๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

เรื่องของหัว

1

มีนิทานจะเล่าให้ฟังครับ

นิทานเรื่องที่ว่า (แอบ) หยิบยกมาจาก นิทานเวตาล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือดี ควรค่าแก่การอ่าน โชคดีที่ คุณค่าที่คุณคู่ควร เล่มนี้ ตกมาถึงมือของผมตั้งแต่สมัยเด็กๆ ทำให้ได้อ่านนิทานเวตาลมานานแล้ว


อย่างไรก็ตาม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่จะมาโอ้อวดว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลางที่มีโอกาสได้เสพหนังสือดีๆมาตั้งแต่ยังเด็กๆหรอกนะครับ สิ่งที่อยากเล่าสู่กันฟังก็คือว่า เวลาเราหยิบหนังสือที่เคยอ่านสมัยเด็กๆมา อ่านใหม่ นั้น เรามักจะพบอะไรแปลกใหม่ไม่คาดคิดเสมอ


การอ่านนิทานเวตาลครั้งใหม่นี้ก็เช่นกันครับ!


นิทานเวตาลสมัยที่ผมอ่านตอนเป็นเด็กๆนั้น เป็นสำนวนแปลของ น.ม.ส. ซึ่งแปลไว้เพียง 10 เรื่อง จากต้นฉบับทั้งหมด 25 เรื่อง ขณะที่นิทานเวตาลฉบับใหม่ที่นำมา อ่านใหม่นี้ มีอยู่ด้วยกันครบถ้วนทั้ง 25 เรื่อง (แปลโดย ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา) ซึ่งคงต้องบอกเล่ากันเสียหน่อย (เผื่อใครยังไม่รู้) ว่านิทานเวตาลเป็นเรื่องของกษัตริย์วิกรมาทิตย์ ที่ถูกโยคีลวงโลกหลอกให้ไปแบกศพมาทำพิธี ปัญหาก็คือ ทุกครั้งที่ไปแบกศพมา เวตาลจะเข้าสิงสู่ศพนั้นเสมอ จากนั้นเวตาลจะเอ่ยปากเล่านิทานโดยมีข้อแม้ว่ากษัตริย์จะต้องไม่พูดอะไรตอบแม้แต่คำเดียว ถ้ากษัตริย์พูดตอบเมื่อไหร่ ศพจะกลับไปอยู่ที่เดิมให้กษัตริย์ต้องตามไปแบกมาใหม่ร่ำไป


อ่านแล้วผมสะดุดใจกับนิทานอยู่เรื่องหนึ่งครับ


มันเป็นนิทานเรื่องที่ 6


ในเรื่องนี้ เวตาลเล่าถึงชายชื่อธนวละ ที่หลงรักนางมัทนสุนทรี จนได้แต่งงานกัน และมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข แต่อยู่มาวันหนึ่ง น้องเมียของธนวละ (ซึ่งก็คือน้องชายของมัทนสุนทรี) เกิดมาเยี่ยมที่บ้าน และเชิญทั้งสองกลับไปร่วมพิธีฉลองที่บ้านเก่าของนางมัทนสุนทรี ทั้งคู่จึงออกเดินทางเพื่อกลับบ้าน


เรื่องน่าประหลาดเกิดขึ้นตรงนี้เองครับ ตรงที่ระหว่างทางกลับบ้านนั้นมีเทวาลัยของพระทุรคาเทวีอยู่ข้างทาง ธนวละก็เกิดอยากเข้าไปบูชา แต่ก็ติดอยู่ที่ว่า ทั้งสามคนล้วนแต่มามือเปล่า ไม่มีใครมีเครื่องบูชาอะไรติดไม้ติดมือมาด้วยเลย ถ้าเข้าไปบูชาแล้วจะทำอย่างไรดี


ธนวละก็เลยบอกว่าจะเข้าไปก่อน แต่พอบูชาไปบูชามา ก็เกิดคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรมาบวงสรวงพลีกรรมให้เจ้าแม่เลยสักนิดเดียว เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยเอาดาบมาฟันฉับเข้าที่หัวตัวเอง ทำให้หัวขาดกลิ้งหล่นลงบนพื้น ตายสนิทเพื่อเป็นเครื่องบูชา


ฝ่ายน้องเมียของธนวละรอไปรอมา ไม่เห็นธนวละออกมาเสียที ก็เลยเข้าไปตามดู อีตานี่ก็ประหลาดครับ เพราะพอเข้าไปเห็นปุ๊บว่าพี่หัวขาดนอนตายอยู่ปั๊บ ก็จัดการเอาดาบมาตัดหัวของตัวเองขาดกลิ้งตายตกไปตามกันทันที ในนิทานอธิบายว่า เป็นไปด้วยความประหลาดใจ


ทีนี้ก็เหลือแต่ผู้หญิงสิครับ ผู้ชายตายกันหมดแล้วนี่ นางมัทนสุนทรีที่นั่งรอแล้วรอเล่าเฝ้าแต่รออยู่นอกเทวาลัย ไม่รู้จะทำฉันใด เธอก็เลยตัดสินใจตามคนทั้งสองเข้าไปข้างในเทวาลัย พอเข้าไปเห็นศพของสามีและน้องชายนอนกลิ้งอยู่อย่างไร้หัว ก็ตกใจชีวิตแทบจะออกจากร่าง


ตายแล้ว เกิดอะไรขึ้นนี่ ข้าต้องถึงความฉิบหายแน่ๆ เธอร้องออกมาพลางร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเสียใจ


คุณคิดว่านางมัทนสุนทรีจะทำอย่างไรต่อไปครับ?


ถูกต้องแล้วคร้าบ-เธอตัดสินใจฆ่าตัวตายตามสองหนุ่มนั่นไปเหมือนกัน แต่ก่อนจะฆ่าตัวตาย เธอกล่าวสดุดีกึ่งตัดพ้อต่อเจ้าแม่ แล้วก็ขอต่อไปอีกว่า ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร ก็ขอให้ชายหนุ่มสองคนนี้ไปเกิดเป็นสามีและน้องทุกๆชาติไป จากนั้นเธอก็เอาเถาวัลย์มาทำเป็นบ่วง คิดว่าจะผูกคอตาย


ฉับพลันทันใดนั้น ก็มีเสียงลอยมา เป็นเสียงเจ้าแม่หรือพระเทวีที่เป็นต้นเหตุทั้งหมดนั่นแหละครับ เจ้าแม่บอกว่าพอใจกับความกล้าหาญของมัทนสุนทรี ก็เลยจะให้พร ขอให้คนทั้งสองกลับมามีชีวิตได้ใหม่ ขอให้นางมัทนสุนทรีเอาหัวกับร่างมาต่อกันแล้วทำพิธี


ปัญหาก็คือ เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว ปรากฏว่านางมัทนสุนทรีดันต่อหัวผิด เอาหัวผัวไปต่อตัวน้อง เอาหัวน้องไปต่อกับตัวผัว


ดังนั้น เวตาลจึงถามกษัตริย์วิกรมาทิตย์ว่า-เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้ว ใครควรจะเป็นสามี ใครควรจะเป็นน้อง


กษัตริย์ตอบว่า


ในสองคนนี้คนใดก็ตามมีศีรษะของชายผู้เป็นสามีติดอยู่ ก็คนนั้นแหละควรเป็นสามีแท้ๆของนาง เพราะหัวเป็นส่วนสำคัญที่สุดของร่างกาย และเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราจำได้ว่าใครเป็นใคร การที่จะชี้ว่าใครเป็นใครก็ต้องดูที่หัวของคนคนนั้นแหละ


ดังนั้น เวตาลจึงชนะ กษัตริย์ต้องกลับไปแบกศพมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง


นิทานเรื่องที่หกจบลงเพียงเท่านี้


2

แล้วผมมาเล่านิทานให้คุณฟังทำไม?


เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่ออ่านนิทานเรื่องนี้จบปุ๊บ ผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาทันทีว่าตอนที่อ่านสมัยเด็กๆ ผมเกิดความสงสัยเหมือนที่กำลังสงสัยอยู่หรือเปล่า-หรือว่าไม่สงสัย


สงสัยอะไร?


