากหัวเราะ...และอยากร้องไห้


2

จริงๆแล้ว หนังนอกกระแสในบ้านเราที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่างๆในราชอาณาจักรแห่งนี้อย่างรุนแรงกว่า Insects in the Backyard นั้น มีอยู่ตั้งหลายต่อหลายเรื่อง เพียงแต่ผู้กำกับหนังเหล่านั้นเลือกใช้วิธีการทางศิลปะมาอำพรางสารที่ต้องการสื่อเสียจนคลับคล้ายจะ ดูไม่รู้เรื่อง ทว่าเนื้อหาอันทรงพลังก็แทรกซ่อนเข้ามาสู่ตัวคนดูได้อยู่ดี

Insects in the Backyard อาจเป็นหนังนอกกระแส เป็นหนังอาร์ต แต่ก็ไม่ได้เป็นหนังอาร์ตที่ อาร์ตตัวแม่ เสียจนดูไม่รู้เรื่อง

บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มันถูกสั่งฆ่าก็ได้

เพราะผู้เฒ่าผู้แก่พอจะดูรู้เรื่องว่ามันต้องการจะบอกอะไร แต่ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนอาจไม่มี วุฒิภาวะมากพอจะยอมรับความจริงได้

หนังไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันการเมือง สถาบันกษัตริย์ สถาบันตุลาการ หรือสถาบันอะไรที่สูงส่งเลย หนังเพียงแต่วิพากษ์เรื่องเก่าๆที่ใครๆก็พูดถึงกันมาแล้วเป็นสิบๆปี ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปถามนักเขียนหญิงอย่าง อรุณวดี อรุณมาศ ดูได้ ว่าเธอเขียนหนังสือเรื่อง การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา มานานกี่ปีแล้ว

หนังเรื่องนี้ก็ พูด แบบเดียวกัน!

ถามหน่อยเถอะครับ ว่าสังคมปัจจุบันนี้มันร่าเริงสดใสงดงามเหมือนผีเสื้อยามเช้ากระนั้นหรือ สาบานได้ไหมว่าไม่มีใครเอากันในโรงแรมม่านรูดโดยใส่ชุดนักเรียน เด็กไทยไม่ได้เอากันเหมือนกระต่าย พ่อของบ้านนี้ไม่ได้แต่งหญิงไปเอากับพ่อของบ้านโน้น ไม่มีกะเทยสักคนเดียวที่ใส่ดิลโด้เพื่อกระทำเว็จมรรคกับผู้หญิง และอื่นๆอีกมากมายอันเป็นพฤติกรรมทางเพศที่หลากหลาย

คุณไม่ทำ-ไม่ได้แปลว่าไม่มีคนทำ

คุณไม่ทำ-ไม่ได้แปลว่าจะต้องสวมถุงมือปลอดเชื้อเอื้อมเข้าไปล้วงควักตับไตไส้พุงควบคุมคนอื่นถึงบนเตียงนอน

ที่สำคัญ คนที่ทำ คนที่มีพฤติกรรมทางเพศต่างออกไปจากมาตรฐาน (มาตรฐาน คือต้องทำท่ามิชชันนารีธรรมดาๆระหว่างชายกับหญิงที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ควรต้องแต่งงานกัน มีอายุไม่น้อยไม่มากเกินไป อายุของทั้งสองฝ่ายต้องไม่ห่างกันเกินไป และผู้ชายควรอยู่ข้างบน ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ) ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านั้นจะต้องเป็น คนเลวเสียเมื่อไหร่

แต่เราก็ชอบเอาพฤติกรรมทางเพศของคนอื่นมาตัดสินชีวิตทั้งชีวิตของพวกเขา

อาการ รับไม่ได้ กับความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้ถึงขั้นต้องสั่งฆ่ามันด้วยข้อหา ขัดต่อศีลธรรมอันดี นั้น ไม่ต่างอะไรกับความเป็นเผด็จการในนามของความดี แบบเดียวกับ ตุลาการศาลศาสนา ในสเปนหรือโปรตุเกสใน ยุคแห่งความมืดบอดทางปัญญา ที่ปล่อยให้ศรัทธาในหน้ากากของความดีจอมปลอมมาบังหน้าความเน่าเฟะภายใน


3

ความผิดฉกาจฉกรรจ์ของ Insects in the Backyard ก็คือ มันไม่ได้หน้าไหว้หลังหลอกตามมาตรฐานที่บางคนในราชอาณาจักรแห่งนี้ชอบทำกัน แต่มันบอกเราว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับ สถาบันครอบครัวที่ล่มสลาย

ความจริงแล้ว สำหรับผม เนื้อหาหนังค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมเสียด้วยซ้ำ เพราะในตอนใกล้จบ หนังทำให้เราซาบซึ้งกับสิ่งที่ใกล้เคียงกับสถาบันครอบครัวในบางฉาก แม้หนังไม่ได้บอกว่าปัญหาทั้งหมดสามารถคลี่คลายกลายเป็นจบแบบแฮ็ปปี้เอนดิ้งได้ด้วยสถาบันครอบครัวประดุจมันเป็นกระสุนเงินศักดิ์สิทธิ์นัดเดียวที่ยิงตัดขั้วหัวใจแวมไพร์ได้ก็ตาม

แนวคิดของหนังไม่ได้โลดโผนโจนทะยานท้าทายมาตรฐานศีลธรรมอันดีของสังคมจนถึงขั้นรับไม่ได้ หนังเพียงแต่ ตรงไปตรงมา กับฉากการร่วมเพศที่หลากหลาย ชายกับชาย ชายกับหญิง หญิงกับหญิง หญิงกับกะเทย กะเทยกับผู้ชาย ซึ่งก็คือการพยายามบอกเราว่า เรื่องทางเพศไม่ใช่เรื่อง ทวิลักษณ์ คือไม่ได้มีแต่สองข้างชายหญิง แล้วใครไม่อยากเป็นชายก็ต้องไปเป็นหญิง ใครไม่อยากเป็นหญิงก็ต้องไปเป็นชายเท่านั้น แต่ เพศ มีความหลากหลายมาก กะเทยก็เป็นพ่อได้ ผู้ชายก็มีอะไรกับผู้ชายเหมือนกันได้โดยไม่ต้องเป็นเกย์ ผู้หญิงบางคนก็ไม่ได้ถูกบังคับให้เป็นโสเภณี แต่เธอเป็นเพราะเหตุผลแวดล้อมอื่นบังคับ ฯลฯ

หนังเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า เรื่องราวทางเพศของมนุษย์นั้นซับซ้อน และใครไม่ได้เป็นอย่างที่คนเหล่านั้นเป็นก็อาจเข้าใจพวกเขาได้ยาก ทว่าสถานการณ์เหล่านี้ก็มีอยู่ จริง ในสังคมแห่งนี้ หนังเรื่องนี้คือการยอมรับและบอกออกมาตรงๆว่า สังคมในราชอาณาจักรแห่งนี้มีความหลากหลายทางเพศ และบางที ของจริง ยังอาจ มาก กว่าที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ สังคมนี้มีพ่อที่เป็นกะเทย มีลูกที่ขายตัว มีแม่ที่พาลูกไปขายตัว มีผู้ชายที่แปลงเพศเป็นผู้หญิงแต่อยากมีอะไรกับผู้หญิง มีอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัดที่จินตนาการของคนทั่วๆนึกไม่ถึง และหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอออกมาได้อย่างทรงพลังและดัน ดูรู้เรื่อง จนน่ากำจัดมันทิ้งไปเสียจากราชอาณาจักร

ถ้าหนังเรื่องนี้ทำออกมา อาร์ตตัวแม่ เสียจนคนเฒ่าคนแก่ดูไม่รู้เรื่อง ผมเชื่อว่ามันจะไม่ถูกสั่งฆ่า

เรื่องนี้แหละ ที่น่าหัวร่อ!


4

ธัญญ์วารินบอกผมว่า เธอไม่ได้เป็นชาวเสื้อแดง และจริงๆแล้ว เธอไม่รู้จักศัพท์เทคนิคพื้นๆของชาวเสื้อแดงอย่าง สลิ่ม ด้วยซ้ำไป เธอเพียงแต่มีชีวิตอยู่เพื่อทำในสิ่งที่เธอรัก นั่นก็คือการได้ทำหนัง หนังจึงเหมือน ลูก ที่เธอคลอดออกมาอย่างยากลำบาก เพราะหนังแบบนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่แล้ว เธอต้องทำทุกอย่างเองเพื่อให้หนังเรื่องนี้คลอดออกมา

แต่วิธีคิดแบบเผด็จการนั้นดำเนินมาเป็นแพ็คเกจ ถ้าอาณาจักรหรือราชอาณาจักรแห่งใดมีแนวโน้มเป็นเผด็จการ มันจะสำแดงอาการของเผด็จการออกมาให้เราเห็นในทุกแนวรบ ที่บอกว่าเป็นแนวรบก็เพราะรัฐเผด็จการมักมีแนวโน้มจะเห็นผู้ไม่เชื่อฟังเป็นศัตรูที่ต้องรบรา หรือถึงขึ้นฆ่าฟันกำจัดทิ้งเสียด้วยซ้ำ

แน่นอน เราอาจยังไม่ได้อยู่ในรัฐเผด็จการเต็มรูปแบบ แต่ อาการ ที่ ส่อ ให้เห็นถึงจิตสำนึกแบบเผด็จการที่ต้องการล้วงลึกเพื่อ ควบคุม คนอื่นราวกับคนเหล่านั้นมีสมองของสัตว์ชั้นต่ำจำพวกแอมฟีเบียนเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิเช่น เราไม่อาจดูหนังเรื่อง Insects in the Backyard ได้, ไม่อาจเอาเหล้าใส่กระเช้าของขวัญได้ (แม้จะเอาไวน์ใส่กระเช้าไปให้ expat ชาวฝรั่งเศสที่เห็นว่าไวน์คือวัฒนธรรมประจำชาติที่สำคัญมากพอๆกับรำไทย), ต้องหมกมุ่นกับการสร้างสถาบันครอบครัวแบบสวยงามฉาบหน้า และไม่ควรพูดถึง ความจริง ที่อยู่ข้างหลังหน้ากากต่างๆ

การแบนหนังเรื่องนี้อาจดูเหมือนเรื่องเล็ก ไม่เท่าเรื่องศพที่ตายกลางถนนและต้นไม้ที่ถูกโค่นกลางกรุง แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านี้แหละ คือ สัญญาณบอกถึงจิตสำนึกแบบเผด็จการอำนาจนิยมที่กำลังก่อร่างสร้างรูปขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งในทุกแนวรบ

ศีลธรรมอันดีของประชาชน แท้แล้วจึงไม่ใช่ศีลธรรมอันดีของ ประชาชน แต่เป็น ศีลธรรมอันดี ที่อยากให้ ประชาชน ก้มหัวสมาทานต่างหากเล่า!

๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๓

เรามีสิทธิที่จะขี้เกียจ

October

เรามีสิทธิที่จะขี้เกียจ

ผมติดยาบ้าและไปฟื้นฟู 45 วัน เมื่อตอนอายุ 18 ปี จริงๆผมไม่ได้ตั้งใจจะเสพ แต่ตอนนั้นผมทำงาน 2 ที่ ที่แรกคือบ่ายสามโมงถึงสี่ทุ่ม ที่สองเป็นผับสี่ทุ่มครึ่งถึงตีสอง พอทำได้ประมาณ 2 เดือนเพื่อนร่วมงานเลยบอกลองตัวนี้ดูสิ ผมก็เลยลองดูด้วยความที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์

"พอลองเสพไปได้ประมาณ 2 ครั้ง อีกประมาณ 5 วันทางเจ้าของผับแจ้งพนักงานว่า พรุ่งนี้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจฉี่ เพื่อหาสารเสพติด ผมก็ยอมให้ตรวจเพราะไม่รู้ว่าจะผิดมากขนาดนั้น

แจ๊ค-อาทิตย์ กุลฝ้าย

ลูกชายของแม่บ้านเต็ม-สมาน สุขเสริม คู่กรณีของนาธาน โอมาน

เรามักจะโทษว่า ยาบ้าเป็นปัญหาของสังคมไทย เราโยนความผิดให้กับมัน และโยนความผิดให้กับคนเสพยาบ้าว่าเป็นคนชั่วร้าย ทำลายสังคม

แต่เราเคยมองดู ต้นเหตุ ของปัญหานี้ไหม?

อาทิตย์ กุลฝ้าย ถูกกล่าวหาว่าเคยติดคุก เขาจึงต้องออกมาป้องกันตัวด้วยการ อธิบาย ให้สังคมฟังว่าไม่ได้ติดคุก แต่เคยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมาก่อนเท่านั้น โชคดีที่ในสายตาของสังคม-เขาอยู่ในฝ่ายผู้ถูกกระทำจากกรณีขัดแย้ง นาธาน-แม่บ้านเต็ม เขาจึงเป็นคนที่ สะอาด ในสายตาของสังคมไทย

แต่เราเคยตั้งคำถามไหมว่า คนอย่างนี้อยู่มากมายแค่ไหน...ในสังคมของเรา

เปล่า-ผมไม่ได้หมายถึงคนที่เสพยาบ้าหรือคนที่ถูกโกง แต่ผมกำลังหมายถึงคนที่หา ทางเลือก ของชีวิตไม่ได้ เกิดมาบนแผ่นดินไทย [ที่ใครๆก็เป่าหูกล่อมเกลากันว่าแสนจะดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเราแสนอุดมสมบูรณ์] เกิดมาในสังคมไทย [ที่ใครๆก็เป่าหูกล่อมเกลากันว่า เป็นสังคมที่แสนดี มีความเป็นพี่น้อง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจบุญสุนทาน เป็นเมืองพุทธ] โดยไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองติดปาก แล้วให้บังเอิญผุดบังเกิดขึ้นมาในกลุ่มคนระดับล่างของฐานเศรษฐกิจ,

พวกเขาจะทำอะไรได้

พวกเขาพอมี ทางเลือก อะไรให้กับชีวิตบ้าง?

