๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

ความตายบนทางม้าลาย

1

เป็นเรื่องแปลกไหม ที่ใครสักคนหนึ่งจะถูกรถชนตายบนทางม้าลาย


คงไม่แปลก ถ้าเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ...หรือประเทศไทย


ทุกวันนี้ ผมเรียกตัวเองว่าเป็น คนเดินถนน ค่อนข้างเต็มรูปแบบ เพราะหลังเลิกใช้รถยนต์ไปแล้ว ผมค้นพบว่า วิธีไปให้ถึงจุดหมายที่ดีที่สุดก็คือการเดิน


ถูกละ-มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในกรุงเทพฯ เพราะมันซอกซอนเข้าไปในตรอกเล็ก อันถือเสมือนเป็นเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯได้ดีเยี่ยมและรวดเร็วที่สุด


แต่สำหรับผม มอเตอร์ไซค์ก็ยังมีอันตราย


เปล่าครับ-ไม่ใช่อันตรายจากอุบัติเหตุหรือการขับขี่ที่ประมาท เพราะเกือบร้อยละร้อยของคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเท่าที่ผมได้ใช้บริการนั้น ค่อนข้างระมัดระวังรักษาความปลอดภัยเป็นอันดี แต่ อันตราย จากการนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มักเกิดขึ้นจากสิ่งอื่น อาทิเช่น รถเมล์คันใหญ่ที่มองไม่เห็นมอเตอร์ไซค์, รถเมล์เขียวมินิบัสผู้ได้ชื่อว่าทำตัวเกกมะเหรกเป็นเจ้าถนน และหลายครั้งก็เอาแต่ใจตัวเองจนทำให้คนอื่นเดือดร้อน


ทว่า อันตราย อีกอย่างหนึ่งที่ผมเพิ่งพบ ก็คืออันตรายจากการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


ด่านทำให้มอเตอร์ไซค์เบรคเอี๊ยดลั่นถนนกะทันหัน จนรถที่แล่นตามมาเกือบเสยเข้าปะทะ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจริง ผมก็คงกระเด็นไปไกลไม่ต่ำว่ายี่สิบเมตร


วินาทีนั้น ผมได้แต่นึกขำ เพราะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กลับกลายเป็นผู้ก่อทุกข์ให้ราษฎร์ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม


ไม่ว่าจะโดยรูปแบบไหนก็ตาม


วันนั้น ผมไม่ได้ถามมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ว่าเพราะอะไรเขาถึงต้องเบรค และเพราะอะไรเขาถึงต้องเปลี่ยนเส้นทางกะทันหันเพื่อไม่ให้ต้องไปพบหน้ากับตำรวจ


แต่จะมีอะไรซับซ้อนมากมายนักเล่า


เราล้วนคาดเดาได้ไม่ใช่หรือ?


2

ผมขี่จักรยาน และถึงขั้นซื้อจักรยานพับได้มาขี่ เพื่อให้สามารถเดินทางได้ไกลขึ้น ด้วยการนำจักรยานขึ้นรถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน


รถใต้ดินนั้นมีกฎอยู่ว่า จักรยานจะต้อง พับได้ ถึงจะเอาขึ้นรถได้ ผมก็พับ แล้วพามันลงไปใต้ดินตามกฎ ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอสดีกว่าในเรื่องนี้ เพราะยอมให้เอาจักรยานขึ้นไปได้ ไม่ว่ามันจะคันใหญ่ขนาดไหนโดยไม่ต้องพับ แต่บีทีเอสก็คนแน่นขนัดเหลือแสน การนำจักรยานขึ้นไปบนนั้น จึงถูกมองด้วยสีหน้ารังเกียจเหยียดหยามอยู่ครามครัน ว่าเสียเงินเท่ากัน แต่มากีดกัน พื้นที่ มากกว่า โดยใช้เครื่องจักรกลง่ายๆอย่างจักรยาน


และที่จริง รถใต้ดินก็ไม่แพ้กันในเรื่องนี้ โดยเฉพาะถ้าเป็นยามเช้าหรือเย็น ที่คนแน่นจนหนุ่มๆต้องบรรจงเก็บเป้ากางเกงและก้นไว้ให้ดี ไม่อย่างนั้นมันอาจไปสีเสียดเข้ากับบั้นท้าย เป้า หรือหลังมือของใครที่จ้องจับเอาไว้ตาเป็นมันตั้งแต่ต้นได้ ผู้คนจะมองจักรยานราวกับมันเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคม


ใครนำจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าได้เป็นประจำ ต้องถือว่าเป็นผู้มีหัวใจแข็งแกร่งอย่างยิ่ง


ด้วยเหตุนี้ ในระยะหลัง ผมจึงไม่ได้พาจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะใต้ดินหรือบนดิน หรือถ้าจะพาขึ้นไปด้วย ก็ต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม และรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวให้ดี ว่าจักรยานไม่ใช่พาหนะที่คนกรุงเทพฯ โปรดปรานเท่าไหร่นัก