ก็สงสัยว่า คำตัดสินของกษัตริย์วิกรมาทิตย์นั้น เป็นคำตัดสินที่ถูกต้องเที่ยงแท้แน่นอนและชอบธรรมจริงหรือ


ถ้าเราพูดถึง ปริมาณ (แบบประชาธิปไตย!) ร่างกายย่อมมีปริมาณเซลล์มากกว่าหัว แต่แน่ละ หัวย่อมเป็นที่ตั้งของสมอง ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้ร่างกายทำสิ่งต่างๆ แต่หัวมีปริมาณเซลล์น้อยกว่าร่างกายแน่ๆ ที่สำคัญก็คือ ร่างกายย่อมเป็นผู้ ย่อย อาหารนำมาหล่อเลี้ยงหัว (แม้ว่าอาหารจะเข้าสู่ร่างกายทางปากที่ตั้งอยู่บนหัวก็ตามที) และหัวก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้หากปราศจากร่างกาย ในทางกลับกัน ร่างกายก็ดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากหัว เพราะฉะนั้น การตัดสินใจในฉับพลันทันทีว่าหัวคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของร่างกาย จึงออกจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยสำหรับผม


มันทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ฤาชะรอยจะเป็นเพราะผู้ตัดสินเป็นกษัตริย์ (คือกษัตริย์วิกรมาทิตย์) จึงเอ่ยปากขึ้นมาว่าหัวสำคัญกว่าร่างกาย สำแดงอาการ กษัตริย์นิยมออกมาให้เราเห็นชัดๆ


การสำแดงอาการที่ว่าออกมานั้น ต้องขอย้ำว่าเป็นการสำแดงโดยไม่ได้ คิด นะครับ เพราะในต้นฉบับก็บอกไว้ว่าเป็นการเผลอพระองค์ตรัสออกไป และที่สำคัญก็คือ ถ้า คิดสักนิด ก็จะไม่พูด เนื่องจากถ้าพูดก็แปลว่าเวตาลจะชนะ ต้องย้อนกลับไปแบกศพใหม่อีกครั้ง แต่การพูดโพล่งเผลอออกมานั้น นอกจากจะเผยให้เห็นอาการกษัตริย์นิยมแล้ว ยังทำให้เราเห็นว่ากษัตริย์วิกรมาทิตย์เคยชินกับการเป็น ตุลาการ ตัดสินสิ่งต่างๆตามธรรมเนียมของกษัตริย์โบราณที่มีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินคดีความต่างๆทุกเรื่องด้วย แม้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ ไม่ปกติ (อย่างเช่นมีศพที่ถูกเวตาลสิงอยู่บนบ่า) ก็ยังคิดว่าจะต้องตัดสิน แม้ว่าสิ่งที่ต้องตัดสินนั้นจะเป็นแค่ เรื่องสมมุติ อย่างนิทานหลอกเด็กของผีเวตาลก็ตามที


สำหรับผม ผมก็แค่สงสัยเท่านั้นเองว่าเรื่องราวต่างๆมันตัดสินกันได้ง่ายๆเหมือนในนิทานเวตาลจริงๆหรือ ในกรณีนี้ ถ้าเรา น้อมรับ คำตัดสินของกษัตริย์วิกรมาทิตย์ ผู้รับเคราะห์ทั้งหมดของเรื่องก็คือนางมัทนสุนทรี เพราะแม้นางจะได้จูบกับหัวผัว แต่ถ้าเกิดกรณีจะต้องร่วมเพศกัน (ทั้งคู่ยังไม่มีลูก จึงอาจต้องร่วมเพศกันเพื่อให้ได้ลูกตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ-นี่ตัดความต้องการทางเพศของผู้หญิงทิ้งไปแล้วนะครับ) นางจะต้องตะขิดตะขวงใจเป็นแน่แท้ ที่จะปล่อยให้จู๋ของน้องชายล่วงล้ำเข้ามาในร่างกายของนางเอง (เว้นแต่นางจะเป็น incest!)


อย่างไรก็ตาม นางมัทนสุนทรีไม่ใช่ผม เธอจึงไม่น่าจะเดือดร้อนคิดมากอะไรนักหนา เพราะขนาดทั้งน้องทั้งผัวตายลงเพราะสังเวยพระเทวี นางยังร่ำร้องขอพรพระเทวีอยู่เลย เพราะฉะนั้น ถ้านางออกจากนิทานมาเจอคำตัดสินของกษัตริย์วิกรมาทิตย์ นางก็คงน้อมรับคำตัดสินนั้นได้โดยดุษฎีเช่นกัน


ว่าแต่ว่า, แล้วถ้าเป็นคุณล่ะครับ คุณจะตัดสินใจอย่างไร?

กล้องถ่ายรูปและมาคิอาเวลลี

1

คุณเคยไปไหนมาไหนแล้วเจอฝูงของ นักถ่ายรูป บ้างไหม


ผมเคยได้ยินมาว่า ครั้งหนึ่ง มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นลุกขึ้นมาชกหน้า นักถ่ายรูป ชาวไทยของเรา ได้ยินแล้วออกจะเคืองนิดหน่อย เพราะนักถ่ายรูปชาวไทยที่ว่าให้ปากคำเอาไว้ในเว็บบอร์ดว่า เขาถ่ายแต่รูปของร้านกาแฟที่มีคนญี่ปุ่นนั่งอยู่เท่านั้น ไม่ได้ถ่ายคนญี่ปุ่นเสียหน่อย ทำไมคนญี่ปุ่นต้องหวงแหนใบหน้าของตัวเองอะไรจะขนาดนั้น ถึงขั้นต้องทำร้ายร่างกายกันเลยหรืออย่างไร


อีกเรื่องหนึ่งที่เคยเห็นอยู่ในเว็บบอร์ดก็คือ มี นักถ่ายรูป ชาวไทยของเราดั้นด้นไปกินอาหารในร้านราคาแพงแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ แล้วก็ควักกล้องขึ้นมาถ่ายกันอย่างละเอียดละออ ทั้งตัวร้านไปจนถึงหน้าตาของอาหารการกิน แต่พนักงานเดินเข้ามาห้าม บอกว่าทางร้านไม่มีนโยบายให้ใครมาถ่ายรูปอย่างนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน


เล่นเอานักถ่ายรูปฉุนขาด ต่อว่าต่อขานทางร้านว่านี่จะเอารูปไปลงในเว็บบอร์ดให้เชียวนะ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านไปในตัว ทำไมร้านถึงไม่ยอม แล้วเขาเสียเงินซื้ออาหารมาแล้ว จะถ่ายของของตัวเองแล้วใครจะทำไม


เมื่อเอามาเล่าในบอร์ด ปรากฏว่านักถ่ายรูปรายนั้นถูกเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในเว็บบอร์ดรุมประณามยกใหญ่ว่าถ้าร้านไม่ให้ถ่ายก็ไม่ควรถ่าย


แต่กระนั้นก็ยังมีบางรายเข้ามาเห็นด้วยกับนักถ่ายรูป และประณามร้านแห่งนั้น


ตั้งแต่กล้องดิจิตอลเข้ามาแทนที่กล้องฟิล์มอย่างเป็นทางการและถาวร ผมพบว่า ไม่ว่าจะไปไหน (โดยเฉพาะในที่สวยๆ หรือในฤดูเทศกาล) ผมจะพบ กองทัพ ของนักถ่ายรูปบุกตะลุยสถานที่เหล่านั้นอยู่เสมอ โดยมักจะมีกล้องกันคนละตัวสองตัว บางคนก็ถือขาตั้งกล้องทั้งที่เป็นเวลากลางวันสว่างโร่ แต่ส่วนใหญ่แล้ว นักถ่ายรูปมักจะเป็นผู้ชายที่เดินทางมากับเพื่อนผู้หญิง (ที่อาจเป็นแฟนหรือไม่ใช่ก็ได้) แล้วเขาและเธอก็มักจะตระเวนหามุมสวยๆถ่ายรูปกันเสมอ อาทิเช่น เอาหน้ายื่นเข้าไปแนบดอกกุหลาบ (ที่อาจจะเพิ่งฉีดยาฆ่าแมลงมาเมื่อเช้า) ยืนเอามือจิ้มภูเขา (ที่จริงไม่ได้จิ้ม แต่เมื่อทำมือแบบนั้นแล้ว มุมภาพที่ออกมาจะเหมือนเธอกำลังจิ้ม!) อ้าปากกว้างเหมือนกำลังกินกวางดาวในป่าฝน (ที่จริงก็ไม่ได้กินอีกนั่นแหละ แต่เมื่ออ้าปากแล้ว มุมภาพทำให้กวางดาวมาอยู่ในปาก) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักพยายามถ่ายรูปให้ออกมาเหมือนเว็ดดิ้งสตูดิโอให้มากที่สุด