คำตอบที่สังคมไทยให้ก็คือ...จงขยันทำงาน หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อาบเหงื่อต่างน้ำ ลำบากก่อนค่อยสบายเมื่อปลายมือ แปลความได้ว่า จงทำงาน-จงทำงาน-และจงทำงาน

การทำงานคล้ายจะเป็นคำตอบสุดท้ายและคำตอบเดียวของสังคมที่บ้าคลั่งตัวเลข GDP แต่เอาเข้าจริง การทำงานไม่ใช่แค่คำตอบของสังคมบ้าตัวเลขเท่านั้น ทว่าการ ขยันทำงาน ยังตอบสนองต่ออุดมการณ์ที่แต่ละสังคมเชิดชูบูชาอีกมาก เช่น จริยธรรม (ทั้งแบบขงจื๊อ แบบพุทธไทย แบบวาติกัน และแบบอื่นๆ), ทุนนิยม, บริโภคนิยม, ประชาธิปไตย, สังคมนิยม, อียิปต์ยุคโมเสส, เสรีนิยม, มาร์กซิสม์, กษัตริย์นิยม ฯลฯ

พูดง่ายๆได้ว่า การ ขยันทำงาน คือสิ่งที่สอดรับกับทุกอุดมการณ์หลัก ไม่ว่าอุดมการณ์พวกนั้นจะขัดแย้งกันแค่ไหน เมื่อพูดถึงการขยันทำงาน เราจึงพร้อมใจสร้างโครงสร้างสังคม (และแม้แต่ โครงสร้างจริยธรรม ซึ่งเราจะพูดถึงกันต่อไป) ที่บังคับกดขี่ให้ คน ต้องตกเป็น ทาส ของความขยัน

ยิ่งคนที่ผุดบังเกิดมาอยู่ในโครงสร้างชั้นล่างของสังคมอย่างอาทิตย์ (และคนอื่นๆที่สามารถลงไปอยู่ในโครงสร้างชั้นล่างได้มากกว่านี้) ก็ยิ่งต้องหาทางปลดแอกเอาตัวรอดออกไปให้พ้นสภาวะชีวิตที่เป็นอยู่ ด้วยการทำงาน-ทำงาน และทำงาน

แต่เมื่อการทำงานนั้นหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะรับไหว เขาก็ต้องหาตัวช่วย ด้วยการกินยาบ้าเพื่อให้มีเรี่ยวแรง

ผมจึงคิดว่า นี่คือโศกนาฏกรรมที่น่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง กับการทำแค่ จับ ผู้ที่เสพยาบ้าไปเข้าคุกบ้าง ไปเข้าสถานฟื้นฟูบ้าง แล้วก็ ประทับตรา ให้คนเหล่านี้เหมือนประทับตราปศุสัตว์ที่จะต้องถูกนำไปฆ่าในวันรุ่งขึ้นว่าเป็นคนเลวของสังคม ทั้งที่การกินยาบ้า ก็คือการ ตอบสนอง ต่ออุดมการณ์ จงทำงาน ของเรา

เราลงโทษพวกเขาอย่างกระเหี้ยนกระหือรือ รุมล้อมประชาทัณฑ์ ประณาม โดยใช้วาทกรรมเมืองไทยแสนดีย้อมสีประเทศไทย บอกว่าเมืองไทยอันเป็นเมืองที่มีความเป็นพี่เป็นน้องและแสนอุดมสมบูรณ์นี้ ไม่พึงมีคนเสพยามาแปดเปื้อน เพราะรังแต่จะสร้างปัญหาให้

เราสร้างกระบวนการทำให้คนติดยาบ้า กลายเป็นอื่น จากสังคม จนคนเหล่านี้แทบไม่เหลือความเป็นมนุษย์ แต่เราไม่ได้ย้อนกลับมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ ว่าอะไรคือต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้

และเราแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งในปัญหาของผู้อื่นด้วยไหม

เมื่อเราสมาทานตัวเองเข้ากับอุดมการณ์หลักของสังคม จึงเกิดผลเป็นการ บังคับ ให้คนอื่น (และตัวเอง) ต้อง ทำงาน โดยผ่านการบีบคั้นเชิงโครงสร้าง เราจึงไม่มีทางเลือก ไม่รู้ตัว และมักปรารถนาการทำงานหนักวันต่อวัน หาเวลาหยุดพักไม่ได้ สรรเสริญการทำงานหนัก จนแม้เมื่อตัวรุมป่วยไข้ก็ยังแข็งใจทำงาน เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นคนขยัน ยิ่งทำงาน (ที่ตัวเองไม่รัก) จนมันหล่อหลอมเข้าเป็นตัวตนกระทั่งหันไปทำอย่างอื่นไม่ได้ไม่เป็น-ไปจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ก็ยิ่งได้รับคำยกย่อง

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ความขยันคืออะไร ความขี้เกียจคืออะไร มันเป็นอย่างที่เราเห็นจริงๆหรือ

และเรามีสิทธิที่จะ ขี้เกียจ อย่างชอบธรรมได้บ้างไหม?

ความน่ารังเกียจของความขี้เกียจ

เบอร์ทรันด์ รัสเซล ขึ้นต้นบทความ In Praise of Idleness ของเขาไว้ว่า

Like most of my generation, I was brought up on the saying : 'Satan finds some mischief for idle hands to do.'

เช่นเดียวกับคนรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่ ผมเติบโตขึ้นมากับคำกล่าวที่ว่า ซาตานจะแสวงหาความชั่วร้ายให้มือที่เกียจคร้านทำ

ประโยคนี้ของรัสเซล แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนาคริสต์ที่ว่าความเกียจคร้านเป็นเรื่องเลวร้าย มันเลวร้ายขนาดได้ตำแหน่งแห่งหนเป็นหนึ่งในเจ็ดของ บาปต้นเจ็ดประการ เลยทีเดียว

บาปต้นนั้นมีตั้งแต่ จองหอง (Pride), โลภ (Avarice หรือ Greed), ริษยา (Envy), โมโห (Wrath หรือ Anger), ตัณหา (Lust), ตะกละ (Gluttony) และสุดท้ายก็คือ เกียจคร้าน (Sloth หรือ Acedia) ซึ่งถ้ามองเผินๆ ก็น่าจะเห็นว่า บาปต้นเหล่านี้เป็นสิ่งร้ายกาจไม่ควรประพฤติปฏิบัติจริงๆ

เช่นเดียวกับในศาสนาพุทธ ถ้ามองอย่างผิวเผิน ความขี้เกียจถือเป็นของไม่ดี พระบางรูปเทศน์ว่า ในบรรดาอุปสรรคของความเจริญทั้งหมดนั้น ความเกียจคร้านเป็นลูกตุ้มที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าในทุกรูปแบบ และเมื่อพูดถึงความเกียจคร้าน ก็มักยก กุสีตวัตถุสูตร ขึ้นมากล่าวถึงอยู่เสมอ

พระสูตรดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุสีตวัตถุ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องทำการงาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักต้องทำการงาน ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ กายจักลำบาก ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๑ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำการงานแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราแลทำการงานแล้ว ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ กายลำบากแล้ว ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๒ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุต้องเดินทาง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักต้องเดินทาง ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ กายจักลำบาก ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสียไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงทางที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุทางที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งทางที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๓ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเดินทางแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้เดินทางแล้ว ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ กายลำบากแล้ว ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงทางที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุทางที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งทางที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๔ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวเดินบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ กายของเรานั้นลำบากแล้ว ไม่ควรแก่การงาน ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๕ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีต พอแก่ความต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีต พอแก่ความต้องการแล้ว กายของเรานั้นหนัก ไม่ควรแก่การงาน เหมือนถั่วชุ่มด้วยน้ำ ผิฉะนั้นเราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๖ ฯ

อีกประการหนึ่ง อาพาธเล็กน้อยเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า อาพาธเล็กน้อยนี้เกิดแก่เราแล้ว มีข้ออ้างเพื่อจะนอน ผิฉะนั้นเราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๗ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นาน กายของเรายังอ่อนเพลีย ไม่ควรแก่การงาน ผิฉะนั้นเราจักนอนเสียก่อน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงการงานที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุการงานที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งการงานที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๘ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุสีตวัตถุ ๘ ประการนี้แล ฯ

นอกจากศาสนาแล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยาอย่าง Dr. Nando Pelusi ได้เขียนงานอย่าง The Lure of Laziness กล่าวถึง ความเกียจคร้าน เอาไว้ว่าเป็นสัญชาตญาณเก่าแก่ที่ตกทอดอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ เขาอธิบายว่า ในสมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์ต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีเวลาหยุดคิด เช่น ต้องหนีภัย ต้องล่าสัตว์ และอาหารก็เป็นสิ่งที่หายาก ดังนั้น การ อยู่เฉยๆ จึงเป็นสัญชาตญาณที่เกิดขึ้นเพื่อสงวนรักษาพลังงานไว้กับร่างกาย มนุษย์สืบทอดสัญชาตญาณนี้มากับพันธุกรรม แม้เมื่ออยู่ในสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนขึ้น และใช้อธิบายได้ว่า ทำไมคนเราจึงมีแนวโน้มจะขี้เกียจมากกว่าลุกขึ้นขยันทำงานทำการ

วิธีคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า ดูจะสอดคล้องกับวิธีคิดของระบอบการปกครองในยุคปัจจุบันอยู่ไม่น้อย เพราะระบอบการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมทุกวันนี้ต่างมีศูนย์กลางอยู่ที่เรื่องของ ทุน อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ และ การทำงาน ก็เป็นที่มาของการสงวนรักษาและเพิ่มพูน ทุน ดังนั้น คำอธิบายของวิทยาศาสตร์จึงถูกนำมาใช้เป็นฐานอันชอบธรรมเพื่อ กำจัด ความขี้เกียจออกไป ด้วยข้อหาว่ามันคือสิ่งตกค้างทางพันธุกรรมจากยุคดึกดำบรรพ์ ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยปากกัดตีนถีบนี้

อย่างไรก็ตาม เจเรมี เบนแธม เคยเขียนไว้ใน An Introduction to the Principles of Morals and Legislation ว่าธรรมชาติได้วางมนุษย์ไว้ใต้การปกครองของสิ่งสำคัญสองสิ่ง นั่นก็คือ Pain กับ Pleasure เขาบอกว่าสองอย่างนี้ถ่วงกันและกันอยู่เสมอ แต่โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์จะเป็นพวกแสวงหา Pleasure หรือความสุขสำราญ ดูเหมือนว่า จอห์น ล็อค ก็เห็นด้วย เพราะเขาเคยพูดไว้ทำนองว่า ตัว งาน เองนั้น คือสิ่งที่ขัดกับ ธรรมชาติ ของมนุษย์อย่างยิ่ง แต่เมื่อมนุษย์มีความต้องการจะ สุขสบาย พวกเขากลับต้องแสวงหาความสุขสบายนั้นจากงาน ซึ่งถือว่าเป็น Pain อย่างหนึ่งของชีวิต

เราจึงแสวงหา Pleasure ผ่านทาง Pain อยู่เสมอ และนั่นเป็นปัญหาใหญ่ของเรา เพราะมันกลายเป็นข้อแย้งแบบเขาควาย (Dilemma) ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราเสมอมา

เรายอมทุกข์ทนทำงาน ด้วยหวังว่างานจะทำให้เรามีความสุขสำราญในบั้นปลาย หลายครั้ง งานจึงเป็นสิ่งที่ แปลกแยก จากตัวเรา ไม่ผสมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ คาร์ล มาร์กซ์ เคยมองเห็นและเขียนถึงไว้ตั้งแต่ในยุคของเขาแล้ว แต่สำหรับมาร์กซ์ เขามองว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับชนชั้นแรงงานเท่านั้น ไม่เหมือนในปัจจุบันที่สิ่งนี้ลามระบาดเกิดขึ้นกับทุกชนชั้น ตั้งแต่ชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง และแม้แต่ชนชั้นสูงฐานะดีที่ถูกขนานนามว่าเป็น ไฮโซ บ้าง เซเล็บ บ้าง รวมไปถึงกลุ่มที่ถูกนักการตลาดขนานนามต่างๆนานาให้ เช่น เจนเนอเรชั่นซี (หมายถึง Generation Content หรือ Generation Creative) คนกลุ่มบีบวก เอบวก ซึ่งมีภาพเป็น คนรุ่นใหม่ ฯลฯ

คนส่วนใหญ่ทำงาน และเห็นว่างานคือสิ่งที่สร้าง Pain ให้กับตัวเอง แต่ยอมทำก็เพราะคิดว่ามันจะนำ Pleasure มาให้ในภายหลังโดยไม่เคยได้อ่านเรื่องสั้น The Tale of Fisherman and the Tourist ของ ไฮน์ริช เบิล นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเยอรมันมาก่อน (เราจะพูดถึงเรื่องสั้นเรื่องนี้กันต่อไป)

สำหรับมาร์กซ์ เขาเห็นว่าการทำงานนั้นอาจเป็นเรื่องที่แปลกแยกกับมนุษย์ได้ ถ้าหากว่าสิ่งที่มนุษย์ผลิตนั้นแยกขาดและเป็นปรปักษ์หรือ เป็นอื่น กับผู้ผลิตงาน (เช่น กรรมกรผลิตสินค้าหรูหราที่ตัวเองไม่เคยได้ใช้) และการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ถูกบังคับจากภายนอก ไม่ได้เกิดจากภายในเอง แต่กระนั้น มาร์กซ์ก็ยังเชื่อในเรื่องของการผลิต เขาคิดว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นแค่ผู้แสวงหาความสุขสำราญในฐานะ ผู้บริโภค ที่เป็น ผู้รับ (Passive) แต่เพียงอย่างเดียว ทว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ Active, Productive และ Creative ด้วย พูดสั้นๆก็คือ มนุษย์ไม่ได้เป็นแค่ Consumers แต่ยังเป็น Producers ด้วยในเวลาเดียวกัน เพียงแต่จะทำอย่างไรให้เราเป็น Producer ที่ไม่เกิดอาการแปลกแยกกับสิ่งที่เราผลิตเท่านั้น

ผมคิดว่า ถ้ายกเรื่องชนชั้นออกไป เราจะเห็นว่า แนวคิดของมาร์กซ์ในเรื่องนี้กลับสอดรับกับอุดมการณ์หลักอื่นๆในข้อที่ว่าด้วยการทำงานได้ไม่น้อย

นั่นคือความคิดที่ว่า-งานเป็นคำตอบ!