สวนสาธารณะในกรุงเทพฯเท่าที่ผมรู้จักและเข้าไปใช้บริการนั้น มีอยู่ไม่กี่แห่งที่ยินดีต้อนรับจักรยาน สวนลุมพินีมีเวลาจำกัด คือต้อนรับจักรยานเฉพาะช่วงกลางวัน ในเวลาที่แดดเปรี้ยงและร้อนอบอ้าว ส่วนสวนจตุจักรที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าทั้งสองแบบ เราจะเอาจักรยานเข้าไปก็ได้ แต่เอาเข้าไปได้แค่จูง ขี่ไม่ได้ เพราะมีคนมากมายมาออกกำลังกาย จักรยานอาจไปเฉี่ยวชนได้ อันเป็นข้อหาที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง เพราะมักมีพวกชอบขี่จักรยานแบบ บ้าพลัง เอาจักรยานความเร็วสูงมาขี่ในสวนสาธารณะขนาดกระจ้อยร้อยไม่สมศักดิ์ศรีเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ อยู่เป็นประจำ


ด้วยเหตุนี้ จึงเหลือแต่สวนรถไฟ ที่สามารถขี่จักรยานได้ แต่สวนนี้ก็ไม่ได้อยู่ในที่ชุมชน ถ้าเอาจักรยานขึ้นรถไฟไป ก็ต้องผ่านสวนจตุจักรก่อน เพราะฉะนั้น สิ่งที่พึงทำ ก็คือการเอาจักรยานใส่รถไฟ แล้วจูงมันตัดผ่านสวน ก่อนจะขี่ไปอีกระยะหนึ่ง แล้วเข็นข้ามถนนเข้าไปยังสวนรถไฟให้เป็นที่สังเวชใจยิ่งนัก


ส่วนจะขี่จักรยานบนท้องถนน ก็ไม่มีเลนจักรยาน (เหมือนเกียวโต, อัมสเตอร์ดัม, สิงคโปร์, เบอร์ลิน ฯลฯ) ไม่มีความปลอดภัย ทั้งจากอุบัติเหตุและควันพิษ จนสามารถพนันกับตัวเองได้ว่าจะเลือกตายด้วยอะไรก่อนกัน ระหว่างถูกรถชนหรือเป็นมะเร็งปอด


3

ในระยะหลัง การเดินจึงกลายเป็นการเดินทางที่ผมชอบ ผมเคยเดินจากบ้านไปออฟฟิศ เป็นระยะทางแปดกิโลเมตร โดยใช้เวลาราวๆหนึ่งชั่วโมงกับสี่สิบห้านาที (แต่ไปหยุดพักที่ร้านกาแฟกลางทางเสียสองชั่วโมง)


น่าแปลก ที่การเดินให้ความรู้สึกปลอดภัยกว่าการขี่จักรยาน หรือแม้แต่การซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้าง


แต่ก็อีกนั่นแหละ ที่เมืองอันได้ชื่อว่า กรุงเทพฯ แห่งนี้ ไม่ Encourage การเดินทางอื่นใดมากนัก เพราะนอกเหนือไปจากการขับรถยนต์ อันมีถนนหนทางเรียบสบายและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา (จนก่อให้เกิดรถติดมหาศาล) และรถไฟฟ้าอันเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาว่าเจริญแล้ว การเดินทางด้วยวิธีอื่นๆก็ดูเหมือนจะเป็นได้แค่ จัณฑาล ของการเดินทางเท่านั้น


คือไม่ได้แม้แต่อยู่ใน วรรณะ ใดๆในการเดินทางของกรุงเทพฯด้วยซ้ำ


ถ้าเราสังเกตดู เราจะเห็นว่า คนเดินถนนต้อง หลีกทาง ให้กับคนขับรถยนต์อยู่เสมอ ราวกับว่า รถยนต์คือเทพ คือพาหนะอันสูงส่ง ยามตามคอนโดฯ ก็จะตะเบ๊ะพร้อมส่งเสียงดังทำความเคารพให้รถยนต์ แต่ถ้าคุณคนเดิมเดินเข้าไป พวกเขาอาจตะคอกถามว่า มาหาใคร!” ให้ตกใจเล่นก็ได้


เวลาผมเดินอยู่บนทางเท้า เช่น บนถนนพหลโยธินหรือสุขุมวิท ที่มีทางเท้าค่อนข้างสะดวกสบายกว่าถนนอื่น เวลามีรถแล่นออกจากซอย ออกจากปั๊มน้ำมัน หรือออกจากตึก พวกเขาไม่เคยหยุดอย่างสุภาพให้ คน ได้เดินไปก่อน แต่จะ เสือกหัวรถ ออกมาทันควัน แม้ว่าเท้าของคนจะก้าวลงไปบนทางนั้นอยู่ก่อนแล้ว และ คน ก็ต้องหลบรถอยู่เสมอ หลายคนถึงกับสะดุ้งโหยงให้ผมเห็นด้วยซ้ำ เมื่อพวกเขาเห็นว่ารถยนต์กำลังจะออกมาจากซอย และพวกเขาก็ต้องหลบ