ไม่น่าแปลกใจเลย ที่ธุรกิจถ่ายรูปจำพวกเว็ดดิ้งหรือถ่ายรูปแพ็กเกจจะมีราคาสูงลิบลิ่วถึงเป็นแสนๆบาท ก็เพราะพวกเราชอบเอาหน้าของตัวเองไป แปะ ลงกับฉากสวยๆนั่นเอง และส่วนใหญ่แล้ว ถ้าใช้กล้องดิจิตอลป๊อกแป๊กถ่ายด้วยฝีมือป๊อกแป๊ก ภาพที่ออกมาก็มักจะป๊อกแป๊กไปด้วย ถ้าจะไม่ให้ป๊อกแป๊ก แต่ ดูเหมือน ถ่ายโดยมืออาชีพ ได้ใส่ชุด ได้แต่งหน้า ก็ต้องแวะไปสตูดิโอถ่ายภาพ


ดังนั้น แต่เดิมเมื่อได้เห็นกองทัพ นักถ่ายรูป ตระเวนกันไปถ่ายตามร้านสวยๆแถวเขาใหญ่กันกรูเกรียวจนน่าขนลุกอะไรทำนองนี้ ผมจึงมักรู้สึกยินดีที่คนไทยผู้รักการถ่ายรูปจะได้ฝึกปรือฝีมือกันเป็นการใหญ่ เขาและเธอจะได้ไม่ต้องเสียดุลในกระเป๋าให้กับร้านถ่ายรูปมากนัก


แต่แล้วในยามสายวันหนึ่ง ณ ร้านกาแฟ+ร้านอาหารสวยแห่งหนึ่งบนเขาใหญ่ ผมก็ต้องตกใจแทบล้มประดาตาย เมื่อได้พบว่าส่วนใหญ่แล้ว กองทัพช่างภาพเหล่านี้สนใจก็แต่ ภาพ ที่จะได้ แต่ไม่สนใจ วิธีการ ให้ได้มาซึ่งภาพนั้นเลย


วันนั้น คนหลายร้อยไปกองกันอยู่ที่ร้านกาแฟที่ร่ำลือกันว่าสวยแห่งนั้น แล้วทุกคนก็แทบจะทุบถองเบียดเสียดยัดเยียดกันถ่ายกรอบหน้าต่างบานซ้ำ วิวสวยที่เดิมที่เพิ่งถูกถ่ายจนช้ำ ซึ่งจะแย่งกันจนถึงขั้นตบตีผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะครับ ถ้าหากผมจะไม่สังเกตพบว่า คนเป็นร้อยๆที่ยัดเยียดกันเข้ามา ถ่าย ในร้านกาแฟแห่งนั้นน่ะ ราวๆ 80% เข้ามา ถ่าย กันอย่างเดียว แต่ไม่ได้ควักกระเป๋าซื้อหาอะไรในร้านเขาสักนิด แต่ทำตัวกันราวกับเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายนักถ่ายรูป กรูเกรียวกันถ่ายมุมนั้นมุมนี้ไม่มีหยุดกินกาแฟ ถ่ายเสร็จสาสมใจแล้วก็จูงมือกันกลับ


ผมยืนสั่งกาแฟอยู่หน้าเคาน์เตอร์ แต่ก็มีคนอีกราวสามร้อยคนในความรู้สึก พากันเบียดเสียดเยียดยัดเข้ามากองหน้าเคาน์เตอร์ ไม่ใช่เพื่อสั่งกาแฟ แต่เพื่อถ่ายรูป ถ่ายเสร็จแล้วก็ไป


เห็นแล้วผมอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่คือ วิธีคิด พื้นฐานของเราชาวไทยจริงๆหรือ?


2

เมื่อเอาตัวรอดกลับมาจากกองทัพนักถ่ายรูปได้สำเร็จแล้ว ผมรู้สึกกับตัวเองอยู่ลึกๆว่า ดูเหมือนเวลานี้ บ้านเราจะมีแต่คนเชื่อว่า The Results always justify the means. หรือ ผล เป็นตัวการตัดสิน วิธีการ กันไปเสียหมดแล้ว


นักถ่ายรูปข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่ตัวอย่างที่เราเพิ่งเห็นกันหยกๆก็คือเรื่องของฝ่ายพันธมิตรกับคนรักทักษิณ ไล่เรื่อยไปจนถึงนักลากตั้งจัดตั้งรัฐบาล


ถ้าฝ่ายพันธมิตรเชื่อว่า ฝ่ายทักษิณเป็นคนเลว ก็ควรย้อนกลับไปดูการกระทำของตัวเองว่า วิธีการในการเรียกร้องของตนมีความสะอาดหมดจดมากน้อยแค่ไหน และการประกาศชัยชนะนั้นน่าตลกเพียงใด ในเวลาเดียวกัน ถ้าคนรักทักษิณคิดว่าฝ่ายพันธมิตรเลว ก็ต้องย้อนกลับไปดูสาเหตุตั้งต้นด้วยว่าการทุจริตที่เป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดมาจากใคร แต่ที่สุดของที่สุดก็คือ นักลากตั้งที่พยายามตั้งรัฐบาลกันนั้น ดูเหมือนจะพยายามไปให้ถึงจุดหมาย คือการได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น จะผสมพันธุ์กับใครหน้าไหนก็ช่างมัน-ฉันไม่แคร์


คล้ายว่า ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า เอาเหอะ จะใช้วิธีไหนก็ได้ล่ะวะ เพราะเมื่อกูชนะ เมื่อกูหันกลับมามองดูวิธีการที่กูใช้ มันย่อมเป็นวิธีการที่ถูกต้องเสมอ


ผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์-พวกเขาเชื่ออย่างนั้น


ผมว่ามันเป็นความเชื่อที่ห่วย!


แต่ที่ห่วยยิ่งไปกว่า ก็คือความคิดแบบนี้ไม่ได้เป็นความคิดของนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นความคิดของคนไทยทั่วๆไปด้วย และที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนที่สุดในหน้าเทศกาล ก็คือการตระเวนถ่ายรูป แล้ว ทำอย่างไรก็ได้ ให้ใบหน้าของคนที่ตัวเองถ่ายไปแปะอยู่บนวิวช้ำๆสวยๆทั้งหลาย


ผลก็คือ เราได้กองทัพนักถ่ายรูปที่ไม่มีความเกรงใจคนอื่น ถ่ายข้ามหัวคนอื่น ถ่ายรูปโดยไม่มีความเคารพต่อเจ้าของสถานที่ เอะอะเฮฮาสนุกสนานเพราะถือว่าเป็นวันพักผ่อนของฉัน ไม่เกรงใจคนอื่นๆที่มาใช้สถานที่เดียวกัน (ผมไม่แปลกใจอีกแล้ว ที่นักถ่ายรูปบางคนจะถูกนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นลุกขึ้นมาตั๊นหน้า หรือร้านบางร้านจะต้องออกกฎถึงขั้นสั่งห้ามถ่ายรูป!)


เราไม่พบนักถ่ายรูปที่ละเอียดประณีตอีกต่อไป ไม่เหมือนเมื่อนักถ่ายรูปยังใช้กล้องฟิล์มอยู่ พวกเขาต้องเล็งแล้วเล็งอีก กว่าจะกล้ากดชัตเตอร์


หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว เรื่องราวทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงเพราะเรื่องเงิน-เพราะฟิล์มมันแพงจึงต้องประหยัด แต่จิตสำนึกนั้นราคาถูกพอๆกับพิกเซลในกล้องดิจิตอล!



3

วิธีคิดแบบ ทำอย่างไรก็ได้ ด้วยวิธีไหนก็ได้-ให้ชนะ นั้น มักว่ากันว่าเป็นวิธีคิดแบบมาคิอาเวลเลียน (มาจากชื่อของนิโคโล มาคิอาเวลลี นักปรัชญาการเมืองอิตาลี) แต่ขนาดมาคิอาเวลลีก็ยังเน้นย้ำเรื่อง virtue หรือคุณธรรมในทางการเมือง (ที่ไม่เหมือนคุณธรรมทางศาสนา) นั่นก็คือการใช้ทั้งกำลังอำนาจและความ อดทน สุขุม ไตร่ตรอง ร่วมกัน มาคิอาเวลลีบอกไว้ว่า ผู้ปกครองที่ดีนั้น ต้องทำตัวเป็นทั้งสิงโตและหมาจิ้งจอก


ผมอยากรู้ว่า ณ นาทีนี้ เราเห็นใครเป็นสิงโตได้บ้างไหม-ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง, นักต่อสู้เรียกร้อง, นักถ่ายรูป,


หรือว่าเห็นแต่หมาบ้า!