เรือนร่างของความขี้เกียจ

จากมุมมองด้านศาสนา, ระบอบการปกครอง และแม้แต่วิทยาศาสตร์ ดูเผินๆเหมือน ความขี้เกียจ จะเป็นของไม่ดีไปเสียทั้งหมด

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้นเล่า

ที่จริงแล้ว เรือนร่าง ของความขี้เกียจไม่ได้มีอยู่แบบเดียว บางเรือนร่างเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นความขี้เกียจเต็มตัว แต่บางเรือนร่าง ความขี้เกียจก็ถึงขั้นซุกซ่อนอยู่ในหน้าตาของความขยันด้วยซ้ำ แต่เรา-มนุษย์, มักจะมองว่า ความขี้เกียจมีอยู่เรือนร่างเดียว ไม่มีความหลากหลายในความขี้เกียจ ความขี้เกียจเดียวที่เรารู้จักและคุ้นเคยดีก็คือความ ขี้เกียจทำงานเท่านั้น เราไม่เรียกความขี้เกียจนอน ขี้เกียจพักผ่อน ขี้เกียจปล่อยตัวปล่อยใจ หรือ ขี้เกียจขี้เกียจ ว่าเป็นความขี้เกียจ ดังนั้น ในเชิงจริยธรรม ความเกียจคร้านที่เราเห็นว่าเป็นบาปผิด และเป็นอุปสรรคต่อ ความเจริญก้าวหน้า ทุกรูปแบบ จึงคล้ายมีอยู่ความเกียจคร้านเดียว

นั่นคือความเกียจคร้านที่จะทำงาน

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป โดยเฉพาะในแง่มุมที่ลึกซึ้งทางศาสนา ความขี้เกียจแบบที่ว่า กลับเป็นแค่ความขี้เกียจผิวเผินที่กำจัดให้หายไปได้ไม่ยาก ทั้งยังเป็นเพียงความขี้เกียจทางจริยธรรม ซึ่งเป็นธรรมะขั้นพื้นฐานเท่านั้น ยังมีมุมมองว่าด้วยความเกียจคร้านอื่นๆอีกหลายมุมมอง

ในศาสนาคริสต์ แม้ความเกียจคร้านจะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในบาปต้นเจ็ดประการ แต่ถ้าพิจารณาคำว่า Sloth หรือ Acedia ที่เป็นรากศัพท์แล้ว คำว่า Sloth นั้นมีสองความหมาย อย่างหนึ่งก็คือการไม่กระตือรือร้นทั้งทางกายและทางอารมณ์ แต่อีกนิยามหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือเป็นความเฉยเมยเซื่องซึมทางจิตวิญญาณ เป็นการ เพิกเฉย ต่อสิ่งที่พระเจ้าตรัส ขณะที่ Acedia เป็นศัพท์ละติน มาจากภาษากรีกว่า ἁκηδείᾱ แปลว่า Carelessness หรือความไม่ระมัดระวัง ความประมาท ความเลินเล่อ โดยมักใช้กับความหมายทางจิตวิญญาณ (แต่เมื่อสืบทอดมาอยู่ในภาษาอังกฤษแล้ว Acedia กลับมีความหมายคล้ายความหมายแรกของ Sloth คือไม่กระตือรือร้นทางอารมณ์)

ความหมายแรกของ Sloth ค่อนข้างตรงกับความ ขี้เกียจทำงาน ที่เราคุ้นเคย เพราะนำไปสู่การละเลยไม่ดูแลการงานของตัวเองให้ดี จะเรียกว่าเป็น ความเกียจคร้านภายนอก ก็ได้ แต่ถ้าพิจารณานิยามที่สองของ Sloth เราจะเห็นว่า ความเกียจคร้านแบบนี้ลึกซึ้งกว่าแบบแรก เพราะมันคือ ความเกียจคร้านภายในเป็นความเกียจคร้านทางจิตวิญญาณซึ่งน่าจะเป็นแบบเดียวกับ Acedia ในภาษาละติน

ที่น่าสนใจก็คือ ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เวลาพูดถึงความเกียจคร้าน เรามัก เห็น แต่ภาพของความเกียจคร้านภายนอก และเลือกที่จะตำหนิความเกียจคร้านภายนอกเท่านั้น

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าเราเห็นใคร ไม่ทำอะไร เราก็มักจะตำหนิตีขลุมไปทันที-ว่าคนคนนั้นกำลังขี้เกียจ

แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า ภายใน ของคนคนนั้นกำลัง ทำงาน อยู่อย่างขะมักเขม้นหรือไม่

ถ้าคิดแบบนี้ เราจะสามารถมอง กุสีตวัตถุสูตรได้ด้วยสายตาที่ต่างออกไป เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมออกจะเชื่ออยู่ว่า พระพุทธเจ้าท่านคงไม่มองเฉพาะ ความเกียจคร้านภายนอก เท่านั้น และถ้าดูพระสูตรนี้อย่างลึกซึ้ง เราจะเห็นว่าพระองค์ไม่ได้ตำหนิภาพของ การไม่ทำอะไร ที่เราเห็นอยู่ภายนอก (ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าเป็นความขี้เกียจ และหลายคนคิดว่า พระสูตรนี้ใช้กำกับภิกษุที่เกียจคร้านทั้งหมด) แต่พระองค์กำลังตำหนิ การนอน โดยไม่สมควรต่างหาก

เพราะที่แท้แล้ว การนอน ก็คือการ ทำอะไร บางอย่าง ไม่ใช่ การรู้ตัวแต่ไม่ทำอะไรเลย-แม้แต่คิด อันเป็นความหมายหนึ่งของการปฏิบัติธรรมนั่นเอง!

พระเยซูก็คลับคล้ายกัน แม้ศาสนาคริสต์จะพูดถึงความเกียจคร้านในฐานะหนึ่งในบาปต้นเจ็ดประการ แต่ในบทเทศน์บนภูเขา หรือ Sermon on The Mountain พระเยซูได้เทศนาถึง การไม่ทำอะไร(ที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Idleness) เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

จงดูนกในอากาศ มันมิได้หว่าน มิได้เกี่ยว มิได้สะสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านทั้งหลายผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงนกไว้ ท่านทั้งหลายมิประเสริฐกว่านกหรือ มีใครในพวกท่าน โดยความกระวนกระวาย อาจต่อความสูงให้ยาวออกไปอีกสักศอกหนึ่งได้หรือ

ท่านกระวนกระวายถึงเครื่องนุ่งห่มทำไม จงพิจารณาดอกไม้ที่ทุ่งนาว่า มันงอกงามเจริญขึ้นได้อย่างไร มันไม่ทำงาน มันไม่ปั่นด้าย และเราบอกท่านทั้งหลายว่า ซาโลมอนเมื่อบริบูรณ์ด้วยสง่าราศีของท่าน ก็มิได้ทรงเครื่องงามเท่าดอกไม้นี้ดอกหนึ่ง เหตุฉะนั้น ถ้าพระเจ้าทรงตกแต่งหญ้าที่ทุ่งนาอย่างนั้น ซึ่งเป็นอยู่วันนี้และรุ่งขึ้นต้องทิ้งในเตาไฟ โอ ผู้มีความเชื่อน้อย พระองค์จะไม่ทรงตกแต่งท่านมากยิ่งกว่านั้นหรือ เหตุฉะนั้น อย่ากระวนกระวายว่า เราจะเอาอะไรกิน หรือจะเอาอะไรดื่ม หรือจะเอาอะไรนุ่งห่ม (เพราะว่าพวกต่างชาติแสวงหาสิ่งของทั้งปวงนี้) แต่ว่าพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่า ท่านต้องการสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาอาณาจักรของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้แก่ท่าน เหตุฉะนั้น อย่ากระวนกระวายถึงพรุ่งนี้ เพราะว่าพรุ่งนี้ก็จะมีการกระวนกระวายสำหรับพรุ่งนี้เอง แต่ละวันก็มีทุกข์พออยู่แล้ว (มัทธิว 6 : 26-34)

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่า พระองค์กำลังบอกทุกคนว่าอย่าทำมาหากิน แต่พระองค์กำลังกล่าวถึงสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก พรุ่งนี้ก็จะมีการกระวนกระวายสำหรับพรุ่งนี้เอง แต่ละวันก็มีทุกข์พออยู่แล้ว นั่นคือพระองค์กำลังบอกเราให้อยู่กับปัจจุบันขณะโดยไม่ต้องหมกหมุ่นกับการทำมาหากินเพื่อสั่งสม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นเนื้อหาสาระเดียวกับ การทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ของท่านพุทธทาสนั่นเอง

ในพุทธทิเบต ความขี้เกียจมีนิยามที่น่าสนใจ นั่นคือการยึดติดอยู่กับ Pleasure หรือความสุขสำราญชั่วคราว โซเกียล รินโปเช พูดถึง ความขี้เกียจ เอาไว้หลายรูปแบบ ท่านบอกว่า ถ้าเป็นความขี้เกียจแบบตะวันออก ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดีย นั่นคือการออกไปอยู่ในแสงตะวันทั้งวี่วัน ไม่ทำอะไร หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นการทำงานหรือการทำประโยชน์ แต่ถ้าเป็นความขี้เกียจแบบตะวันตก กลับคือการเอาตัวเองไปผูกพันอยู่กับกิจกรรมต่างๆมากมายหลายหลาก พูดง่ายๆก็คือทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ เพื่อไม่ให้เรามีเวลาเผชิญหน้ากับ ประเด็นที่แท้จริงของชีวิต

ทะไลลามะองค์ปัจจุบันก็เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับความขี้เกียจไว้ว่า ความขี้เกียจนั้นปรากฏขึ้นได้ในหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดล้วนมีผลให้เกิดการผัดวันประกันพรุ่ง ความขี้เกียจอย่างหนึ่งก็คือการหันเหจากสติไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คิดว่าเป็น งาน อย่างเช่นการเย็บผ้า หรือการดูเส้นทางขับรถจากที่แห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือการเบี่ยงเบนความสนใจไป คิด ถึงกิจกรรมที่ไม่มีคุณค่าทางธรรม อย่างเช่นคิดว่าจะจองเวรศัตรูอย่างไร อีกประเภทหนึ่งก็คือความรู้สึกอ่อนด้อย อ่อนล้า คิดว่าตัวเองไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้

เราจะเห็นได้ว่า ถ้ามองความขี้เกียจอย่างลึกซึ้งแล้ว เรือนร่างของความขี้เกียจไม่ได้มีอยู่เรือนร่างเดียว คือการขี้เกียจทำงาน แต่ความขี้เกียจอาจปรากฎตัวให้เห็นได้แม้ด้วยใบหน้าของความขยัน ทำให้เกิดเป็น ความขี้เกียจด้านกลับ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความขยัน ที่แท้คือความขี้เกียจแบบชาวตะวันตกในความเห็นของท่านโซเกียล รินโปเช นั่นก็คือการ หาอะไรๆทำให้ยุ่ง เพื่อจะได้ลืมไปเสียว่า เรามีสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้อง เผชิญหน้า กับมัน

สิ่งนั้นคือคำถามพื้นฐานทางปรัชญาที่ว่า-ทำไมเราจึงมาอยู่ที่นี่

ที่จริงแล้ว ความขี้เกียจด้านกลับไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับชาวตะวันตก แต่เราจะเห็นว่าหลายสังคมที่เต็มไปด้วย พิธีกรรม อันรุงรัง อย่างเช่นสังคมชาวจีนที่มีประเพณีต่างๆอย่างซับซ้อนตลอดทั้งปี ก็มีลักษณะของความขี้เกียจด้านกลับแฝงอยู่ด้วย สังคมชาวจีนนั้นอาจรับคำสอนของขงจื๊อมาเป็นฐานคิด คำสอนของขงจื๊อไม่ได้มุ่งหมายไปในด้านอภิปรัชญา แต่สอนเรื่อง เราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับชาวจีนที่มีจำนวนมาก เราจะเห็นว่าชาวจีนมีวัตรปฏิบัติเรื่องกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันอย่างซับซ้อน กฎเกณฑ์เหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องลุกขึ้น ขยัน ทำสิ่งต่างๆตามประเพณี กล่าวอย่างรวบรัด ในที่สุด ฐานคิดนี้ได้ สร้าง ให้ชนชาติจีนมีความขยันหมั่นเพียรเป็นอุปนิสัยประจำชาติเพื่อเอาตัวรอดท่ามกลางคลื่นมนุษย์ปริมาณมหาศาล

