1
มีนิทานจะเล่าให้ฟังครับ
นิทานเรื่องที่ว่า (แอบ) หยิบยกมาจาก ‘นิทานเวตาล’ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือดี ควรค่าแก่การอ่าน โชคดีที่ ‘คุณค่าที่คุณคู่ควร’ เล่มนี้ ตกมาถึงมือของผมตั้งแต่สมัยเด็กๆ ทำให้ได้อ่านนิทานเวตาลมานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่จะมาโอ้อวดว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลางที่มีโอกาสได้เสพหนังสือดีๆมาตั้งแต่ยังเด็กๆหรอกนะครับ สิ่งที่อยากเล่าสู่กันฟังก็คือว่า เวลาเราหยิบหนังสือที่เคยอ่านสมัยเด็กๆมา ‘อ่านใหม่’ นั้น เรามักจะพบอะไรแปลกใหม่ไม่คาดคิดเสมอ
การอ่านนิทานเวตาลครั้งใหม่นี้ก็เช่นกันครับ!
นิทานเวตาลสมัยที่ผมอ่านตอนเป็นเด็กๆนั้น เป็นสำนวนแปลของ น.ม.ส. ซึ่งแปลไว้เพียง 10 เรื่อง จากต้นฉบับทั้งหมด 25 เรื่อง ขณะที่นิทานเวตาลฉบับใหม่ที่นำมา ‘อ่านใหม่’ นี้ มีอยู่ด้วยกันครบถ้วนทั้ง 25 เรื่อง (แปลโดย ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา) ซึ่งคงต้องบอกเล่ากันเสียหน่อย (เผื่อใครยังไม่รู้) ว่านิทานเวตาลเป็นเรื่องของกษัตริย์วิกรมาทิตย์ ที่ถูกโยคีลวงโลกหลอกให้ไปแบกศพมาทำพิธี ปัญหาก็คือ ทุกครั้งที่ไปแบกศพมา เวตาลจะเข้าสิงสู่ศพนั้นเสมอ จากนั้นเวตาลจะเอ่ยปากเล่านิทานโดยมีข้อแม้ว่ากษัตริย์จะต้องไม่พูดอะไรตอบแม้แต่คำเดียว ถ้ากษัตริย์พูดตอบเมื่อไหร่ ศพจะกลับไปอยู่ที่เดิมให้กษัตริย์ต้องตามไปแบกมาใหม่ร่ำไป
อ่านแล้วผมสะดุดใจกับนิทานอยู่เรื่องหนึ่งครับ
มันเป็นนิทานเรื่องที่ 6
ในเรื่องนี้ เวตาลเล่าถึงชายชื่อธนวละ ที่หลงรักนางมัทนสุนทรี จนได้แต่งงานกัน และมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข แต่อยู่มาวันหนึ่ง น้องเมียของธนวละ (ซึ่งก็คือน้องชายของมัทนสุนทรี) เกิดมาเยี่ยมที่บ้าน และเชิญทั้งสองกลับไปร่วมพิธีฉลองที่บ้านเก่าของนางมัทนสุนทรี ทั้งคู่จึงออกเดินทางเพื่อกลับบ้าน
เรื่องน่าประหลาดเกิดขึ้นตรงนี้เองครับ ตรงที่ระหว่างทางกลับบ้านนั้นมีเทวาลัยของพระทุรคาเทวีอยู่ข้างทาง ธนวละก็เกิดอยากเข้าไปบูชา แต่ก็ติดอยู่ที่ว่า ทั้งสามคนล้วนแต่มามือเปล่า ไม่มีใครมีเครื่องบูชาอะไรติดไม้ติดมือมาด้วยเลย ถ้าเข้าไปบูชาแล้วจะทำอย่างไรดี
ธนวละก็เลยบอกว่าจะเข้าไปก่อน แต่พอบูชาไปบูชามา ก็เกิดคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรมาบวงสรวงพลีกรรมให้เจ้าแม่เลยสักนิดเดียว เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยเอาดาบมาฟันฉับเข้าที่หัวตัวเอง ทำให้หัวขาดกลิ้งหล่นลงบนพื้น ตายสนิทเพื่อเป็นเครื่องบูชา
ฝ่ายน้องเมียของธนวละรอไปรอมา ไม่เห็นธนวละออกมาเสียที ก็เลยเข้าไปตามดู อีตานี่ก็ประหลาดครับ เพราะพอเข้าไปเห็นปุ๊บว่าพี่หัวขาดนอนตายอยู่ปั๊บ ก็จัดการเอาดาบมาตัดหัวของตัวเองขาดกลิ้งตายตกไปตามกันทันที ในนิทานอธิบายว่า เป็นไปด้วยความประหลาดใจ
ทีนี้ก็เหลือแต่ผู้หญิงสิครับ ผู้ชายตายกันหมดแล้วนี่ นางมัทนสุนทรีที่นั่งรอแล้วรอเล่าเฝ้าแต่รออยู่นอกเทวาลัย ไม่รู้จะทำฉันใด เธอก็เลยตัดสินใจตามคนทั้งสองเข้าไปข้างในเทวาลัย พอเข้าไปเห็นศพของสามีและน้องชายนอนกลิ้งอยู่อย่างไร้หัว ก็ตกใจชีวิตแทบจะออกจากร่าง
“ตายแล้ว เกิดอะไรขึ้นนี่ ข้าต้องถึงความฉิบหายแน่ๆ” เธอร้องออกมาพลางร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเสียใจ
คุณคิดว่านางมัทนสุนทรีจะทำอย่างไรต่อไปครับ?