มืด vs สว่าง

1

ระยะหลังมานี้ ผมได้ยินคนนำคำสอนเรื่องเกี่ยวกับมืดและสว่างในพุทธศาสนามาเผยแพร่อยู่บ่อยครั้ง


ได้ยินแล้วผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาตะหงิดๆ ว่าการนำคำสอนเหล่านี้มาพูดกันแบบ ง่ายๆ นั้น จะทำให้เรา งงๆ และเผลอไผลเข้าใจผิดไปได้ ง่ายๆ ไหม


ผมคิดว่า อะไรที่สอนสั่งกันอย่าง ง่ายๆ ก็มีโอกาสมากมายไม่น้อย ที่จะเข้าใจผิดกันได้ ง่ายๆ ไม่น้อย


โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่คนไทยเรียกว่า ธรรมะ


เรื่องของความมืดและสว่างนี้ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น!


2

เรื่องของเรื่องก็คือ คำสอนที่ว่า เป็นคำสอนเกี่ยวกับมนุษย์เรา ว่ามีอยู่ด้วยกันสี่จำพวก


จำพวกแรกก็คือ มืดมา-มืดไป, จำพวกที่สองคือ มืดมา-สว่างไป, จำพวกที่สามคือ สว่างมา-มืดไป และสุดท้ายก็คือ สว่างมา-สว่างไป


แล้วก็มีการอธิบายกันไปต่างๆนานา โดยคำอธิบายที่ ป๊อบฯ ที่สุด ก็คือคำอธิบายที่อ้างว่านำมาจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย (คำว่า อังคุตตรนิกาย นั้น มีผู้เขียนผิดเป็น อังคุตรนิกาย เยอะทีเดียวครับ แถมบางคนก็เข้าใจผิดนึกว่าเป็น นิกาย อะไรสักอย่าง จริงๆแล้วหมายถึงชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่า นิบาต ภาษาอังกฤษบอกว่าหมายถึง Collection of Numerical Sayings เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็น นิกาย หรือ sect ทางศาสนาแบบนิกายต่างๆอะไรทั้งนั้นหรอกนะครับ)


คำอธิบายนั้นบอกว่า คนที่ มืดมา ก็คือพวกที่เกิดในตระกูลต่ำ หรือไม่ก็เป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ เตี้ยแคระ มีโรค ตาบอด เป็นง่อย หรือพิการ อะไรทำนองนี้


ส่วนพวก สว่างก็คือคนที่เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีเงินทอง มีข้าวของเครื่องใช้ หน้าตาดี รูปร่างสะสวย ผิวพรรณงดงาม มียวดยาน ดอกไม้ เครื่องหอมอยู่มาก


ทีนี้ถ้า มืดมา-สว่างไป ก็คือพวกตระกูลต่ำ หรือหน้าตาไม่ดี หรือพิการ ฯลฯ แต่เกิดประพฤติสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ พอตายไปก็เลยเรียกว่าได้ สว่างไป มีสว่างไปภายหน้า อะไรอย่างนี้เป็นต้น


ได้ฟังคำอธิบายทำนองนี้ ปัญหาของผมมันก็เกิดขึ้นสิครับ!


ปัญหาของผมก็คือ ผมคิดว่า คำอธิบาย มืดๆสว่างๆ อะไรพวกนี้ เป็นคำอธิบายของสังคมอินเดียสมัยด้อยปัญญาน่ะสิครับ


อ๊ะ! อย่าเพิ่งกล่าวหาว่าผมไม่เชื่อฟังพระพุทธเจ้า (หรือพุทธพจน์) เชียวนา เพราะผมคิดว่า คำอธิบายแบบนี้อาจจะใช้ได้ในยุคสมัยที่อินเดียแบ่งวรรณะกันอย่างเข้มข้น ทำให้ใครเกิดมาเป็นจัณฑาล ก็ต้องถือว่า มืด เสียยิ่งกว่ามืด หรือใครเกิดในตระกูลกษัตริย์ ก็พอกล้อมแกล้มบอกว่าเกิดมา สว่าง ได้อยู่หรอก


แต่เมื่อนำมาพูดในยุคสมัยปัจจุบัน ยุคสมัยแห่งวัตถุนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยม โดยนำมาทื่อๆเหมือนเดิม ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง


อันตรายตรงไหนหรือครับ?


ผมเคยได้ยินคนนำมาพูด นำมาอธิบายทางวิทยุในแบบที่ว่าเปี๊ยบ มันเป็นคำอธิบายแบบ ง่ายๆ ซึ่งชวนให้คิดเป็นอย่างยิ่งว่า คำสอนนี้ได้วาง เป้าหมาย ของชีวิตเอาไว้ที่วัตถุ หรือสิ่งที่อยู่ภายนอก ซึ่งก็มีตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ชาติตระกูล หรือทรัพย์สมบัติ ซ้ำร้ายที่สุด ยังเป็น แส้ ที่เอาไว้โบยตีคนที่อยู่ในโครงสร้างสังคมชั้นล่างด้วย เรียกว่าถ้าเผลอเกิดมาหน้าตาชั่ว ฐานะยากจน หรือพิการละก็ ก็แปลว่าชาติก่อนคุณน่ะ ได้ทำกรรมชั่วเอาไว้ ถึงได้ มืดมา อย่างนี้ ซึ่งก็สอดรับกับวิธีคิดแบบ พุทธไทย โดยทั่วไปไม่น้อย


วิธีคิดแบบนี้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาอย่างน้อยก็สองอย่างครับ


อย่างแรกก็คือ มันเป็นวิธีคิดที่ช่วยค้ำจุน โครงสร้าง ทางสังคมแบบแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน นั่นคือเป็นการช่วยสร้างความ ชอบธรรม ให้กับคนที่อยู่ ด้านบน ของโครงสร้างสังคม ใครเกิดมารวย เกิดมาในตระกูลสูง ก็แปลว่าพวกเขา ชอบธรรม แล้ว เนื่องจากชาติที่แล้วทำดีมา เพราะฉะนั้น ถ้าคิดอย่างนี้ ก็เลิกได้เลยครับ ไม่ต้องไปคิดเรื่องภาษีมรดก หรือภาษีที่ดินหรอก ก็มันเป็นเรื่อง บุญทำกรรมแต่ง นี่นา


อย่างที่สองก็คือ มันเป็นวิธีคิดที่เอาไว้ใช้ ควบคุม คนชั้นล่างที่ดันเกิดมาจน หน้าตาก็ไม่สะสวยพอจะไปเป็นดาราหาเงินได้ แถมยังนับรวมไปถึงคนพิการหรือป่วยอีกต่างหาก ว่าคนเหล่านี้ก็ควรจะ ประพฤติดี เข้าไว้ ซึ่งการ ประพฤติดี ย่อมนับรวมไปถึงการไม่ลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องสิทธิของตัวเอง แม้ว่าจะถูกยึดที่ดินทำกิน หรือถูก โครงสร้าง ดูดกลืนเอาทรัพยากรของตัวเองไปมากแค่ไหนก็ตาม แต่เพื่อจะ สว่างไป ก็ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวทำตนเป็น คนดี เข้าไว้


พูดง่ายๆก็คือ อยากมีชีวิตที่ดีกว่าหรือ...รอชาติหน้าเถอะพี่!


ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทำใจให้เชื่อได้ยาก ว่าคำสอนที่ว่านี้ เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง!