ฐานคิดแบบขงจื๊อมีความงดงามอยู่ในตัว แต่เมื่อเคร่งครัดกับ ความขยัน มากเกินไป ก็ทำให้หลายคนขยันเสียจนเกิด ความขี้เกียจด้านกลับ คือกลายเป็นทำสิ่งต่างๆมากมายเพื่อไม่ให้ตัวเองว่าง เมื่อ ไม่ว่าง ภายนอกเสียแล้ว ก็เลยไม่มีโอกาสได้พิจารณาถึง ความว่าง ภายในไปด้วย

ในเรื่องสั้น The Tale of Fisherman and the Tourist ของไฮน์ริช เบิล นักท่องเที่ยวพบว่า ชาวประมงเอาแต่นั่งเกียจคร้านสบายอารมณ์อยู่ริมชายหาด เขาจึงถามชาวประมงว่า วันนี้อากาศก็ดี ปลาในท้องทะเลน่าจะมีมาก ทำไมไม่ออกไปหาปลาเพิ่มอีกเล่า ชาวประมงตอบว่า วันนี้เขาออกทะเลไปแล้วตอนเช้า นักท่องเที่ยวชี้ชวนว่า แล้วทำไมไม่ออกทะเลเพิ่มเล่า เพราะถ้าออกไปหาปลาเพิ่มเป็นวันละสามหรือสี่เที่ยว ก็จะได้ปลามากขึ้นสามหรือสี่เท่า จะได้นำเงินไปซื้อเรือติดเครื่องยนต์ จากนั้นพอมีเงินมากขึ้น ก็ซื้อเรือลำที่สองที่สามตามมา ทำให้ได้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนำเงินไปสร้างห้องเย็นเอาไว้แช่ปลาเก็บไว้ ต่อไปพอรวยขึ้น ก็สามารถซื้อเฮลิคอปเตอร์มาบินดูฝูงปลาได้ด้วย เมื่อได้ปลามากๆ ก็อาจซื้อรถบรรทุกส่งปลาไปยังเมืองหลวงได้ เรียกว่าทำธุรกิจได้ครบวงจร

แต่ชาวประมงถามขึ้นว่า แล้วต่อจากนั้นล่ะ เขาควรจะทำอะไรอีก นักท่องเที่ยวตอบว่า ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เพราะร่ำรวยแล้ว จะได้นอนตีพุงสบายอารมณ์อยู่ริมชายหาดอย่างไรเล่า

ชาวประมงถามกลับง่ายๆแค่ว่า-แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันกำลังทำอยู่หรอกหรือ!

นี่คือปัญหาของเรา เรามักเห็น Pain เป็น Pleasure เราจึงคิดว่า เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเผชิญหน้ากับความแปลกแยกของงาน เพราะจะมีรางวัลเป็น Pleasure รอคอยอยู่ที่จุดหมายปลายทาง แล้วเราก็สมาทานตัวเองเข้ากับความขยันไม่ลืมหูลืมตาและไม่รู้ตัว

แต่แล้ววันหนึ่ง เราก็พบว่า-เราได้แปลกแยกกับงานเข้าให้จริงๆ

และนั่นคือความเจ็บปวดสุดแสน

ลองนึกดูนะคะ คุณเป็นชาวนา อาศัยอยู่ตามลำพังในทุ่งหญ้าทุนดราของไซบีเรีย วันแล้ววันเล่าคุณได้แต่ไถพรวนที่ดินของคุณ ไกลออกไปเท่าที่สามารถมองเห็นได้ ไม่มีอะไรเลย ทางเหนือ มีแต่เส้นขอบฟ้า ทางตะวันออก มีแต่เส้นขอบฟ้า ทางใต้ มีแต่เส้นขอบฟ้า ทางตะวันตกก็เหมือนกัน ทุกๆเช้า เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก คุณจะออกไปทำงานในทุ่ง เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะ คุณหยุดพักกินอาหารกลางวัน เมื่อดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก คุณกลับบ้านไปนอน

วันแล้ววันเล่าที่คุณเฝ้ามองดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ลอยข้ามผ่านท้องฟ้า แล้วตกลงทางทิศตะวันตก แล้วบางอย่างในตัวคุณก็แตกทำลายลงแล้วตายจากไป คุณโยนพลั่วทิ้งไว้ข้างๆ ความคิดของคุณว่างเปล่า แล้วคุณก็เริ่มเดินไปทางทิศตะวันตก มุ่งหน้าไปยังดินแดนที่วางตัวอยู่ทางตะวันตกของดวงอาทิตย์ เหมือนถูกสิงร่าง คุณเดินต่อไป วันแล้ววันเล่า ไม่กินไม่ดื่ม กระทั่งคุณล้มลงบนพื้นแล้วก็ตาย นั่นคือโรคฮิสทีเรีย ไซบีเรียนนา

ตอนหนึ่งจาก South of the Border, West of the Sun

โดย ฮารุกิ มุราคามิ

ตรงกลางระหว่าง Pain กับ Pleasure คือที่อยู่ของความขี้เกียจหรือความขยัน แต่ความขี้เกียจหรือความขยันนั้น ไม่ได้มีอยู่เรือนร่างเดียว บางครั้งมันสลับกัน เอาใบหน้าของอีกฝ่ายมาต่อไว้กับเรือนร่างของอีกฝ่าย เราจึงไม่อาจมองดูความขี้เกียจหรือความขยันได้โดยใช้มิติเดียวอีกต่อไป ความขยันที่ไม่รู้ตัวอาจเป็นความขี้เกียจ และความขี้เกียจที่รู้ตัวก็อาจเป็นความขยัน โดยเฉพาะกับสังคมยุคใหม่ที่ซับซ้อนและมีศูนย์กลางอยู่ที่เรื่องทุนและการแสวงหากรรมสิทธิ์มาสั่งสม-อย่างในสังคมของเรา

ความขี้เกียจจึงเป็นเรื่องซับซ้อนมากกว่าที่เราเคยคิด!

คนบางคนมีสิทธิขี้เกียจมากกว่าคนอื่น?

ส่วนใหญ่แล้ว โครงสร้างสังคมเป็นเครื่องค้ำจุนให้คนบางคนมีสิทธิ ขี้เกียจภายนอก ได้มากกว่าคนอื่นๆ

แต่ในงานเขียนอันลือลั่นของพอล ลาฟาร์ค เรื่อง The Right to be Lazy ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1883 นั้น เขาได้ตั้งคำถามสำคัญเอาไว้ว่า คนเราโดยทั่วไปมีสิทธิที่จะขี้เกียจได้ไหม

พอล ลาฟาร์ค เป็นมาร์กซิสต์เชื้อสายฝรั่งเศส-คิวบา เขาเขียนงานชิ้นนี้เมื่อถูกจองจำอยู่ที่ปารีส ซึ่งแค่เห็นชื่อบทความ เราอาจเกิดความรู้สึกขึ้นมาได้หลายอย่าง ทั้งฉงน นึกแย้ง และแอบเห็นด้วยอยู่ลึกๆ ลาฟาร์คนั้นมองว่า งานหรือจริงๆคือ Model of Work คือสิ่งที่ถูกนำเสนอขึ้นมาโดยชนชั้นกระฎุมพีในสมัยนั้น แล้วบังคับให้ชนชั้นแรงงานต้องทำงานอย่างหนัก ภายใต้ข้ออ้างต่างๆนานา ทำให้ผู้คนเห็นว่าการทำงานคือคำอวยพรของพระเจ้า

ตัวอย่างเช่น นโปเลียนเคยเขียนไว้ว่า ยิ่งประชาชนทำงานกันมากเท่าไหร่ พวกนั้นก็จะยิ่งมีความชั่วร้ายน้อยลง ผลก็คือ นโปเลียนออกคำสั่งให้เพิ่มชั่วโมงการทำงานมากขึ้น จากที่ร้านรวงต่างๆเคยหยุดในวันอาทิตย์ ก็ให้เปิด แล้วให้แรงงานทั้งหลายเข้าไปทำงาน

ลาฟาร์คแดกดันประชดประชันว่า ในสมัยศตวรรษที่สิบแปด การทำงานวันละ 12 ชั่วโมง คือความเมตตากรุณา เป็นอุดมคติของคนที่เคร่งครัดจริยธรรมและรักเพื่อนมนุษย์ ก่อนหน้านั้น มนุษย์ต้องทำงานหนักกว่านั้นมาก อาจถึงวันละ 18 ชั่วโมง

ในคำนำของบทความนี้ ลาฟาร์คเล่าถึงคำกล่าวของ M. Thiers ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสในยุคนั้น เขาเคยกล่าวสุนทรพจน์ในงานการประถมศึกษาว่า ผมปรารถนาจะทำให้อิทธิพลของคณะสงฆ์เพิ่มพูนอำนาจมากขึ้น เพราะผมอยากให้เกิดการเผยแผ่ปรัชญาดีๆที่สอนมนุษย์เราว่า เราเกิดมาใต้หล้านี้เพื่อทนทุกข์ มิใช่ปรัชญาอื่นตรงกันข้ามที่สั่งสอนว่ามนุษย์ควรจะสนุกกับชีวิต

นั่นแสดงให้เห็นว่า ในยุคนั้น ความคิด สรรเสริญการทำงาน นั้น เหวี่ยงกลับมาที่เรื่องของ Pain โดยไม่ต้องสนใจ Pleasure ด้วยซ้ำ แสดงว่าแม้แต่ความสุขสำราญแบบโลกย์ๆ ก็ยังถูกละเลยไป Pleasure ไม่ใช่ปลายทาง แต่มนุษย์ควรจะทนทุกข์กับการทำงานกันต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับ ผล เป็น Pleasure จากการทำงานนั้นเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะทำงานมากแค่ไหนก็ตาม

สิ่งเหล่านี้ทำให้ลาฟาร์คทนไม่ได้ เขาจึงแย้งโดยการยกอารยธรรมกรีกและคริสตศาสนา (เช่น บทเทศน์บนภูเขาของพระเยซู) แต่เขาไปไกลถึงขั้นแดกดันเข้าให้ว่า พระยะโฮวาห์ที่ไว้เคราและเป็นพระเจ้าขี้โมโหนั่น ก็ยังให้ตัวอย่างกับสาวกของพระองค์เป็นอุดมการณ์ความขี้เกียจเลย เพราะหลังทำงาน [สร้างโลก] มาแล้วหกวัน พระองค์ก็หยุดพักไปชั่วนิรันดร์

ต้องบอกคุณว่าลาฟาร์คนั้นมีภาษาที่ (โคตรจะ) เสียดสีเหน็บแนม ฟังแล้วคง เจ็บกระดองใจ สังคมทุนนิยมในยุคนั้นเป็นอันยิ่ง อย่างเช่นเขาบอกว่า

ในสังคมทุนนิยม งานคือต้นเหตุของความเสื่อมทรามทางปัญญาและความเสื่อมทรามทางอินทรีย์ทั้งปวง ลองเปรียบเทียบระหว่างม้าในคอกของพวกรอธไชลด์ที่ผสมพันธุ์มาแล้วอย่างดี มีข้าทาสบริวารเป็นสัตว์สองเท้า กับม้าที่ถูกใช้งานหนักในฟาร์มของนอร์แมน ซึ่งต้องไถดิน ลากปุ๋ย ลากพืชผล หรือดูพวกชาวป่า ผู้ซึ่งเหล่ามิชชันนารีแห่งการค้าขายศาสนายังไม่ทันไปสร้างความเสียหายให้พวกเขาด้วยศาสนาคริสต์ ซิฟิลิส และความบ้าคลั่งทำงานก็ได้ แล้วหันกลับมาดูทาสเครื่องจักรผู้สิ้นหวังของเรา

ลาฟาร์คบอกว่า ในอารยธรรมกรีกนั้นมีแต่ทาสเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ส่วนคนที่มีเสรีจะทำเพียงการออกกำลังกายและกำลังความคิด จึงเปิดโอกาสให้เกิดนักคิดอย่างอริสโตเติลหรืออริสโตฟาเนสขึ้น แต่ในยุคปัจจุบัน ดูเหมือนทุกคนจะอยากเป็นทาส แม้แต่ชนชั้นล่างและชนชั้นแรงงานเอง ก็สรรเสริญการทำงาน ลาฟาร์คกล่าวหาชนชั้นแรงงานด้วยที่ยอมรับสิ่งนี้ ยอมรับที่จะทนทุกข์ ถูก กักขัง อยู่ในโรงงาน ยากจน และเจ็บป่วย

สำหรับลาฟาร์ค เขาคิดว่า การอยู่เฉยๆ (เสียบ้าง) ควรเป็นแรงขับทางบวกและสร้างสรรค์ และช่วยปลดปล่อยโลกออกจากระบบป่าเถื่อนที่ว่านี้ โดยประเด็นสำคัญที่เขาใช้ต่อกรกับโลกทุนนิยมก็คือ เขาบอกว่าถ้าคนทั่วๆไปมี เวลาว่าง มากขึ้น พวกเขาก็จะ บริโภค มากขึ้นด้วย ไม่ใช่เอาแต่ทำงาน เอาแต่ผลิต ทำให้มีแต่สินค้า แต่ไม่มีใครมีเวลาว่างมากพอที่จะบริโภค ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเกิดภาวะการผลิตล้นเกินหรือ Over Production ขึ้น โดยไม่มีผู้บริโภคมากพอ