ถูกต้องแล้วคร้าบ-เธอตัดสินใจฆ่าตัวตายตามสองหนุ่มนั่นไปเหมือนกัน แต่ก่อนจะฆ่าตัวตาย เธอกล่าวสดุดีกึ่งตัดพ้อต่อเจ้าแม่ แล้วก็ขอต่อไปอีกว่า ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร ก็ขอให้ชายหนุ่มสองคนนี้ไปเกิดเป็นสามีและน้องทุกๆชาติไป จากนั้นเธอก็เอาเถาวัลย์มาทำเป็นบ่วง คิดว่าจะผูกคอตาย
ฉับพลันทันใดนั้น ก็มีเสียงลอยมา เป็นเสียงเจ้าแม่หรือพระเทวีที่เป็นต้นเหตุทั้งหมดนั่นแหละครับ เจ้าแม่บอกว่าพอใจกับความกล้าหาญของมัทนสุนทรี ก็เลยจะให้พร ขอให้คนทั้งสองกลับมามีชีวิตได้ใหม่ ขอให้นางมัทนสุนทรีเอาหัวกับร่างมาต่อกันแล้วทำพิธี
ปัญหาก็คือ เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว ปรากฏว่านางมัทนสุนทรีดันต่อหัวผิด เอาหัวผัวไปต่อตัวน้อง เอาหัวน้องไปต่อกับตัวผัว
ดังนั้น เวตาลจึงถามกษัตริย์วิกรมาทิตย์ว่า-เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้ว ใครควรจะเป็นสามี ใครควรจะเป็นน้อง
กษัตริย์ตอบว่า
“ในสองคนนี้คนใดก็ตามมีศีรษะของชายผู้เป็นสามีติดอยู่ ก็คนนั้นแหละควรเป็นสามีแท้ๆของนาง เพราะหัวเป็นส่วนสำคัญที่สุดของร่างกาย และเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราจำได้ว่าใครเป็นใคร การที่จะชี้ว่าใครเป็นใครก็ต้องดูที่หัวของคนคนนั้นแหละ”
ดังนั้น เวตาลจึงชนะ กษัตริย์ต้องกลับไปแบกศพมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
นิทานเรื่องที่หกจบลงเพียงเท่านี้
2
แล้วผมมาเล่านิทานให้คุณฟังทำไม?
เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่ออ่านนิทานเรื่องนี้จบปุ๊บ ผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาทันทีว่าตอนที่อ่านสมัยเด็กๆ ผมเกิดความสงสัยเหมือนที่กำลังสงสัยอยู่หรือเปล่า-หรือว่าไม่สงสัย
สงสัยอะไร?