3

โชคดีอย่างยิ่ง ที่ผมไปค้นอังคุตตรนิกายเพิ่มเติม แล้วก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมาอย่างหนึ่ง


เรื่องน่าสนใจที่ว่าก็คือ เคยมีพราหมณ์ชื่อ สิขาโมคคัลลานะ เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าด้วยคำถามที่ผมว่าสุดแสนจะทันสมัย ท้าทาย และคลาสสิคเป็นที่สุด


พราหมณ์ถามคล้ายๆกับว่า พระพุทธเจ้าเคยสอนเรื่องการไม่ทำกรรม เพื่อให้ดับสูญหรือถึงนิพพาน แต่เมื่อสอนอย่างนี้แล้วจะดีหรือ เพราะว่าโลกนั้นย่อมมีกรรมเป็นสภาพ พูดง่ายๆก็คือ โลกดำรงอยู่ได้ก็ด้วย กรรม นี่แหละ


พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสตอบ ด้วยเรื่องของกรรม ว่ากรรมนั้นมีอยู่ 4 อย่าง คือกรรมดำ, กรรมขาว, กรรมที่มีทั้งดำทั้งขาว และสุดท้ายก็คือ กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว


พวกที่ทำกรรมดำ ก็ย่อมได้วิบากดำ เช่น เบียดเบียนคนอื่น ก็ต้องได้เสวยเวทนาที่เป็นทุกข์ เหมือนสัตว์นรก, พวกที่ทำกรรมขาว ก็ย่อมได้วิบากขาว พระองค์ตรัสว่า เป็นสุขโดยส่วนเดียว เหมือนพวกเทพ, ส่วนคนที่ทำทั้งกรรมดำกรรมขาว (อันเห็นจะเป็นคนส่วนใหญ่ในโลก!) ก็จะได้วิบากทั้งดำบ้างขาวบ้าง พวกนี้ก็คือมนุษย์นี่แหละครับ


แต่ที่น่าสนใจสุดๆเลยก็คือกรรมประเภท ไม่ดำไม่ขาว เพราะนี่คือ กรรม ที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการ พ้น ไปจากวิธีคิดแบบ ทวิลักษณ์ หรือวิธีคิดแบบสองขั้ว คือดำ-ขาว (หรือมืด-สว่าง) ว่าเราจะพ้นไปจากกรรมได้ ก็ต่อเมื่อมีกรรมที่เป็นแบบไม่ดำไม่ขาว ซึ่งก็คืออาการ ไม่ผลักไส-ไม่ใฝ่หา ตามคำ (และชื่อหนังสือ) ของพระไพศาล วิสาโล นั่นเอง


4

เรื่องกรรมดำ-กรรมขาว ทำให้ผมได้ข้อสรุปเรื่อง มืดมา-สว่างไป ว่าอย่างนี้ครับ


ถ้าเราอยากให้เรื่อง มืดมา-สว่างไป เป็นเรื่องที่ สว่าง จริงๆ ไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอวิชชาทางสังคม (โดยไม่รู้ตัว!) ไม่ว่าจะแบบอินเดีย (ที่ยึดชนชั้นชาติกำเนิดเป็นใหญ่) หรือแบบทุนนิยม (ที่ยึดวัตถุทรัพย์สินเป็นใหญ่) ผมคิดว่าเราต้องตีความคำว่า มืดมา-สว่างไป เสียใหม่ครับ


การตีความที่ว่าก็คือ ใครก็ตามที่มีความ อยากสว่าง อยู่ในตัว (ไม่ว่าความสว่างนั้นจะหมายถึงการได้เกิดใหม่มีรูปร่างหน้าตาดี มีทรัพย์สมบัติมาก หรือแม้แต่ความสว่างที่หมายถึงสติปัญญา การเป็น คนดี หรือแม้แต่การ อยากนิพพาน) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพวก มืดมา ทั้งสิ้น


เพราะ ความอยาก ล้วนเป็นสมบัติของความมืด-ไม่ว่าจะ อยาก อะไรก็ตาม


โดยเฉพาะอยากสว่าง’ !


คนจำพวกเดียวที่จะ สว่างมา และ สว่างไป ได้ ก็คือคนที่ไปพ้นจากความ อยากสว่าง รวมถึงความ อยากมืด (ซึ่งจำพวกหลังนี้เห็นได้ง่ายว่าเป็นปัญหามากกว่าคนประเภท อยากสว่าง มากนัก) เพราะความ อยากสว่าง เอง ก็เป็นอวิชชา หรือเป็น ignorance ในตัวของมันเองด้วย


ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ คำสอนแบบ มืดมา-สว่างไป ที่พูดกันนั้น เป็นคำสอนแบบจริยธรรมพื้นๆ ที่มีเป้าหมายในการควบคุมสังคมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งก็มีปัญหาขัดแย้งในตัวของมันเองอยู่ สิ่งที่ยากกว่า น่าสนใจกว่า และน่าจะช่วยแก้ปัญหาในการ อยู่ร่วม และ ไปพ้น ของเราได้มากกว่า ก็คือการทำความเข้าใจและไปให้พ้นจากวิธีคิดแบบสองขั้ว ขาว-ดำ, มืด-สว่าง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงชี้แนะเอาไว้แล้วอย่างลึกซึ้ง


ถ้าเรายึดคำสอนแบบจริยธรรมพื้นฐาน เราก็เป็นได้เพียง พุทธวิคตอเรีย หรือ พุทธอินเดียโบราณ ซึ่งกล้อมแกล้มรวมกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ


แต่ไม่ใช่พุทธที่ปลอดพ้น!

ความตายบนทางม้าลาย

1

เป็นเรื่องแปลกไหม ที่ใครสักคนหนึ่งจะถูกรถชนตายบนทางม้าลาย


คงไม่แปลก ถ้าเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ...หรือประเทศไทย


ทุกวันนี้ ผมเรียกตัวเองว่าเป็น คนเดินถนน ค่อนข้างเต็มรูปแบบ เพราะหลังเลิกใช้รถยนต์ไปแล้ว ผมค้นพบว่า วิธีไปให้ถึงจุดหมายที่ดีที่สุดก็คือการเดิน


ถูกละ-มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในกรุงเทพฯ เพราะมันซอกซอนเข้าไปในตรอกเล็ก อันถือเสมือนเป็นเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯได้ดีเยี่ยมและรวดเร็วที่สุด


แต่สำหรับผม มอเตอร์ไซค์ก็ยังมีอันตราย


เปล่าครับ-ไม่ใช่อันตรายจากอุบัติเหตุหรือการขับขี่ที่ประมาท เพราะเกือบร้อยละร้อยของคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเท่าที่ผมได้ใช้บริการนั้น ค่อนข้างระมัดระวังรักษาความปลอดภัยเป็นอันดี แต่ อันตราย จากการนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มักเกิดขึ้นจากสิ่งอื่น อาทิเช่น รถเมล์คันใหญ่ที่มองไม่เห็นมอเตอร์ไซค์, รถเมล์เขียวมินิบัสผู้ได้ชื่อว่าทำตัวเกกมะเหรกเป็นเจ้าถนน และหลายครั้งก็เอาแต่ใจตัวเองจนทำให้คนอื่นเดือดร้อน


ทว่า อันตราย อีกอย่างหนึ่งที่ผมเพิ่งพบ ก็คืออันตรายจากการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


ด่านทำให้มอเตอร์ไซค์เบรคเอี๊ยดลั่นถนนกะทันหัน จนรถที่แล่นตามมาเกือบเสยเข้าปะทะ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจริง ผมก็คงกระเด็นไปไกลไม่ต่ำว่ายี่สิบเมตร


วินาทีนั้น ผมได้แต่นึกขำ เพราะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กลับกลายเป็นผู้ก่อทุกข์ให้ราษฎร์ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม


ไม่ว่าจะโดยรูปแบบไหนก็ตาม


วันนั้น ผมไม่ได้ถามมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ว่าเพราะอะไรเขาถึงต้องเบรค และเพราะอะไรเขาถึงต้องเปลี่ยนเส้นทางกะทันหันเพื่อไม่ให้ต้องไปพบหน้ากับตำรวจ


แต่จะมีอะไรซับซ้อนมากมายนักเล่า


เราล้วนคาดเดาได้ไม่ใช่หรือ?