แต่ปัญหาก็คือ คนที่สามารถ อยู่เฉยๆเสียบ้าง ได้ มักเป็นคนในบาง ชนชั้น เท่านั้น

ถ้าย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณ คนที่ทำงานใช้แรงงานคือคนในชนชั้นทาส เพลโตเคยกล่าวไว้ใน The Republic (Book V) ว่า ธรรมชาติไม่มีช่างทำรองเท้าหรือช่างตีเหล็ก ใครขืนไปทำอาชีพเช่นนั้นก็มีแต่จะตกต่ำลง การเห็นแก่เงินเป็นสิ่งชั่วร้ายไร้ชื่อ เขายังบอกอีกว่า พวกพ่อค้านั้นคุ้นเคยกับการโกหกหลอกลวง จึงสมควรได้รับอนุญาตให้อยู่ในเมืองในฐานะ Necessary Evil หรือเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็นเท่านั้น ประชาชนที่ลดตัวเองต่ำลงด้วยการไปค้าขายในร้านรวงจะต้องถูกลงโทษด้วยการจำคุกถึงหนึ่งปี ซึ่งลาฟาร์คบอกว่า หลักการหน้าไหว้หลังหลอกแบบคริสต์และนักอรรถประโยชน์ในชนชั้นนายทุนก็ไม่ได้แตกต่างไปจากแนวคิดของนักปรัชญากรีกโบราณเหล่านี้เลย

ผมคิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะคล้ายกับคนเหล่านี้ (ไม่ว่าจะเป็นนักปรัชญากรีกหรือชนชั้นสูงในยุโรป) ต่างมีโอกาสทำตัวเป็น ชนชั้นขี้เกียจ ที่สามารถนั่งขี้เกียจอยู่เฉยๆได้ โดยมีใครบางคนคอยอุดหนุนค้ำจุนอยู่ พวกเขามีคนปลูกข้าว สีข้าวให้เป็นแป้ง และทำอาหารมาเลี้ยง มีคนคอยดูแลเสื้อผ้าอาภรณ์ และความสะดวกสบายอื่นๆในชีวิต พวกเขาจึงมี เวลาว่าง มากพอที่จะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้มีเวลาครุ่นคิดคำนึงถึงความซับซ้อนของโลกและชีวิต แล้วกลายออกมาเป็นปรัชญาหรือ ความรักในความรู้ คนประเภทนี้มีตั้งแต่ศิลปิน คีตกวี นักคิด กวี นักเขียน ไล่มาจนถึงนักวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าไม่มีคนอุปถัมภ์จนเขามี เวลาว่าง มากพอ บีโธเฟนก็ไม่สามารถออกไปเดินเล่นสัมผัสธรรมชาติจนสามารถรังสรรค์ซิมโฟนีแสนงามอย่าง Pastorale Symphony ได้ ขณะที่ไอน์สไตน์ก็มีภรรยาอย่างมิเลวา มาริค (ที่เก่งกาจในเรื่องการคำนวณมากกว่าเขา) มาคอยซักผ้าทำความสะอาดบ้านให้ในตอนกลางวันขณะที่เขาออกไปสอน และคอยคำนวณให้เขาในตอนกลางคืน ทำให้เขามีเวลาว่างมากพอจะ จินตนาการ ให้ สำคัญกว่าความรู้ ได้ นักคิดตะวันตกที่มีโอกาสเข้าร่วมใน Royal Society ทั้งของอังกฤษและฝรั่งเศส ส่วนใหญ่คือชนชั้นสูง ร่ำรวย และมี เวลาว่าง มากพอจะนอนสังเกตดวงดาว ไปขุดหากระดูกและฟอสซิล หรือเพาะพันธุ์ดอกไม้แปลกๆ

ขณะที่ ชนชั้นขยัน หรือชนชั้นแรงงานนั้น ต้องคอยทำงานต่างๆ แทน ชนชั้นสูงเหล่านั้นตลอดเวลา พวกเขาจึงไม่มีเวลาว่างๆ เอาไว้ใช้นั่งมองท้องฟ้า พิจารณาการไหลของแม่น้ำ หรือมองดูแถวมดเดินเพื่อสังเกตธรรมชาติและความเป็นอยู่ของพวกมัน คนเหล่านี้คุ้นเคยแต่เฉพาะห้องครัว การซักผ้า การขุดดิน หรือการใช้แรงงานเท่านั้น พวกเขา ถูกผลัก ให้หันห่างจากเวลาว่าง และไม่มี โอกาส ได้รังสรรค์ทฤษฎีเกี่ยวกับการซักผ้า เพราะวันๆต้องทำงานมากมายมหาศาลจนกระดิกตัวไปทำสิ่งอื่นใดไม่ได้ หรือถ้าจะมีเวลาว่างอยู่บ้าง ก็จำเป็นต้องใช้ไปกับการพักผ่อนเท่านั้น ยิ่งชนชั้นสูงรุ่งเรืองร่ำรวยความรู้ที่เกิดจากเวลาว่างมากขึ้นเท่าไหร่ ชนชั้นแรงงานก็ยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้นเท่านั้น จูเลียต บี. ชอร์ (Juliet B. Schor) ประเมินว่าในยุคกลาง ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยของชนชั้นแรงงานชาวอังกฤษสูงขึ้นเป็น 2,309 ชั่วโมงต่อปี จากราว 1,6200 ชั่วโมง ของชาวนาชายชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 13

ที่แย่ก็คือ นอกจากต้องขยันทำงานแล้ว ชนชั้นแรงงานเหล่านี้ยังถูก ประณาม ว่า โง่ (เพราะขยัน) อีกด้วย!

ในโลกตะวันออกก็ไม่แพ้กัน เพราะหลักคิด บุญทำ-กรรมแต่ง และโครงสร้างชนชั้น ได้ ยก คนบางกลุ่มขึ้นเหนือคนอีกบางกลุ่ม อย่างเช่นระบบวรรณะในอินเดีย ทำให้คนที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์หรือพราหมณ์ ทำงานน้อยกว่าคนที่อยู่ในวรรณะต่ำกว่า เช่นพ่อค้าหรือชนชั้นแรงงาน และแนวคิดแบบนี้ก็แพร่หลายอยู่ในเมืองไทยด้วย โดยมี โครงสร้างความเชื่อทางศาสนา บางอย่างค้ำจุนอยู่

โครงสร้างความเชื่อทางศาสนาที่ว่า คือเรื่องของการกลับชาติมาเกิด โดยเชื่อกันว่าคนที่เกิดมาดีพร้อม (หรือเรียกว่า สว่างมา) นั้น เคยทำกรรมดีมาก่อนในชาติที่แล้ว คนเหล่านี้จึงสามารถ เสวยสุข อยู่ได้บนกองเงินกองทองและกองอำนาจ แต่คนที่เกิดมายากจน พิการ หรืออยู่ในวรรณะต่ำ (หรือเรียกว่า มืดมา) เป็นเพราะคนเหล่านี้เคยทำกรรมชั่วมาก่อนในชาติที่แล้ว ซึ่งในแนวคิดแบบพุทธ เรื่องเหล่านี้ถูกอ้างว่านำมาจากพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย แต่แท้จริงแล้วอ้างถึงไม่หมด นำมาเฉพาะเนื้อหาที่ผิวเผิน พูดถึงเฉพาะกรรมดี-กรรมชั่ว และนำวาทกรรม กรรมดี-กรรมชั่ว มาอธิบายว่าทำไมคนแต่ละคนถึงได้มีสภาพอย่างที่เป็น

คำอธิบายแบบนี้อาจจะใช้ได้ในยุคที่อินเดียแบ่งวรรณะกันอย่างเข้มข้น ใครเกิดมาเป็นจัณฑาลต้องถือว่า มืด เสียยิ่งกว่ามืด แต่ใครเกิดในตระกูลกษัตริย์ ก็พอกล้อมแกล้มบอกว่าเกิดมา สว่าง ได้ ทว่าถ้านำมาพูดในยุคปัจจุบัน ผมคิดว่ามีปัญหาอยู่หลายอย่าง

อย่างแรกก็คือ มันเป็นวิธีคิดที่ช่วยค้ำจุน โครงสร้าง ทางสังคมแบบแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน นั่นคือเป็นการนำ โครงสร้างความเชื่อทางศาสนา มาสร้าง โครงสร้างทางสังคม ให้มี บน-ล่าง สว่าง-มืด จึงสร้างความ ชอบธรรม ให้กับคนที่อยู่ ด้านบน ของโครงสร้างสังคมด้วยวาทกรรมชาติก่อน ใครเกิดมารวย เกิดมาในตระกูลสูง ก็แปลว่าพวกเขา ชอบธรรม แล้วที่จะรวยที่จะไม่ต้องขยัน เนื่องจากชาติที่แล้วทำดีมา จึงเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมสังคมไทยถึงไม่มีภาษีมรดกหรือภาษีที่ดินเสียที เนื่องจากมันเป็นเรื่อง บุญทำกรรมแต่ง

ปัญหาอย่างที่สองก็คือ นี่เป็นวิธีคิดที่สามารถนำไปใช้ ควบคุม คนชั้นล่างอย่างได้ผล เพราะเมื่อเป็นความเชื่อทางศาสนาเสียแล้ว คนที่เกิดมาจน หน้าตาไม่สวยพอจะใช้เป็นฐานไต่ขึ้นไปเป็นดารานักแสดงเพื่อขยับเลื่อนชั้นทางสังคม หรือพิการ หรือป่วย คนเหล่านี้ก็จะเกิด สำนึก ขึ้นมาภายในทันทีว่าเป็นเพราะชาติที่แล้วทำกรรมชั่วเอาไว้ ไม่เหมือนคนชั้นสูงที่ทำกรรมดีไว้ในชาติที่แล้ว สำนึกนี้จึงทำให้คนเหล่านี้มีความเป็น ไพร่ หรือ ทาส อย่างสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อ ทำลาย โครงสร้างนั้น ไม่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ไม่สนใจรัฐสวัสดิการ และที่ร้ายที่สุดก็คือไม่ รัก ที่จะ เรียนรู้ เพราะผุดบังเกิดขึ้นในโครงสร้างที่บิดเบี้ยว แล้วสมาทานความบิดเบี้ยวนั้นไว้อย่างสัมบูรณ์ภายใน พวกเขาจึงยอมรับ Pain ได้โดยไม่คิดถึง Pleasure เพราะสำนึกอยู่เสมอว่า Pain คือการชดใช้กรรมที่ต้องจำยอม เพื่อว่าชาติหน้าจะได้เกิดมาเป็นชนชั้นสูง

ลาฟาร์คเองก็พูดเรื่องนี้ไว้ว่า ปัญหาสำคัญก็คือ ชนชั้นล่าง (Proletarians) นั้น ดันสมาทานตัวเองให้กับชนชั้นสูง ไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเอง ทว่ายอมถูกจำขังอยู่ในโรงงาน ซึ่งผมคิดว่าในปัจจุบันนี้ คนที่ ยอม ถูกจำขังอยู่กับการทำงานนั้น ไม่ได้มีแค่ชนชั้นล่างหรือชนชั้นแรงงานเท่านั้น ชนชั้นอื่นๆก็เป็นอย่างนั้นด้วย จนสามารถกล่าวได้ว่า ชนชั้นกลางปัจจุบันก็ไม่ผิดกับชนชั้นแรงงานของมาร์กซ์ เพราะพวกเขาล้วนแต่ แปลกแยก กับงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่,

และบางคนก็ถึงขั้นยอมทำงานจนตายคางาน!

เกิดอะไรขึ้นกับโลกและสังคมของเรากันแน่?