ก็สงสัยว่า คำตัดสินของกษัตริย์วิกรมาทิตย์นั้น เป็นคำตัดสินที่ถูกต้องเที่ยงแท้แน่นอนและชอบธรรมจริงหรือ
ถ้าเราพูดถึง ‘ปริมาณ’ (แบบประชาธิปไตย!) ร่างกายย่อมมีปริมาณเซลล์มากกว่าหัว แต่แน่ละ หัวย่อมเป็นที่ตั้งของสมอง ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้ร่างกายทำสิ่งต่างๆ แต่หัวมีปริมาณเซลล์น้อยกว่าร่างกายแน่ๆ ที่สำคัญก็คือ ร่างกายย่อมเป็นผู้ ‘ย่อย’ อาหารนำมาหล่อเลี้ยงหัว (แม้ว่าอาหารจะเข้าสู่ร่างกายทางปากที่ตั้งอยู่บนหัวก็ตามที) และหัวก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้หากปราศจากร่างกาย ในทางกลับกัน ร่างกายก็ดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากหัว เพราะฉะนั้น การตัดสินใจในฉับพลันทันทีว่าหัวคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของร่างกาย จึงออกจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยสำหรับผม
มันทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ฤาชะรอยจะเป็นเพราะผู้ตัดสินเป็นกษัตริย์ (คือกษัตริย์วิกรมาทิตย์) จึงเอ่ยปากขึ้นมาว่าหัวสำคัญกว่าร่างกาย สำแดงอาการ ‘กษัตริย์นิยม’ ออกมาให้เราเห็นชัดๆ
การสำแดงอาการที่ว่าออกมานั้น ต้องขอย้ำว่าเป็นการสำแดงโดยไม่ได้ ‘คิด’ นะครับ เพราะในต้นฉบับก็บอกไว้ว่าเป็นการเผลอพระองค์ตรัสออกไป และที่สำคัญก็คือ ถ้า ‘คิด’ สักนิด ก็จะไม่พูด เนื่องจากถ้าพูดก็แปลว่าเวตาลจะชนะ ต้องย้อนกลับไปแบกศพใหม่อีกครั้ง แต่การพูดโพล่งเผลอออกมานั้น นอกจากจะเผยให้เห็นอาการกษัตริย์นิยมแล้ว ยังทำให้เราเห็นว่ากษัตริย์วิกรมาทิตย์เคยชินกับการเป็น ‘ตุลาการ’ ตัดสินสิ่งต่างๆตามธรรมเนียมของกษัตริย์โบราณที่มีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินคดีความต่างๆทุกเรื่องด้วย แม้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ ‘ไม่ปกติ’ (อย่างเช่นมีศพที่ถูกเวตาลสิงอยู่บนบ่า) ก็ยังคิดว่าจะต้องตัดสิน แม้ว่าสิ่งที่ต้องตัดสินนั้นจะเป็นแค่ ‘เรื่องสมมุติ’ อย่างนิทานหลอกเด็กของผีเวตาลก็ตามที
สำหรับผม ผมก็แค่สงสัยเท่านั้นเองว่าเรื่องราวต่างๆมันตัดสินกันได้ง่ายๆเหมือนในนิทานเวตาลจริงๆหรือ ในกรณีนี้ ถ้าเรา ‘น้อมรับ’ คำตัดสินของกษัตริย์วิกรมาทิตย์ ผู้รับเคราะห์ทั้งหมดของเรื่องก็คือนางมัทนสุนทรี เพราะแม้นางจะได้จูบกับหัวผัว แต่ถ้าเกิดกรณีจะต้องร่วมเพศกัน (ทั้งคู่ยังไม่มีลูก จึงอาจต้องร่วมเพศกันเพื่อให้ได้ลูกตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ-นี่ตัดความต้องการทางเพศของผู้หญิงทิ้งไปแล้วนะครับ) นางจะต้องตะขิดตะขวงใจเป็นแน่แท้ ที่จะปล่อยให้จู๋ของน้องชายล่วงล้ำเข้ามาในร่างกายของนางเอง (เว้นแต่นางจะเป็น incest!)
อย่างไรก็ตาม นางมัทนสุนทรีไม่ใช่ผม เธอจึงไม่น่าจะเดือดร้อนคิดมากอะไรนักหนา เพราะขนาดทั้งน้องทั้งผัวตายลงเพราะสังเวยพระเทวี นางยังร่ำร้องขอพรพระเทวีอยู่เลย เพราะฉะนั้น ถ้านางออกจากนิทานมาเจอคำตัดสินของกษัตริย์วิกรมาทิตย์ นางก็คงน้อมรับคำตัดสินนั้นได้โดยดุษฎีเช่นกัน
ว่าแต่ว่า, แล้วถ้าเป็นคุณล่ะครับ คุณจะตัดสินใจอย่างไร?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น