2

ผมขี่จักรยาน และถึงขั้นซื้อจักรยานพับได้มาขี่ เพื่อให้สามารถเดินทางได้ไกลขึ้น ด้วยการนำจักรยานขึ้นรถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน


รถใต้ดินนั้นมีกฎอยู่ว่า จักรยานจะต้อง พับได้ ถึงจะเอาขึ้นรถได้ ผมก็พับ แล้วพามันลงไปใต้ดินตามกฎ ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอสดีกว่าในเรื่องนี้ เพราะยอมให้เอาจักรยานขึ้นไปได้ ไม่ว่ามันจะคันใหญ่ขนาดไหนโดยไม่ต้องพับ แต่บีทีเอสก็คนแน่นขนัดเหลือแสน การนำจักรยานขึ้นไปบนนั้น จึงถูกมองด้วยสีหน้ารังเกียจเหยียดหยามอยู่ครามครัน ว่าเสียเงินเท่ากัน แต่มากีดกัน พื้นที่ มากกว่า โดยใช้เครื่องจักรกลง่ายๆอย่างจักรยาน


และที่จริง รถใต้ดินก็ไม่แพ้กันในเรื่องนี้ โดยเฉพาะถ้าเป็นยามเช้าหรือเย็น ที่คนแน่นจนหนุ่มๆต้องบรรจงเก็บเป้ากางเกงและก้นไว้ให้ดี ไม่อย่างนั้นมันอาจไปสีเสียดเข้ากับบั้นท้าย เป้า หรือหลังมือของใครที่จ้องจับเอาไว้ตาเป็นมันตั้งแต่ต้นได้ ผู้คนจะมองจักรยานราวกับมันเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคม


ใครนำจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าได้เป็นประจำ ต้องถือว่าเป็นผู้มีหัวใจแข็งแกร่งอย่างยิ่ง


ด้วยเหตุนี้ ในระยะหลัง ผมจึงไม่ได้พาจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะใต้ดินหรือบนดิน หรือถ้าจะพาขึ้นไปด้วย ก็ต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม และรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวให้ดี ว่าจักรยานไม่ใช่พาหนะที่คนกรุงเทพฯ โปรดปรานเท่าไหร่นัก


สวนสาธารณะในกรุงเทพฯเท่าที่ผมรู้จักและเข้าไปใช้บริการนั้น มีอยู่ไม่กี่แห่งที่ยินดีต้อนรับจักรยาน สวนลุมพินีมีเวลาจำกัด คือต้อนรับจักรยานเฉพาะช่วงกลางวัน ในเวลาที่แดดเปรี้ยงและร้อนอบอ้าว ส่วนสวนจตุจักรที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าทั้งสองแบบ เราจะเอาจักรยานเข้าไปก็ได้ แต่เอาเข้าไปได้แค่จูง ขี่ไม่ได้ เพราะมีคนมากมายมาออกกำลังกาย จักรยานอาจไปเฉี่ยวชนได้ อันเป็นข้อหาที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง เพราะมักมีพวกชอบขี่จักรยานแบบ บ้าพลัง เอาจักรยานความเร็วสูงมาขี่ในสวนสาธารณะขนาดกระจ้อยร้อยไม่สมศักดิ์ศรีเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ อยู่เป็นประจำ


ด้วยเหตุนี้ จึงเหลือแต่สวนรถไฟ ที่สามารถขี่จักรยานได้ แต่สวนนี้ก็ไม่ได้อยู่ในที่ชุมชน ถ้าเอาจักรยานขึ้นรถไฟไป ก็ต้องผ่านสวนจตุจักรก่อน เพราะฉะนั้น สิ่งที่พึงทำ ก็คือการเอาจักรยานใส่รถไฟ แล้วจูงมันตัดผ่านสวน ก่อนจะขี่ไปอีกระยะหนึ่ง แล้วเข็นข้ามถนนเข้าไปยังสวนรถไฟให้เป็นที่สังเวชใจยิ่งนัก


ส่วนจะขี่จักรยานบนท้องถนน ก็ไม่มีเลนจักรยาน (เหมือนเกียวโต, อัมสเตอร์ดัม, สิงคโปร์, เบอร์ลิน ฯลฯ) ไม่มีความปลอดภัย ทั้งจากอุบัติเหตุและควันพิษ จนสามารถพนันกับตัวเองได้ว่าจะเลือกตายด้วยอะไรก่อนกัน ระหว่างถูกรถชนหรือเป็นมะเร็งปอด


3

ในระยะหลัง การเดินจึงกลายเป็นการเดินทางที่ผมชอบ ผมเคยเดินจากบ้านไปออฟฟิศ เป็นระยะทางแปดกิโลเมตร โดยใช้เวลาราวๆหนึ่งชั่วโมงกับสี่สิบห้านาที (แต่ไปหยุดพักที่ร้านกาแฟกลางทางเสียสองชั่วโมง)


น่าแปลก ที่การเดินให้ความรู้สึกปลอดภัยกว่าการขี่จักรยาน หรือแม้แต่การซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้าง


แต่ก็อีกนั่นแหละ ที่เมืองอันได้ชื่อว่า กรุงเทพฯ แห่งนี้ ไม่ Encourage การเดินทางอื่นใดมากนัก เพราะนอกเหนือไปจากการขับรถยนต์ อันมีถนนหนทางเรียบสบายและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา (จนก่อให้เกิดรถติดมหาศาล) และรถไฟฟ้าอันเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาว่าเจริญแล้ว การเดินทางด้วยวิธีอื่นๆก็ดูเหมือนจะเป็นได้แค่ จัณฑาล ของการเดินทางเท่านั้น


คือไม่ได้แม้แต่อยู่ใน วรรณะ ใดๆในการเดินทางของกรุงเทพฯด้วยซ้ำ


ถ้าเราสังเกตดู เราจะเห็นว่า คนเดินถนนต้อง หลีกทาง ให้กับคนขับรถยนต์อยู่เสมอ ราวกับว่า รถยนต์คือเทพ คือพาหนะอันสูงส่ง ยามตามคอนโดฯ ก็จะตะเบ๊ะพร้อมส่งเสียงดังทำความเคารพให้รถยนต์ แต่ถ้าคุณคนเดิมเดินเข้าไป พวกเขาอาจตะคอกถามว่า มาหาใคร!” ให้ตกใจเล่นก็ได้


เวลาผมเดินอยู่บนทางเท้า เช่น บนถนนพหลโยธินหรือสุขุมวิท ที่มีทางเท้าค่อนข้างสะดวกสบายกว่าถนนอื่น เวลามีรถแล่นออกจากซอย ออกจากปั๊มน้ำมัน หรือออกจากตึก พวกเขาไม่เคยหยุดอย่างสุภาพให้ คน ได้เดินไปก่อน แต่จะ เสือกหัวรถ ออกมาทันควัน แม้ว่าเท้าของคนจะก้าวลงไปบนทางนั้นอยู่ก่อนแล้ว และ คน ก็ต้องหลบรถอยู่เสมอ หลายคนถึงกับสะดุ้งโหยงให้ผมเห็นด้วยซ้ำ เมื่อพวกเขาเห็นว่ารถยนต์กำลังจะออกมาจากซอย และพวกเขาก็ต้องหลบ


ไม่ต้องพูดถึงการข้ามถนนบนทางม้าลาย ซึ่งเป็นเรื่องบัดสีน่าละอาย และแสดงให้เห็นกมลสันดานอันแท้จริงของความเมตตาในประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธ


เวลาข้ามถนน ผมจึงบอกใครๆว่า เราต้อง ฝึก พวกที่นั่งอยู่ในรถยนต์กันด้วย เราต้อง ฝึก พวกเขาให้รู้ว่า คน ก็มี สิทธิ มากพอๆกับ รถ เหมือนกัน เวลาข้ามถนนบนทางม้าลาย เมื่อได้จังหวะที่เหมาะสม (เช่น ไม่ใช่ข้ามถนนตอนรถได้สัญญาณไฟเขียว) หรือแม้แต่เดินไปตามถนน แต่มีตรอกซอกซอยหรือทางรถที่ทับกับทางเท้า เราจึงควรสาวเท้าเดินด้วยจังหวะคงที่ อย่าหยุดเดิน แล้วถ้ามีรถออกมา เราก็ควรจะส่งสายตาของเราไปมองสายตาของ คน ที่อยู่ในรถ


ให้พวกเขาได้รับรู้ว่า สิ่งที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ตรงนี้ คือสิ่งมีชีวิต


และเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับคนที่อยู่ในรถ


ผมสนุกกับการทำเช่นนี้มาก และยังไม่เคยพบปัญหาใดๆ อาจเพราะในจิตสำนึกของตัวเองตระหนักอยู่เสมอว่า ได้เสียภาษีโดยไม่ได้ขอเงินที่เหลือคืน-แต่บริจาคให้รัฐ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว บางทีผมอาจเสียภาษีในแต่ละปีมากกว่าคนส่วนใหญ่ที่ขับรถอยู่บนท้องถนนด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่คนที่ โกง ภาษีผู้นั่งอยู่ในรถคันใหญ่ๆเลย ผมจึงรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิกับพื้นที่ถนนตรงนั้น มากพอๆกับรถยนต์ และรถยนต์ต่อให้ราคาแพงแค่ไหน ก็ไม่เคยมีคุณค่าสูงกว่ามนุษย์