การทำงานกับสิทธิที่จะขี้เกียจ

วันหนึ่งในฤดูร้อนของเมลเบิร์น ผมเดินตากแดดแผดเผาอยู่ริมหาดเซนต์กิลดา ไล่ไต่ถามผู้คนอย่างบ้าคลั่งและแทบน้ำตารื้น, ว่าพวกเขาเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างแดนไกลโพ้นใช่ไหม

ผมภาวนาให้เป็นอย่างนั้น

เพราะผมไม่อยากรับรู้เลยว่า มีแห่งหนใดในโลก ที่ผู้คนของเมืองสามารถมาเล่นน้ำริมทะเลได้นับเป็นหมื่นๆแสนๆคน-ทั้งที่เป็นวันทำงาน

แต่ส่วนใหญ่แล้ว คำตอบที่พวกเขาให้ก็คือ-พวกเขาล้วนคือชาวเมลเบิร์น

วันฤดูร้อนนั้นทำให้ผมคิดถึงบางแสน ถ้าคุณไปบางแสน-แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของ ชนชั้นไม่สูง (ไม่เหมือนหัวหินถิ่นแพงลิบลิ่วหรือพัทยาถิ่นอินเตอร์ฯ) คุณจะพบว่า ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ผู้คนคลาคล่ำอยู่ริมหาด เจ้าของร้านเช่าเก้าอี้ผ้าใบ ร่ม และคนที่เดินขายของขายบริการอยู่แถวนั้นต่างมีงานทำล้นมือ

ทว่าถ้าเป็นวันธรรมดา ชายหาดกลับว่างเปล่า มีคนมาเที่ยวบางแสนแค่หยิบมือเดียว และสิ่งที่เตรียมพร้อมไว้ต้อนรับกองทัพนักท่องเที่ยวในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ได้แต่ตั้งรออยู่อย่างนั้น เปลี่ยวเหงา รอให้ลมและคลื่นทะเลซัดสาดผุกร่อน

เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับบางแสนและวันเสาร์-อาทิตย์ แต่เราจะเห็นได้ว่าเขาใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น ทางหลวงหลักของประเทศไทยก็เป็นอย่างนั้น มันจะขนัดแน่นจนเต็มเอี้ยดเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวอย่างสงกรานต์หรือปีใหม่เท่านั้น แต่นอกนั้นแล้ว ถนนสี่เลนแปดเลนก็แทบจะร้างไร้

แต่เมลเบิร์นมี วิธีจัดการเมือง อย่างไรหรือ จึงทำให้เราเห็น คนออกมาวิ่งและใช้งานสวนสาธารณะได้ ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเช้าสายบ่ายเที่ยงเย็น และทุกๆวัน คนสามารถออกไปทำกิจกรรมสันทนาการได้เป็นปริมาณมาก สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปกับคนที่กำลังทำงานอยู่

ทำไมพวกเขาถึงไม่ แห่กันไปทำงาน แล้วก็ แห่กันไปเที่ยว จนเกิดปัญหาเหมือนน้ำป่าพัดมาทีละวูบ แล้วจากนั้นแผ่นดินก็แห้งแล้งแตกระแหงเหมือนในเมืองไทย

มันคือปัญหาเรื่องการ หมุนเวียน ผู้คน เป็นปัญหาของการจัดการเมืองใช่หรือไม่

มันคือปัญหาเรื่องสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของ ปัจเจก เท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐต้องยื่นมือเข้ามาจัดการด้วยใช่หรือไม่

การจัดการที่ว่า ก็คือการจัดการให้ผู้คนมี เวลาว่าง ไม่ตรงกัน จะได้มีปริมาณคนที่เหมาะสมออกไปใช้บริการสาธารณะในสถานที่ต่างๆได้สม่ำเสมอ เมืองใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนจัดการให้ผู้คนทุกชนชั้นได้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมี เวลาว่าง อย่างเท่าเทียม หรือดูแลให้เกิด Work-Life Balance ที่เหมาะสม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย แสดงให้เห็นว่ามีความบกพร่องบางอย่าง จึงทำให้เกิดอาการ แห่ กันไปใช้งานสถานที่ต่างๆพร้อมๆกัน แล้วจากนั้นก็ ทิ้ง สถานที่เหล่านั้นเอาไว้ให้รกร้างพร้อมๆกัน

สถานที่เดียวที่เต็มแน่นไปด้วยผู้คน ก็คือห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้เพราะห้างสรรพสินค้านั้นสอดรับกับ เวลาว่าง ที่คนเมืองทั้งหลายมีอย่างเหมาะเหม็ง ทั้งนี้ก็เพราะเราไม่เคยมีวันหยุดยาวที่พอเพียง การมีเวลาหยุดสั้นๆแค่สองถึงสี่วัน ทำให้ห้างสรรพสินค้ากลายเป็นคำตอบ สลับกับการได้พักอยู่บ้านสักวันหรือสองวัน

ลองคิดถึงวันสงกรานต์ที่เราคิดว่าเป็น วันหยุดยาว (ที่สุดแล้ว!) ดูก็ได้ ปกติแล้วจะหยุดกันราวๆ 4-5 วัน แต่ถ้าติดกับเสาร์อาทิตย์ ก็อาจเพิ่มมากขึ้นได้อีกหน่อย สำหรับบางคน สงกรานต์คือการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศอย่างแสนสบาย แต่กับคนจำนวนมากของประเทศนี้ สงกรานต์คือ ภาคบังคับให้ต้องเดินทางกลับบ้าน เพราะถูกประกาศให้เป็น วันครอบครัว การเดินทางเพื่อกลับบ้านในวันสงกรานต์จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดได้ว่า สงกรานต์เป็น Compulsory Travel หรือการเดินทางที่ต้องเกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบปัญหาการจราจรติดขัด รถสาธารณะไม่พอให้บริการในช่วงสงกรานต์ แต่นั่นยังไม่ใช่ปัญหาสำคัญที่สุด ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ชนชั้นแรงงานที่ จำเป็น ต้องกลับบ้านในช่วงสงกรานต์นั้น พวกเขาต้อง ต่อสู้ กับการเดินทางครั้งนี้ราวกับจะไปออกศึก เริ่มจากการไปที่สถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟ เฝ้ารอรถอยู่นานนับชั่วโมงๆ แออัดยัดเยียด ก่อนจะยัดทะนานขึ้นรถ บางคนก็เพื่อจะไปประสบอุบัติเหตุ สูญเสียทรัพย์สินหรือแม้แต่ชีวิต ส่วนคนที่รอดไปถึงบ้านได้ ก็มีเวลาอยู่กับ พ่อแก่แม่เฒ่า อาจจะสักวันหรือสองวัน เรียกว่ายังไม่ทันหายเหนื่อยจากการเดินทางแสนหฤโหด ก็ต้องวิ่งหน้าตั้งขึ้นรถ แออัดยัดทะนานกลับมายังเมืองหลวง เพื่อรีบรุดมา ทำงาน ที่ได้ค่าจ้างเป็นรายวันอีกครั้ง ไม่อย่างนั้นก็จะถูกนายจ้างคาดโทษ หรือร้ายกว่านั้นก็คือต้องตกงานเสียด้วย

นี่คือ เวลาว่าง, นี่คือ การพักผ่อน ?

วันหยุดยาวที่ยาวไม่พอและมีน้อยเกินไป ทำให้ผู้คนขาด การพักผ่อนที่แท้จริง อย่างพอเพียง คนไทยไม่ได้ พัก ในช่วงเวลายาวนานพอให้พวกเขารู้สึกว่าได้ พัก เมื่อถึงวันหยุดหรือตอนเย็น คนจำนวนมากไม่มีทางเลือกอะไร เพราะรัฐไม่เคยจัดพื้นที่สันทนาการในเมืองที่ดีและเพียงพอให้ ประกอบกับไม่มีเวลา พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากไปทำกิจกรรม เดินห้าง

กลายเป็นว่า รัฐไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่หาสถานที่สันทนาการและให้ความรู้กับประชาชน (เหมือนที่ประเทศพัฒนาแล้วทำให้สวนสาธารณะ อุทยานแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์เป็นทั้งที่หย่อนใจและให้ความรู้ โดยที่แทบทั้งหมดคือสิ่งที่ ฟรี’!) แต่ผลักภาระหน้าที่นี้ให้กับ ห้างสรรพสินค้า ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้มีพันธกิจอะไรกับใคร นอกจากขายของเพื่อทำกำไรให้ได้มากที่สุด

นี่คือวิถีชีวิตจริงที่คนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ทั้งชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานประสบอยู่ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปัญหาใหญ่กับคุณภาพความคิดของพวกเราเอง

และปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะเรา (และรัฐ) ไม่เคยให้คุณค่ากับ ความขี้เกียจ หรือไม่ก็ให้คุณค่ากับมันน้อยเกินไป!

เมื่อเราไม่ให้คุณค่ากับความขี้เกียจ เราก็ไม่ให้คุณค่ากับเวลาว่าง เราจึงไม่ จัดการ ให้ผู้คนในสังคมนี้มี เวลาว่าง มากพอที่จะเกิดการหมุนเวียนประชากรไปใช้ทรัพยากรสันทนาการและทรัพยากรต่างๆทั้งหลายที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอและไม่เกิดอาการ ทะลักล้น ในบางช่วงเวลา

การไม่ให้คุณค่ากับเวลาว่าง เห็นได้จากการกำหนด วันหยุด ของไทย กฎหมายแรงงานของไทยกำหนดไว้ว่า จะต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งถ้าเป็นลูกจ้างรายวัน ในวันหยุดนั้นพวกเขาจะไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ (แล้วจะมีใครอยากหยุด!) นอกจากนี้ยังมีวันหยุดตามประเพณีอีกอย่างน้อยปีละ 13 วัน และถ้าทำงานมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป จะมีสิทธิหยุดได้อีกปีละ 6 วันทำงาน โดยนายจ้างจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าว

เรามักพูดกันว่า คนไทยมี วันหยุด มากที่สุดในโลก (แต่จริงๆแล้วหยุดได้ 13 วัน) ลองมาดู วันลา (หรือที่เรียกว่า Annual Leave) ซึ่งแปลว่าไม่นับรวมวันหยุดประจำปีตามเทศกาลต่างๆของแต่ละประเทศกันดูบ้างไหม ว่าพวกเขาได้หยุดกันมากน้อยกว่าเราอย่างไรบ้าง โดยเอาตัวเลขปีละ 6 วันของเรามาเป็นตัวตั้ง โดยตัวเลขเหล่านี้คือตัวเลข อย่างน้อยที่สุด ตามที่กฎหมายกำหนดว่าคนทำงานจะต้องได้หยุดในแต่ละปี และเป็นการหยุดโดย ได้รับค่าจ้าง ด้วย!

ประเทศ

วันลา

มากกว่าหรือน้อยกว่าไทย

ออสเตรเลีย

ออสเตรีย

บราซิล

ชิลี

จีน

โคลัมเบีย

เชค

ฝรั่งเศส

เยอรมนี

กรีซ

ไอซ์แลนด์

ฮ่องกง

อิหร่าน

อินเดีย

ญี่ปุ่น

เกาหลี

มาเลเซีย

เม็กซิโก

ปากีสถาน

ฟิลิปปินส์

สิงคโปร์

ไต้หวัน

สวิตเซอร์แลนด์

สหราชอาณาจักร

อเมริกา

เวียตนาม

20 วัน (4 สัปดาห์)

5 สัปดาห์

30 วันติดกัน (รวมวันเสาร์อาทิตย์) หลังทำงานมาแล้ว 1 ปี

15 วันทำงาน

11 วันทำงาน

15 วันทำงาน สะสมได้ถึง 4 ปี (คือ 60 วันทำงาน)

4 สัปดาห์

5 สัปดาห์

4 สัปดาห์

20 วันทำงาน

24 วัน ไม่รวมวันหยุดประจำปี

7 วัน

4 สัปดาห์

1 วันหยุดต่อ 20 วันทำงาน (ราวปีละ 12 วันทำงาน)

18 วัน (นับรวมลาป่วยด้วย)

10 วันทำงาน

2 ปีแรกคือ 8 วัน เพิ่มเป็น 12 วัน เมื่อทำงาน 2-5 ปี จากนั้นคือ 16 วัน

ปีแรก 6 วัน ปีที่สอง 8 วัน ปีที่ 5-9 อยู่ที่ 14 วัน ถัดไปเพิ่มขึ้นปีละ 2 วัน

15 วันทำงาน

5 วัน โดยต้องทำงานครบ 1 ปีก่อน

14 วันสำหรับผู้บริหาร 7-14 วัน สำหรับพนักงาน

7 วัน

28 วันตามปฏิทิน (เท่ากับ 20 วันทำงาน)

5.6 สัปดาห์ (28 วันทำงาน) รวมวันหยุดเทศกาล

ไม่มี

10 วัน

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

น้อยกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

มากกว่า

น้อยกว่า

มากกว่า

ถ้าดูจากตาราง เราจะเห็นว่ามีอยู่เพียงสองประเทศเท่านั้น ที่มีวันลาน้อยกว่าเรา นั่นคือฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกา

ผมไม่รู้เรื่องวันลาหยุดในฟิลิปปินส์เท่าไหร่ แต่กับเรื่องวันหยุดของสหรัฐอเมริกานั้น จำเป็นต้องบอกว่าแม้ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมาย แต่ละองค์กรก็สามารถกำหนดวันหยุดวันลาของตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธรรมกับแรงงาน แต่ถึงกระนั้น ในอเมริกาก็ยังมีการโต้แย้งเรื่อง วันว่าง กันมากทีเดียว ว่าพวกเขาทำงานกันมากเกินไปหรือเปล่า

ข้อมูลจากเว็บหางานชื่อ monster.com ระบุว่า คนทำงาน 61% ในสหรัฐอเมริกามีวันหยุดในแต่ละปีน้อยกว่า 15 วัน นั่นแปลว่าคน 39% มีวันหยุดมากกว่า 15 วันต่อปี ซึ่งถือว่าไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะถ้าเทียบกับวันหยุดของคนไทย

แต่กระนั้น ก็มีข้อถกเถียงกันอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะเมื่อนำวันหยุดของอเมริกาไปเทียบกับประเทศในแถบยุโรปและประเทศอื่นๆ และมีข้อมูลที่น่าสนใจบ่งชี้ว่า แม้คนอเมริกันจะทำงานมากกว่าคนยุโรป มีวันหยุดน้อยกว่าคนยุโรป แต่โดยเฉลี่ยแล้ว คนอเมริกันกลับมีความสามารถในการผลิต (Productivity) น้อยกว่าคนยุโรป ซึ่งมีวันหยุดเฉลี่ยแล้วปีละ 6 สัปดาห์ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่มีการกำหนดวันหยุดขั้นต่ำเอาไว้ โดยให้วันหยุดเป็น ทางเลือก ของประชาชนเอง ว่าจะเข้าทำงานกับบริษัทที่ให้วันหยุดในแต่ละปีมากน้อยเท่าไหร่