ไม่ต้องพูดถึงการข้ามถนนบนทางม้าลาย ซึ่งเป็นเรื่องบัดสีน่าละอาย และแสดงให้เห็นกมลสันดานอันแท้จริงของความเมตตาในประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธ


เวลาข้ามถนน ผมจึงบอกใครๆว่า เราต้อง ฝึก พวกที่นั่งอยู่ในรถยนต์กันด้วย เราต้อง ฝึก พวกเขาให้รู้ว่า คน ก็มี สิทธิ มากพอๆกับ รถ เหมือนกัน เวลาข้ามถนนบนทางม้าลาย เมื่อได้จังหวะที่เหมาะสม (เช่น ไม่ใช่ข้ามถนนตอนรถได้สัญญาณไฟเขียว) หรือแม้แต่เดินไปตามถนน แต่มีตรอกซอกซอยหรือทางรถที่ทับกับทางเท้า เราจึงควรสาวเท้าเดินด้วยจังหวะคงที่ อย่าหยุดเดิน แล้วถ้ามีรถออกมา เราก็ควรจะส่งสายตาของเราไปมองสายตาของ คน ที่อยู่ในรถ


ให้พวกเขาได้รับรู้ว่า สิ่งที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ตรงนี้ คือสิ่งมีชีวิต


และเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับคนที่อยู่ในรถ


ผมสนุกกับการทำเช่นนี้มาก และยังไม่เคยพบปัญหาใดๆ อาจเพราะในจิตสำนึกของตัวเองตระหนักอยู่เสมอว่า ได้เสียภาษีโดยไม่ได้ขอเงินที่เหลือคืน-แต่บริจาคให้รัฐ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว บางทีผมอาจเสียภาษีในแต่ละปีมากกว่าคนส่วนใหญ่ที่ขับรถอยู่บนท้องถนนด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่คนที่ โกง ภาษีผู้นั่งอยู่ในรถคันใหญ่ๆเลย ผมจึงรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิกับพื้นที่ถนนตรงนั้น มากพอๆกับรถยนต์ และรถยนต์ต่อให้ราคาแพงแค่ไหน ก็ไม่เคยมีคุณค่าสูงกว่ามนุษย์


ในบางเมืองของยุโรป คอนเซ็ปต์ Shared Space เริ่มเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มันคือการที่ใครๆก็เข้ามาใช้ถนนได้ โดยมี สิทธิที่เท่าเทียมกัน เรียกว่าเป็นการ แชร์ หรือแบ่งปัน เช่น จักรยาน คนเดิน รถเข็นเด็ก รถยนต์ รถเข็นผัก รถเข็นคนพิการ ฯลฯ ต่างก็เข้ามาใช้ถนนบางเส้นได้ ตรงไหนของถนนก็ได้ โดยที่แต่ละคนตระหนักถึง สิทธิ ของคนอื่นก่อน จากนั้นจึงรู้ว่า หน้าที่ ที่แต่ะละคนต้องปฏิบัติคืออะไร


ผมอยากให้กรุงเทพฯมี Shared Space แต่เหนือกว่านั้น ก็คืออยากให้กรุงเทพฯมีความ เมตตา ที่มนุษย์พึงมีให้กับมนุษย์ โดยตระหนักว่า มนุษย์แต่ละคนก็คือมนุษย์ และรถยนต์แต่ละคันก็คือรถยนต์


นอกจากเลิกใช้รถยนต์ ผมยังเลิกใช้นาฬิกาข้อมือด้วย


บางทีอาจเป็นเพราะผมรำคาญ สัญญะ ที่ติดมากับสิ่งเหล่านั้น เราขับรถเพราะอะไร ใส่นาฬิกาข้อมือเพราะอะไร


แต่อาจบางที-คงเป็นเพราะผมชอบการเดินมากขึ้น และเมื่อได้เดินมากขึ้น ผมก็ค้นพบว่า มันเป็นการเดินทางที่แช่มช้าเสียจนเราไม่จำเป็นต้องเร่งร้อนดูเวลา แต่เปิดโอกาสให้เราได้หันมาดู ผู้คนรอบข้างที่เราไม่อาจเห็นได้ชัดเจนนักจากการนั่งรถหรือแม้แต่ขี่จักรยาน


การเดินจึงเป็นบทสรรเสริญชีวิตที่ช้าลงด้วยตัวของมันเอง


แม้อาจทำให้ต้องตายบนทางม้าลายก็ตามที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น