ในบางเมืองของยุโรป คอนเซ็ปต์ Shared Space เริ่มเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มันคือการที่ใครๆก็เข้ามาใช้ถนนได้ โดยมี สิทธิที่เท่าเทียมกัน เรียกว่าเป็นการ แชร์ หรือแบ่งปัน เช่น จักรยาน คนเดิน รถเข็นเด็ก รถยนต์ รถเข็นผัก รถเข็นคนพิการ ฯลฯ ต่างก็เข้ามาใช้ถนนบางเส้นได้ ตรงไหนของถนนก็ได้ โดยที่แต่ละคนตระหนักถึง สิทธิ ของคนอื่นก่อน จากนั้นจึงรู้ว่า หน้าที่ ที่แต่ะละคนต้องปฏิบัติคืออะไร


ผมอยากให้กรุงเทพฯมี Shared Space แต่เหนือกว่านั้น ก็คืออยากให้กรุงเทพฯมีความ เมตตา ที่มนุษย์พึงมีให้กับมนุษย์ โดยตระหนักว่า มนุษย์แต่ละคนก็คือมนุษย์ และรถยนต์แต่ละคันก็คือรถยนต์


นอกจากเลิกใช้รถยนต์ ผมยังเลิกใช้นาฬิกาข้อมือด้วย


บางทีอาจเป็นเพราะผมรำคาญ สัญญะ ที่ติดมากับสิ่งเหล่านั้น เราขับรถเพราะอะไร ใส่นาฬิกาข้อมือเพราะอะไร


แต่อาจบางที-คงเป็นเพราะผมชอบการเดินมากขึ้น และเมื่อได้เดินมากขึ้น ผมก็ค้นพบว่า มันเป็นการเดินทางที่แช่มช้าเสียจนเราไม่จำเป็นต้องเร่งร้อนดูเวลา แต่เปิดโอกาสให้เราได้หันมาดู ผู้คนรอบข้างที่เราไม่อาจเห็นได้ชัดเจนนักจากการนั่งรถหรือแม้แต่ขี่จักรยาน


การเดินจึงเป็นบทสรรเสริญชีวิตที่ช้าลงด้วยตัวของมันเอง


แม้อาจทำให้ต้องตายบนทางม้าลายก็ตามที

เหลืองที่ไม่เอาอำมาตย์ และแดงที่ไม่เอาทักษิณ

-1-

เธอถามผมว่า คุณเลือกฝ่ายไหน


ผมตอบเธอไป-เลือกฝ่ายที่ยอมให้มีอีกฝ่ายอยู่ด้วย


เธอถามต่อว่า ฉันหมายถึงเหลืองกับแดง


ผมบอกเธอว่า-ผมก็หมายถึงอย่างนั้น


ถ้าอย่างนั้น คุณก็ไม่มีจุดยืน ไม่มีอุดมการณ์ เป็นนกสองหัว ไร้เดียงสา คุณเลือกอยู่กับใครก็ได้ใช่ไหม


ใช่-ผมบอก จะเหลืองหรือแดงก็ได้ จะไร้เดียงสาก็ยอม จะว่าโง่ก็ไม่ว่ากัน แต่ต้องเป็นเหลืองที่ยอมให้โลกนี้มีแดง และต้องเป็นแดงที่ยอมให้โลกนี้มีเหลือง


วิธีคิดของเราจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับว่า คำสวยๆอย่าง อุดมการณ์ หรือ จุดยืนนั้น มันคืออุดมการณ์หรือจุดยืนอะไร ของใคร ใครกำหนด และใครที่ว่า, มองโลกด้วยกรอบแบบไหน


ทำไมเราต้องพยายาม ยัด คนอื่นลงไปในกรอบของตัวเองด้วยเล่า-ผมถามเธอกลับ


โลกมีอยู่แค่สองกรอบเท่านั้นหรือ?



-2-

กรอบความคิดของผมไม่ได้อยู่ที่อำมาตย์หรือทักษิณมานานแล้ว แม้ประเทศนี้จะขัดแย้งกันเรื่องนี้ไม่รู้จักจบสิ้น ผมเข้าใจว่า ที่หลายคนนิ่งเงียบมาโดยตลอด ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านั้นไม่พยายามทำความเข้าใจกับกรอบของคนที่ต่อต้านอำมาตย์หรือต่อต้านทักษิณ และยิ่งไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่พยายามทำความเข้าใจกับตัวอำมาตย์หรือตัวทักษิณเองด้วย


นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดถึง คนอย่างทักษิณ ว่ามีอยู่เต็มไปหมดในเมืองไทย ผมคิดว่าในเวลาเดียวกัน เราก็มี คนอย่างอำมาตย์ เต็มไปหมดในเมืองไทยด้วยเหมือนกัน แต่ที่ร้ายกาจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทั้งคนอย่างทักษิณ และ คนอย่างอำมาตย์ นั้น เอาเข้าจริงแปะเอี้ยแล้ว มันก็คือคนอย่างเดียวกัน!


ผมจำได้ว่า เมื่อเดือนเมษายนที่แล้ว คราวที่เกิดเรื่องใหญ่ในกรุงเทพฯจนไม่มีใครมีกะจิตกะใจจะทำมาหากิน ในซอยแถวบ้าน-แม่ค้าคนหนึ่งยืนมองถนนอันว่างเปล่าไร้ลูกค้าด้วยดวงตาแห้งผาก เธอเป็นแดง เคยเป็น ยังเป็น และคงเป็นต่อไป แต่เธอก็ปรารภกับเพื่อนแม่ค้าชาวเสื้อแดงอีกคนออกมาดังๆว่า นี่โลกจะแตกแล้วหรือวะ


เพื่อนแม่ค้าตอบเธอว่า ถ้าแตกจริงๆก็ดีสินะ แล้วเธอก็หันมามองหน้าผม ใช่มั้ยคะคุณ จะได้พ้นทุกข์กันไปเสียที


ผมไม่ได้ตอบอะไรเธอ เพราะผมไม่รู้จะตอบอะไร



-3-

ถ้าอยากจะ พ้นทุกข์ ผมว่าอย่างแรกสุด เราต้อง มองให้เห็น กันเสียก่อน ว่าทั้งระบอบอำมาตย์ และระบอบทักษิณ ต่างก็เป็นระบบอุปถัมภ์ทั้งคู่


ลักษณะสำคัญของระบบอุปถัมภ์ที่เราไม่ค่อยมองกันก็คือ มันจะอยู่ไม่ได้ ถ้ามีแค่ผู้อุปถัมภ์ เพราะมันต้องการผู้ ถูกอุปถัมภ์ ด้วย เช่น กษัตริย์ยุโรปสมัยโบราณจะอุปถัมภ์นักดนตรี ก็ต้องอุปถัมภ์นักดนตรีที่เก่งพอที่จะแต่งเพลงเยินยอพระเกียรติได้เป็นที่ยอมรับกันในผู้รู้ด้านดนตรีในราชสำนักยุโรป ไม่อย่างนั้นก็เป็นได้แค่พระราชาใส่เสื้อล่องหนจนโป๊เปลือยเป็นที่หัวเราะเยาะเหมือนในนิทานของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน-ไม่มีความหมาย นักการเมืองประชานิยมก็เหมือนกัน ถ้าอยากจะสถาปนาตัวเองเป็นผู้อุปถัมภ์ ก็ต้องได้รับการอุปถัมภ์จากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเสียก่อน


โดยนัยนี้ ผู้ถูกอุปถัมภ์จึงมีสถานะเป็นผู้อุปถัมภ์ของผู้ถูกอุปถัมภ์ด้วย (งงไหมครับ) ชาวนายากจนเป็นผู้อุปถัมภ์คนที่พวกเขาต้องยกมือปะหลกๆกราบไหว้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้านที่เคยให้ความช่วยเหลือ กำนัน ผู้แทนฯ ไปจนถึงเจ้าพ่อในท้องถิ่น, พนักงานบริษัท (ที่ไม่กล้าตั้งสหภาพแรงงาน เพราะคิดว่าเจ้าของบริษัทเป็นผู้มีบุญคุณอุปถัมภ์ตัวเอง) ก็อุปถัมภ์เจ้าของบริษัทอยู่, คุณนายหาเงินเรี่ยไรมาให้คุณหญิงทำกุศล, นายสิบหาเงินมาให้นายร้อย และสูงขึ้นไปใน ชั้น ของ ชน ในสังคมนี้ ต่างก็เป็นเช่นนี้ส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ เพราะต่างก็ตกอยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ทั้งสิ้น โดยไม่เคยตระหนักเลยว่า-ผู้ถูกอุปถัมภ์ก็คือผู้อุปถัมภ์ด้วย!