นักวิจัยอย่าง โจ โรบินสัน (Joe Robinson) ผู้เขียนหนังสือ Work to Live : The Guide to Getting a Life ระบุว่า การทำงานในแต่และสัปดาห์เกิน 40 ชั่วโมง จะมีผลต่อความเครียดในสมอง และทำให้ความสามารถในการผลิตลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยจะเห็นชัดเมื่อต้องทำงานเกินสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะมนุษย์ก็คือมนุษย์ ต้องการช่วงเวลาพักผ่อนเพื่อให้สมองได้ คูลดาวน์ บ้าง เขายังกล่าวด้วยว่า การทำงานมากเกินไป (Overwork) นั้น เกี่ยวข้องกับอาการทางกระเพาะ สายตาอ่อนล้า และนำไปสู่โรคหัวใจ เรียกได้ว่าเป็น กลุ่มอาการขาดวันหยุด

ค่านิยม Rich and Famous before Thirty ในสังคมอเมริกัน เป็นตัวขับเคลื่อนให้คนทำงานหนัก ก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คนหนุ่มวัยยี่สิบกว่าในแมนฮัตตันทำงานกันตลอดเจ็ดวัน สัปดาห์ละมากกว่า 50 ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้เกินหนึ่งแสนเหรียญต่อปี (ส่วนใหญ่แล้วมากกว่าสามแสนเหรียญ)

ในหนังสือชื่อ Willing Slaves-How the Overwork Culture is Ruling our Lives ผู้เขียนคือแมดเดลีน บันติ้ง (Madeleine Bunting) กล่าวว่า จากปี 1977-1997 เวลาเฉลี่ยของการทำงานในหนึ่งสัปดาห์ (หรือที่เรียกว่า Workweek) ของคนอเมริกันที่ทำงานเต็มเวลา เพิ่มจาก 43.6 ชั่วโมง มาเป็น 47.1 ชั่วโมง โดยยังไม่นับรวมเวลาเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน

ถ้ารัฐจะก้าวเข้ามาดูแลเรื่อง Work-Life Balance สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการดูแลเรื่องวันหยุดขั้นต่ำ แต่อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของชั่วโมงทำงาน (ซึ่งถ้าเป็นเวลาทำงานในหนึ่งสัปดาห์ จะเรียกว่า Workweek) ว่ามนุษย์เราพึงมีเวลาทำงานมากแค่ไหน พักผ่อนมากแค่ไหน จึงจะเกิด Work-Life Balance ซึ่งไม่ได้ทำให้ความสามารถในการผลิตดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้แรงงานและสังคมมีมิติของความเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วย เพราะคนที่มีเวลาว่างมากขึ้น จะลดความเครียด และมีเวลาให้กับมิติอื่นๆของสังคม เช่น มีเวลาคิด ไตร่ตรอง ทำงานอาสา ทำงานอดิเรก และดูแลเพื่อนมนุษย์อื่นๆ

สมัยก่อน รอบการทำงาน ของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้มนุษ์ทำงานได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องผูกติดกับฤดูกาลอีกต่อไป โดยทั่วไปแล้ว ชั่วโมงการทำงานจึงเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนหน้ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ คนงานต้องทำงานกันวันละ 12-16 ชั่วโมง เป็นเวลา 6-7 วันต่อสัปดาห์ เรียกได้ว่าแทบไม่มีการหยุดพัก รัฐจึงต้องยื่นมือเข้ามา ปกป้อง แรงงานเหล่านั้น ด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดชั่วโมงทำงาน กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

ปัจจุบันนี้ หลักเกณฑ์ทั่วไปคือการทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งไม่ได้ได้มาโดยง่าย ทว่าผ่านการต่อสู้เข้มข้นยาวนาน โดยเริ่มจากขบวนการต่อสู้นำโดยโรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) ในปี 1810 จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า Eight-Hour Day โดยมีแนวคิดว่า มนุษย์เราควรจะแบ่งเวลา 24 ชั่วโมง ออกเป็น 8 ชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงพักผ่อน และ 8 ชั่วโมงนอนหลับ แต่กว่าผู้หญิงและเด็กจะได้รับการลดชั่วโมงทำงานเหลือวันละ 10 ชั่วโมง ก็ในปี 1847 ส่วนคนงานฝรั่งเศส กว่าจะลดเวลาทำงานเหลือวันละ 12 ชั่วโมง ก็ในปี 1848 ส่วนในอเมริกานั้นเกิดเครือข่าย Eight-Hour Leagues ขึ้นในหมู่แรงงานในช่วงทศวรรษ 1870s แต่กว่าจะได้รับการยอมรับจนตราเป็นกฎหมาย ก็ในปี 1916 ในกฎหมาย Adamson Act ซึ่งเป็นกฎหมายแรกของรัฐบาลกลางที่ยื่นมือเข้ามาควบคุมชั่วโมงการทำงานของแรงงานในบริษัทเอกชน

คนอเมริกันมักจะเปรียบตัวเองกับคนฝรั่งเศส ในแง่ที่ว่าคนฝรั่งเศสมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า ขี้เกียจ มากกว่า แต่รายงานในเว็บไซต์ thinkandask.com ซึ่งเป็นองค์กรข่าวไม่แสวงหากำไร ระบุว่า นักวิจัยฝรั่งเศสอย่างอังเดร คาร์ซูส์ (Andre Carsoux) กลับแสดงความเป็นห่วงในสังคมฝรั่งเศส เพราะเขาเห็นว่า ฝรั่งเศสก็เริ่ม เพิ่มชั่วโมงการทำงาน มากขึ้น ทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวเนื่องกับความเครียดในการทำงานมากขึ้นด้วย ผลลัพธ์ในเรื่องนี้ก็คือความสามารถในการผลิตของคนทำงานจะลดน้อยลง

คาร์ซูส์บอกว่า วันหยุดพักผ่อน มีส่วนอย่างมากกับ ชีวิตที่ดี เขาบอกว่ารัฐไม่ควรละเลยหรือปฏิเสธเรื่องนี้

ไม่ว่าคุณจะมาจากประเทศไหนก็ตาม ชีวิตนั้นแสนสั้น ผมสงสัยว่า เมื่อคุณกำลังจะตาย ความคิดสุดท้ายของคุณยังเป็นการเพิ่มผลผลิตมวลรวมประชาชาติอยู่อีกไหม ใครยังจะสนเรื่องนี้อีก

คำถามของคาร์ซูส์เป็นคำถามสำคัญ เพราะมันนำเรากลับมาสู่ ความจริง ที่ว่า-แล้วเราควร คิด ถึงอะไรกันเล่า และกระบวนการนำไปสู่การ คิด ที่ว่า เราต้องทำอะไร

อย่างที่บอกไปแล้วว่า คนจำนวนมากเลือกที่จะ ทำงานหนัก และทำตัวให้ยุ่งอยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องถามตัวเองถึงเรื่องสำคัญของชีวิต และหลีกเลี่ยงที่จะคิดว่าสักวันหนึ่งคนเราก็ต้องตาย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็จะหันมาขบคิดว่า สิ่งใดคือสิ่งที่ สำคัญจริงๆกับตัวเราบ้าง

อย่างไรก็ตาม แม้ในอเมริกาจะไม่มีกฎหมายเรื่อง Annual Leave ขั้นต่ำ แต่ในหลายองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสติปัญญาของมนุษย์ อย่างเช่นสถาบันการศึกษา (ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงโรงเรียนระดับประถมด้วย ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัย) ก็ได้จัดให้มีวันลาหรือ Leave อีกแบบหนึ่ง เรียกว่า Sabbatical Leave

คำว่า Sabbatical นั้น ถ้าดูจากรากศัพท์จะเห็นได้ชัดเจนว่ามาจากคำว่า Sabbath ซึ่งคือวันหยุดพักของพระเจ้าหลังจากการสร้างโลก เพราะฉะนั้น Sabbatical Leave จึงเป็นการ หยุด จากการทำงานในระยะยาว เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น Career Break หรือการ พัก จากงานอาชีพ หลังจากทำงานนั้นมาเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง (เช่น 7 ปี หรือตามเงื่อนไขอื่นๆ)

Sabbatical Leave หรือ Career Break นั้น มักเกิดขึ้นยาวนานได้ตั้งแต่ 2 เดือน ไปจนกระทั่งถึง 2 ปี แต่ที่นิยมหยุดกันมากที่สุดก็คือ 6 เดือน ถึง 1 ปี

ต้องบอกว่า การลาหยุดยาวในแบบ Sabbatical Leave หรือ Career Break ไม่ใช่การ ลาออกจากงาน ไปพักผ่อน แล้วก็กลับมาหางานทำใหม่ แต่คือการได้ หยุด จากการทำงานนั้นๆ โดยอาจได้รับเงินเดือนเหมือนปกติ หรือไม่ได้รับเงินเดือนก็ได้ แต่ตำแหน่งงานยังคงอยู่ดังเดิมทุกประการ

การหยุดงานเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนมากมักเป็นคนที่ทำอาชีพประเภทอาจารย์ ครูในโรงเรียน นักเทศน์ นักเขียน นักดนตรี นักกีฬา

เพื่อนของผมคนหนึ่งเป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียนประถมของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ) เธอเล่าว่า หลังทำงานมาแล้ว 7 ปี เธอมีสิทธิที่จะได้ Sabbatical Leave เป็นระยะเวลายาวนานถึง 1 ปี โดยที่เธอจะได้รับเงินเดือนตามปกติเป็นเวลา 6 เดือน ส่วนอีก 6 เดือนที่เหลือไม่ได้รับเงินเดือน

คำถามถัดมาก็คือ เมื่อหยุดแล้วจะไปทำอะไร? คำตอบของเพื่อนคนนี้ก็คือ ผู้ที่หยุดนั้นต้องมี พันธะสัญญา กับทางโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ว่าจะไปทำสิ่งเหล่านี้

1. ไปเดินทางท่องเที่ยว

2. ไปทำงานอาสาสมัครให้สังคม (โดยไม่ได้รับเงินค่าจ้าง)

3. ไปหาประสบการณ์ในการทำงานในต่างประเทศ (ได้รับค่าจ้าง)

4. ไปศึกษาหรือฝึกหัดเพิ่มเติม

5. ไปเขียนหนังสือ

แต่โดยมากแล้ว ผู้คนก็มักเลือกที่จะ หยุด เพื่อออกเดินทาง ซึ่งเป็นทั้งการพักผ่อนและเป็นการเพิ่มประสบการณ์ในการทำงานต่อไปได้อย่างดียิ่ง

Career Break เป็นที่นิยมอย่างมากในอังกฤษ ประมาณว่า 75% ของแรงงานในอังกฤษลาหยุดแบบนี้ ทุกๆปี จึงมีคนทำงานมืออาชีพราว 90,000 คน ที่ลาหยุดยาว

ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่า คนอเมริกันนั้นทำงานหนักมากขึ้น ทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานจนลืมที่จะ ขี้เกียจ แต่ก็มีข้อมูลที่แย้งกัน เช่นในหนังสือ Myth of Rich & Poor : Why We’re Better Off Than We Think ของ ไมเคิล ค็อกซ์ และริชาร์ด เอล์ม ระบุว่า คนอเมริกันในปัจจุบันนั้นทำงานน้อยลง และมีเวลาว่างมากขึ้น

ในหนังสือเล่มนี้อ้างว่า ในปี 1870 คนอเมริกันต้องทำงานไปจนเสียชีวิต (คือไม่มีเกษียนอายุ) และใช้เวลาทำงานตลอดชีวิตอยู่ที่ 151,916 ชั่วโมง มีเวลาว่างเพียง 299,315 ชั่วโมง, ในปี 1950 ชั่วโมงทำงานลดเหลือ 96,863 ชั่วโมง แต่เวลาว่างเพิ่มเป็น 444,972 ชั่วโมง, ส่วนปี 1973 เวลาทำงานคือ 79,307 ชั่วโมง เวลาว่างคือ 448,106 ชั่วโมง และถ้าขยับมาเป็นปี 1996 ชั่วโมงทำงานลดเหลือเพียง 67,263 ชั่วโมง ส่วนเวลาว่างเพิ่มขึ้นเป็น 528,386 ชั่วโมง

นี่เป็นวิธีเข้าถึงสถิติที่แตกต่างกันเท่านั้น เพราะแม้โดยรวมทั้งชีวิต ดูเหมือนคนอเมริกันจะทำงานน้อยลง แต่ช่วงเวลาที่พวกเขาทำงาน (เช่นในช่วงวัย 20-50 ปี ซึ่งสั้นลงกว่าในปี 1870 ที่ต้องทำงานตลอดชีวิต) พวกเขาอาจทำงานเข้มข้นจนทำให้ตัวเลขของ Workweek สูงขึ้นจนน่าเป็นห่วงก็ได้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มใหญ่จากหนังสือที่มองโลกในแง่ดีเล่มนี้ก็แสดงให้เราเห็นว่า (แม้แต่) คนอเมริกัน ก็ยังมีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปตามแนวคิดของลาฟาร์ค นั่นก็คือพวกเขาหาเวลาว่างให้ตัวเองมากขึ้น หรือ ขี้เกียจ มากขึ้น แต่เป็นความขี้เกียจที่สร้างสรรค์ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อทำให้เวลาว่างนั้นเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ทางการเรียนรู้ไปด้วยในตัว

ที่สำคัญ งานวิจัยใหม่ๆระบุว่า การทำงาน สัปดาห์ละ 4 วัน (Four-day week) ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มการบริโภคโดยรวม และสร้างพลวัตให้กับระบบเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็นไปตามที่ลาฟาร์คเคยบอกไว้) เท่านั้น ทว่ายังเพิ่มระดับการศึกษาให้กับแรงงาน (เนื่องจากพวกเขาสามารถนำเวลาว่างที่เหลือไปเรียนเพิ่มเติม), ทำให้สุขภาพของแรงงานดีขึ้น (ความเครียดที่เกี่ยวกับงานลดน้อยลง และใช้เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นไปออกกำลังกาย) ทั้งยังช่วยประหยัดเงินของชาติในเรื่องการเดินทางและการใช้เงินจ้างคนมาดูแลลูกที่อยู่ที่บ้านอีกด้วย ซึ่งจะมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะลดการปล่อยคาร์บอน