น่าเสียดาย, ที่เราไม่ค่อยรู้ตัว เราจึงมักคิดว่าเราไม่มีอำนาจจะทำอะไร แล้วเราก็คิดว่าเรา ทุกข์ อยู่อย่างนั้น


แต่ถ้าเรา เห็น ว่าทั้งระบอบอำมาตย์และระบอบทักษิณต่างก็เป็นระบบอุปถัมภ์ และรู้ว่า ผู้ถูกอุปถัมภ์มีอำนาจอยู่ในตัว สามารถ ล้ม การอุปถัมภ์นั้นเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็จะ กล้า ที่จะ เห็น ให้ชัดเจนขึ้น ว่าทั้งสองระบอบต่างก็มีความฉ้อฉลอยู่ในตัวเองทั้งคู่อย่างที่ยากจะปฏิเสธ


ระบอบทักษิณกับการทุจริตเชิงนโยบาย ระบอบอำมาตย์ก็ไม่น้อยหน้า ด้วยวิธีคิดสองมาตรฐาน (หรือกว่านั้น) มาโดยตลอด ในแง่หนึ่ง ทั้งสองระบอบเป็นระบอบที่เห็นว่าใครบางคน วิเศษ กว่าคนอื่นอยู่เสมอ ด้วยฤทธิ์ของความคิดที่ว่า ผู้อุปถัมภ์ จะต้องเหนือกว่าผู้ถูกอุปถัมภ์ ต้องถูกกราบไหว้เป็นผู้วิเศษนั่นเอง และความวิเศษนั้นก็ถ่ายทอดลงมาตาม ชั้น ของ ชน ทีละขั้นๆ


แต่ถ้าเรา เห็น เสียแล้ว ว่านี่คือสิ่งที่เป็นไป ต่อไปไม่ว่าเราจะเป็นเหลืองหรือแดง เราก็จะเป็นเหลืองหรือแดงที่ ตื่น และการ ตื่น ก็จะทำให้เรา เลือก ที่จะไม่เอาทั้งอำมาตย์และไม่เอาทั้งทักษิณชนิดหมอบราบคาบแก้ว นั่นคือเลือกที่จะไม่เอา ระบบอุปถัมภ์ ในแบบที่เป็นอยู่นี้ (แต่ก็ต้องตระหนักด้วยว่า ระบบอุปถัมภ์ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีของมันก็มีอยู่ และมีอยู่มากด้วย)


โปรดสังเกตว่า ผมไม่ได้บอกว่าเราควรจะต้องลุกขึ้น ไม่เอา ทั้งสองระบอบถ่ายเดียวนะครับ ใครจะ เอา ก็ได้ แต่ต้อง เอา ด้วยการตั้งคำถาม ด้วยการตรวจสอบให้โปร่งใส เพราะสำหรับผม ทั้งระบอบทักษิณและระบอบอำมาตย์ไม่ได้ขาวหรือดำ ต่างมีข้อดีข้อเสียทั้งคู่ ผมเพียงแต่จะบอกว่า เราไม่ควร ศิโรราบ หมดเนื้อหมดตัว เพราะคิดว่าเราไม่มีอำนาจ ไม่มีปัญญา ไม่มีบารมี เป็นแค่ตัวเล็กๆที่ถูกอุปถัมภ์มาตลอดชีพ


ความขัดแย้งในเวลานี้ซับซ้อนขึ้น แต่ยังไม่ได้ซับซ้อนออกไปนอกกรอบ ทวิลักษณ์ เลย เรายังเห็นโลกเป็นสองข้างขาว-ดำ อยู่เหมือนเดิม และที่สองฝ่ายดูเหมือนมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะคนธรรมดาๆอย่างเราได้ เลือก เดินเข้าไปข้างใดข้างหนึ่ง และที่เราทำอย่างนั้น-ก็เพื่อ Empower ตัวเอง


เป็นเรื่องยากมากกว่า ที่จะยั้งตัวเองยืนมองและทำความเข้าใจอยู่ข้างนอก เพราะการกระโดดเข้าร่วมฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จะช่วย empower ตัวตนของเรามากขึ้น มีพวก มีฝูง มีคนสนับสนุนโห่ร้องกึกก้อง เสียงของเราจึงดูเหมือน ดัง กว่าปกติ (แม้จะเรียกร้องให้ Undo การรัฐประหาร ราวกับคิดว่าตัวเองอยู่ในเกมที่ไม่ได้เซฟ และทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนไป) ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ในกรอบการต่อสู้เหลือง-แดง หรือ อำมาตย์-ทักษิณ ดูจะเหงาโหวงวังเวงราวกับอยู่ในป่าช้า พูดอะไร อธิบายอะไรที่ซับซ้อนแค่ไหนไป-ก็ไม่มีใครฟัง นอกจากไม่มีใครฟังยังถูกด่าซ้ำ


อย่างไรก็ตาม โปรดทำความเข้าใจด้วยว่า เวลาผมพูดถึง ทักษิณ หรือ อำมาตย์ ผมไม่ได้หมายความถึงใครเป็นคนๆไปหรอกนะครับ แต่ผมหมายความถึงสมุหภาพที่ทำให้เกิดคนอย่างนั้นขึ้นมา แล้วที่สุดก็กลายเป็น คนอย่างทักษิณ และ คนอย่างอำมาตย์ กระจายกันอยู่บน ชั้น ของ ชน ซึ่งได้บอกไปแล้วว่า-ที่แท้คนพวกนี้มันก็คนประเภทเดียวกัน


แล้วเรายังจะศิโรราบเอาคนพวกนี้ขึ้นมาไว้บนหัวของเราอยู่อีกหรือ?



-4-

กลับมาที่คำถามของเธอคนแรก-แล้วเราจะ เลือก ฝ่ายไหนดี


คำตอบที่ว่า เลือกฝ่ายที่ยอมให้มีอีกฝ่าย (หรือฝ่ายอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยกับตัว) ดำรงอยู่ได้ในสังคมเดียวกัน คงเป็นคำตอบที่ไม่ถูกใจทั้งเหลืองและแดงที่ดูจะเป็น Fundamentalism กันไปหมดแล้ว บางคนบอกว่า ให้แยกกลุ่มกันไปเลยเหมือนเดโมแครตกับรีพับลิกัน แต่ผมคิดว่าเราเทียบเคียงแบบนั้น ยังไม่ได้ เพราะคนที่เป็นเดโมแครตกับรีพับลิกันนั้น อย่างน้อยที่สุดต่างก็มีความ เท่าเทียม กันโดยทั่วไปในสภาพความเป็นอยู่ ในชีวิตที่เป็น จริง ของตัวเอง อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็มีชีวิตอยู่รอดได้ จริง ในสภาพสังคมโดยทั่วไปของประเทศแห่งนั้น


แต่แม่ค้านัยน์ตาว่างเปล่าบนท้องถนนสองคนนั่นต่างหาก พวกเธอและ คนอย่างพวกเธอ ไม่มีกะจิตกะใจจะ ต่อสู้ กับอะไรหรอกครับ เพราะแค่ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตให้รอด ก็ยังลำบาก ช้างสารที่ไหนจะรบกันก็เชิญรบกันไปเถิด คนที่เจียมตัวเสมอว่าเป็นหญ้าแพรก ขอหนีจากตีนช้างให้ได้ก็พอแล้ว


แต่คำถามก็คือ เราจำเป็นต้อง เจียมตัว ว่าเราไม่มีอำนาจหรือมีอำนาจจำกัดจำเขี่ยตลอดไปจริงๆหรือ


ปลดแอกออกมาเป็นเหลือง แดง เขียว ม่วง ขาว เทา ดำ หรือสีรุ้ง ที่เป็นตัวของตัวเองและหัดยอมรับคนที่คิดต่างอย่างแท้จริงได้ไหม


การต่อสู้นั้นจะได้บริสุทธิ์ และผมจะได้สะดวกใจที่จะก้าวเข้าไปร่วมมือกับพวกคุณด้วยคนเสียที


เพราะมีแต่เมื่อทำได้อย่างนี้ จึงจะเป็นการต่อสู้ของประชาชนอย่างแท้จริง!