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำงานแค่สัปดาห์ละ 4 วัน กลับช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตหรือ Productivity ได้มากขึ้น เพราะแรงงานสุขภาพดีขึ้น ลดความเครียด และมีคุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น

นิตยสาร Time เคยตีพิมพ์บทความในปี 1971 ระบุว่า การทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน กำลังกลายเป็นเทรนด์ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้ลด Workweek ลง เพราะแทนที่จะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 4 วัน ก็กลายเป็นทำงานวันละ 10 ชั่วโมง แทน ทำให้ Workweek เท่าเดิมคือ 40 ชั่วโมง แล้วปล่อยให้อีกสามวันที่เหลือเป็นวันพักผ่อน ที่น่าสนใจก็คือ เทรนด์นี้หายสาบสูญไปกับกาลเวลา แต่เพิ่งได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปี 2008 โดยนักวิจัยจาก Brigham Young University (โดย Lori Wadsworth และ Rex Facer จาก the Romney Institute of Public Management) ที่ระบุว่า การทำงานสัปดาห์ละสี่วัน ทำให้พนักงาน 60% มีความสามารถในการทำงานเพิ่มสูงขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกจำนวนมากที่คิดจะใช้เรี่ยวแรงและพลังงานของวัยหนุ่มสาวในการทำงานหาเงินเพื่อให้ ร่ำรวยก่อนวัยสามสิบ ตามวิธีคิดแบบอเมริกันเก่า เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้เกษียนจากงานได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่คำถามก็คือ เมื่อเราทำงานหนักมาตั้งแต่ยังหนุ่มสาว บ่มเพาะนิสัยทำงานหนัก จนงานนั้นหล่อหลอม (Internalized) เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับเราแล้ว เราจะสามารถ หยุด ได้จริงๆหรือ

ปัญหานี้เกิดขึ้นกับคนทำงานชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่ไม่อาจหยุดทำงานได้ ถึงขั้นที่พวกเขาเกิดอาการที่เรียกว่า คาโระชิ (Karōshi) หรือการ ตายเพราะทำงานมากเกินไป

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีรายงานการตายประเภทนี้ สาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจพิบัติหรือเส้นเลือดในสมองแตกเนื่องจากความเครียด โดยมักเกิดขึ้นกับผู้บริหารในองค์กรธุรกิจที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยมาก่อน แต่อยู่ๆก็เสียชีวิต ทำให้สื่อญี่ปุ่นสนใจ เพราะถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงฟองสบู่ญี่ปุ่นแตก จนต้องมีการรายงานสถิติของคาโระชิออกมาเป็นครั้งแรกโดยกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นในปี 1987

แน่นอน ญี่ปุ่นอาจมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะที่สร้างความเครียดให้กับคนทำงานมากกว่าสังคมอื่นๆ แต่ปรากฏการณ์คาโระชิก็ทำให้คำว่า Workaholic หรือการ เสพติดงาน แพร่หลาย

ที่จริงการเสพติดงานมีศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า ergomania คำนี้มักไม่ได้หมายถึงคนที่ รัก หรือ สนุก กับงานที่ตัวเองทำ แต่มักหมายถึงคนที่ จำใจ ต้องทำงานนั้นๆมากกว่า สาเหตุของการ เสพติดงาน มีมากมาย อาทิเช่น สาเหตุทางสังคมที่บีบคั้นให้ต้องแข่งขัน (อย่างในสังคมญี่ปุ่น) การทำงานไม่ทันจนต้องทุ่มเทเวลาและร่างกาย แต่โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าอาการ เสพติดงาน มีสาเหตุใหญ่มาจากคนเรา ไม่กล้าที่จะขี้เกียจ นั่นแหละ

เรามักคิดว่า การทำตัวให้ แลดู ยุ่งเข้าไว้ (รวมทั้งยุ่งจริงๆ) จะทำให้เราดูดี และผลวิจัยในเรื่องความสุขก็ระบุออกมาเช่นนั้นด้วยว่าคนที่ยุ่งอยู่ตลอดเวลานั้น มีความสุข มากกว่าคนที่ไม่มีอะไรจะทำ

ทำไม?

ก็เพราะว่าถ้าเรา กล้าที่จะขี้เกียจ เราก็จะต้องก้าวมาเผชิญกับคำถามยิ่งใหญ่ของชีวิต เมื่อเราอยู่นิ่งๆกับความเงียบ ไม่ใช่กับความสับสนวุ่นวายในการทำงาน เราก็จะอดถามตัวเองถึงเรื่องราวของชีวิตและความตายไม่ได้ และเมื่อเราถามถึงสิ่งนี้ เราก็จะค้นพบว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่จีรัง แต่เรามักทุ่มเททำงานหนัก (เกินไป) ราวกับคิดว่าทุกสิ่งที่เราสร้างสมขึ้นนั้น มันจะดำรงอยู่ไปตลอดกาล เหมือนกับเราไม่มีวันตาย

และการ คิด ถึง ความจริง แบบนี้ มักทำให้เราเป็นทุกข์ มักทำให้เรา รู้ขึ้นมากับใจของเราว่า ชีวิตนั้นเป็นทุกข์จริงๆ เราจึงมักเลี่ยงความทุกข์นี้ เพื่อหันหน้าเข้าหาการทำงานและธุระยุ่งเหยิง เพื่อให้เราไม่ต้องคิดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นคนทำงานจำนวนมากในสังคมไทยที่มักพยายาม Work Hard โดยไม่ยอม Work Smart นั่นคือพยายามทำอะไรก็ได้ ให้งานของตนวุ่นวายยุ่งเหยิงและซับซ้อน ทั้งที่มีวิธีง่ายและฉลาดกว่าในการบรรลุถึงจุดประสงค์ และทำให้ความสามารถในการผลิตสูงขึ้นได้ แต่เราก็ไม่ทำ เรายอมให้ตัวเองเผชิญหน้ากับ Pain และในหลายกรณีก็เสพติด Pain อันเกิดจากความแปลกแยกในการทำงาน เพื่อจะได้ไม่ต้องพบกับความจริงของชีวิตที่อาจย่างกรายมาหาเราในเวลาที่เราอยู่ว่างๆ

ที่จริงแล้ว ถ้าเราจะเสพติด Pain ที่เกิดจากความแปลกแยกในการทำงานเพียงลำพังคนเดียวก็ไม่กระไรนัก แต่เราจะพบว่า ผู้คนมากมายที่เป็นเช่นนี้มัก บังคับ ผู้อื่นให้ทำตามตัวเองด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีทางเลือก คนที่อยู่ในโครงสร้างด้านล่างของเรา โดยใช้ทั้งกฎหมาย การเมือง ศีลธรรม วัฒนธรรม ไปบีบบังคับคนที่ ด้อย กว่าเรา ให้ต้องทำงานหนักรายวัน โดยได้ค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด

คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสที่จะไต่บันไดทางเศรษฐสังคมขึ้นมา เพราะพวกเขาไม่มีวันมีเงินเหลือเก็บ ในเวลาที่รัฐสวัสดิการยังไม่ถือกำเนิดขึ้นจริง คนจำนวนมากจึงต้องทำงาน ทุกวัน เพื่อให้พวกเขามีเงินใช้วันต่อวัน

พวกเขาจึงไม่เคยคิดถึง เวลาว่าง ในการนั่งมองท้องฟ้า หมอบตะแคงอยู่ริมลำน้ำเพื่อดูแถวของมด หรือเฝ้ามองการบานของดอกไม้เลย

แต่พวกเขาคือมนุษย์ที่ไม่เคยมองเห็นความงามของดอกไม้และพระอาทิตย์ยามค่ำกระนั้นหรือ

ใช่หรือไม่-ที่ลึกลงไปในจิตใต้สำนึก เรามักคิดว่าคนในระดับล่างกว่าเราเหล่านั้น คือคนที่ไม่สมควรได้รับสิ่งดีๆในชีวิต เพียงเพราะพวกเขาพูดภาษาไทยไม่ชัด ไม่เคยฟังเพลงดีๆ พูดกับเราไม่รู้เรื่อง และพึงพอใจกับมือไม้ที่หยาบกร้าน เนื่องจากมันทำให้เขาทำงานใช้แรงงานได้ดีกว่ามือบอบบางและเท้าเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเรากำลังแปลกแยกจากพวกเขา และทำให้พวกเขาแปลกแยกในความเป็นมนุษย์ของตนเองด้วย

นอกจากเราจะแปลกแยกกับงานของเรา เรายังแปลกแยกกับคนอื่น และพยายามทำให้คนอื่นแปลกแยกกับงานและชีวิตของพวกเขา แต่ในเวลาเดียวกัน เรากลับเอาศีลธรรมของเราเข้าไปครอบงำ เข้าไปทำให้พวกเขาต้องอดทนมีชีวิตอยู่เพื่อรับใช้เราไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตายไปโดยไม่เคยได้สัมผัสกับชีวิตที่พึงเป็น

นี่ไม่ใช่เรื่องน่าทุเรศหรือ?

เรื่องง่ายๆที่เราทำได้ในตอนนี้ ก็คือการมองความขี้เกียจเสียใหม่ ความขี้เกียจไม่ใช่เรื่องของการ โง่ จน เจ็บ แต่ ความขี้เกียจในเชิงโครงสร้าง เป็นอะไรได้หลายอย่าง ตั้งแต่เป็นสิทธิ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเท่าเทียม ทำให้เราสุขภาพดีขึ้น ปลอดการกดขี่ และเป็นได้แม้กระทั่งความขยัน (ถ้ามองในแง่ของการสร้าง Productivity)

เราจึงควรสร้าง Political Laziness หรือทำให้ความขี้เกียจเป็นการต่อสู้ทางการเมือง หรืออย่างน้อย-ก็เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้คนอื่นๆได้ต่อสู้ต่อรองเพื่อความขี้เกียจบ้าง

เพราะความขี้เกียจสามารถพาเราไปได้ไกลกว่าที่เราเคยคิด

แบบทดสอบส่งท้าย

คำถาม :

1. เราจะทำอย่างไร ให้คนทำงาน (ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางหรือชนชั้นแรงงาน) มี เวลาว่าง มากขึ้น โดยมีรายได้เท่าเดิมหรือมากขึ้น ถ้าไม่ใช่เพื่อให้พวกเขาได้มีความเป็นมนุษย์เท่ากับเรา ก็เอาเป็นว่า-เพื่อให้ Productivity ของพวกเขาสูงขึ้น มีเวลาบริโภคมากขึ้น ทำให้เกิดพลวัตในทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็ได้

2. รัฐสวัสดิการในระบอบทุนนิยม (หรือเสรีนิยม) ประชาธิปไตยที่เราพึงมีพึงเป็น ควรมีหน้าตาอย่างไร เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไปแบบ Overwork แลก Pain รอ Pleasure ที่ไม่เคยมีอยู่จริง-ไปจนตลอดชีวิต

3. คนส่วนใหญ่อยากมีเวลาว่างมากขึ้น แต่ไม่ได้ต้องการเวลาว่างนั้นมา พากเพียรปฏิบัติธรรม หรือเอามานั่งครุ่นคิดปรัชญา คิดถึงโลกและชีวิตให้เป็นทุกข์เหมือนศาสดา กวี คีตกวี หรือนักปราชญ์กรีก ชนชั้นกลางฝรั่งตะวันตกทุ่มเทเวลาว่างไปกับงานอดิเรกอย่างจริงจัง (ซึ่งจำนวนมากกลายมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ระดับโลก) ดังนั้น เราควรพัฒนาเมืองและประเทศไปแบบไหน เพื่อให้ประชาชนมีกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่น่าสนใจและเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราเองอย่างที่เราแต่ละคนอยากจะเป็น ไม่ใช่งานอดิเรกจัดตั้ง ประเทศตะวันตกอาจมีพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หรือสวนสาธารณะ แต่เราควรมีอะไรที่เหมาะสมกับตัวตนของเรา

4. ทำอย่างไรเราจึงจะเลิกนิยาม ตัวตนของเราด้วย งานที่แปลกแยก กับตัวเอง อันเป็นเหตุให้เราเสพติดอยู่กับ Pain และไม่เคยไปถึง Pleasure แต่หันมานิยามตัวตนของเราด้วยปริมาณงานที่พอดี หรือนิยามตัวตนของเราด้วยสิ่งอื่นๆ เช่น เวลาว่าง งานอดิเรก หรือมิติอื่นๆที่มองเห็นได้ยากกว่าการขยันทำงานเพื่อหาสัญญะมาประดับตัว

5. ทำอย่างไรคนทั่วๆไปจึงจะมองเห็น ใบหน้าอื่นของความขยัน และ เรือนร่างอื่นของความขี้เกียจ เพื่อให้เราเข้าใจความขี้เกียจและความขยันได้อย่างเหมาะสม และไม่ บังคับ คนอื่นๆ ทั้งด้วยอำนาจที่มองเห็นและมองไม่เห็น เพื่อให้คนอื่นๆต้องขยันเหมือนเรา หรือขยันเพื่อจะรับใช้เรา

6. สุดท้าย ทำอย่างไร ตัวเราเองจึงจะ กล้าที่จะขี้เกียจ โดยเห็นว่านี่คือ สิทธิ ของเราอย่างแท้จริง

คำตอบ :

.........................................................................