1
คุณเคยไปไหนมาไหนแล้วเจอฝูงของ ‘นักถ่ายรูป’ บ้างไหม
ผมเคยได้ยินมาว่า ครั้งหนึ่ง มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นลุกขึ้นมาชกหน้า ‘นักถ่ายรูป’ ชาวไทยของเรา ได้ยินแล้วออกจะเคืองนิดหน่อย เพราะนักถ่ายรูปชาวไทยที่ว่าให้ปากคำเอาไว้ในเว็บบอร์ดว่า เขาถ่ายแต่รูปของร้านกาแฟที่มีคนญี่ปุ่นนั่งอยู่เท่านั้น ไม่ได้ถ่ายคนญี่ปุ่นเสียหน่อย ทำไมคนญี่ปุ่นต้องหวงแหนใบหน้าของตัวเองอะไรจะขนาดนั้น ถึงขั้นต้องทำร้ายร่างกายกันเลยหรืออย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งที่เคยเห็นอยู่ในเว็บบอร์ดก็คือ มี ‘นักถ่ายรูป’ ชาวไทยของเราดั้นด้นไปกินอาหารในร้านราคาแพงแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ แล้วก็ควักกล้องขึ้นมาถ่ายกันอย่างละเอียดละออ ทั้งตัวร้านไปจนถึงหน้าตาของอาหารการกิน แต่พนักงานเดินเข้ามาห้าม บอกว่าทางร้านไม่มีนโยบายให้ใครมาถ่ายรูปอย่างนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน
เล่นเอานักถ่ายรูปฉุนขาด ต่อว่าต่อขานทางร้านว่านี่จะเอารูปไปลงในเว็บบอร์ดให้เชียวนะ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านไปในตัว ทำไมร้านถึงไม่ยอม แล้วเขาเสียเงินซื้ออาหารมาแล้ว จะถ่ายของของตัวเองแล้วใครจะทำไม
เมื่อเอามาเล่าในบอร์ด ปรากฏว่านักถ่ายรูปรายนั้นถูกเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในเว็บบอร์ดรุมประณามยกใหญ่ว่าถ้าร้านไม่ให้ถ่ายก็ไม่ควรถ่าย
แต่กระนั้นก็ยังมีบางรายเข้ามาเห็นด้วยกับนักถ่ายรูป และประณามร้านแห่งนั้น
ตั้งแต่กล้องดิจิตอลเข้ามาแทนที่กล้องฟิล์มอย่างเป็นทางการและถาวร ผมพบว่า ไม่ว่าจะไปไหน (โดยเฉพาะในที่สวยๆ หรือในฤดูเทศกาล) ผมจะพบ ‘กองทัพ’ ของนักถ่ายรูปบุกตะลุยสถานที่เหล่านั้นอยู่เสมอ โดยมักจะมีกล้องกันคนละตัวสองตัว บางคนก็ถือขาตั้งกล้องทั้งที่เป็นเวลากลางวันสว่างโร่ แต่ส่วนใหญ่แล้ว นักถ่ายรูปมักจะเป็นผู้ชายที่เดินทางมากับเพื่อนผู้หญิง (ที่อาจเป็นแฟนหรือไม่ใช่ก็ได้) แล้วเขาและเธอก็มักจะตระเวนหามุมสวยๆถ่ายรูปกันเสมอ อาทิเช่น เอาหน้ายื่นเข้าไปแนบดอกกุหลาบ (ที่อาจจะเพิ่งฉีดยาฆ่าแมลงมาเมื่อเช้า) ยืนเอามือจิ้มภูเขา (ที่จริงไม่ได้จิ้ม แต่เมื่อทำมือแบบนั้นแล้ว มุมภาพที่ออกมาจะเหมือนเธอกำลังจิ้ม!) อ้าปากกว้างเหมือนกำลังกินกวางดาวในป่าฝน (ที่จริงก็ไม่ได้กินอีกนั่นแหละ แต่เมื่ออ้าปากแล้ว มุมภาพทำให้กวางดาวมาอยู่ในปาก) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักพยายามถ่ายรูปให้ออกมาเหมือนเว็ดดิ้งสตูดิโอให้มากที่สุด
ไม่น่าแปลกใจเลย ที่ธุรกิจถ่ายรูปจำพวกเว็ดดิ้งหรือถ่ายรูปแพ็กเกจจะมีราคาสูงลิบลิ่วถึงเป็นแสนๆบาท ก็เพราะพวกเราชอบเอาหน้าของตัวเองไป ‘แปะ’ ลงกับฉากสวยๆนั่นเอง และส่วนใหญ่แล้ว ถ้าใช้กล้องดิจิตอลป๊อกแป๊กถ่ายด้วยฝีมือป๊อกแป๊ก ภาพที่ออกมาก็มักจะป๊อกแป๊กไปด้วย ถ้าจะไม่ให้ป๊อกแป๊ก แต่ ‘ดูเหมือน’ ถ่ายโดยมืออาชีพ ได้ใส่ชุด ได้แต่งหน้า ก็ต้องแวะไปสตูดิโอถ่ายภาพ
ดังนั้น แต่เดิมเมื่อได้เห็นกองทัพ ‘นักถ่ายรูป’ ตระเวนกันไปถ่ายตามร้านสวยๆแถวเขาใหญ่กันกรูเกรียวจนน่าขนลุกอะไรทำนองนี้ ผมจึงมักรู้สึกยินดีที่คนไทยผู้รักการถ่ายรูปจะได้ฝึกปรือฝีมือกันเป็นการใหญ่ เขาและเธอจะได้ไม่ต้องเสียดุลในกระเป๋าให้กับร้านถ่ายรูปมากนัก
แต่แล้วในยามสายวันหนึ่ง ณ ร้านกาแฟ+ร้านอาหารสวยแห่งหนึ่งบนเขาใหญ่ ผมก็ต้องตกใจแทบล้มประดาตาย เมื่อได้พบว่าส่วนใหญ่แล้ว กองทัพช่างภาพเหล่านี้สนใจก็แต่ ‘ภาพ’ ที่จะได้ แต่ไม่สนใจ ‘วิธีการ’ ให้ได้มาซึ่งภาพนั้นเลย
วันนั้น คนหลายร้อยไปกองกันอยู่ที่ร้านกาแฟที่ร่ำลือกันว่าสวยแห่งนั้น แล้วทุกคนก็แทบจะทุบถองเบียดเสียดยัดเยียดกันถ่ายกรอบหน้าต่างบานซ้ำ วิวสวยที่เดิมที่เพิ่งถูกถ่ายจนช้ำ ซึ่งจะแย่งกันจนถึงขั้นตบตีผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะครับ ถ้าหากผมจะไม่สังเกตพบว่า คนเป็นร้อยๆที่ยัดเยียดกันเข้ามา ‘ถ่าย’ ในร้านกาแฟแห่งนั้นน่ะ ราวๆ 80% เข้ามา ‘ถ่าย’ กันอย่างเดียว แต่ไม่ได้ควักกระเป๋าซื้อหาอะไรในร้านเขาสักนิด แต่ทำตัวกันราวกับเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายนักถ่ายรูป กรูเกรียวกันถ่ายมุมนั้นมุมนี้ไม่มีหยุดกินกาแฟ ถ่ายเสร็จสาสมใจแล้วก็จูงมือกันกลับ
ผมยืนสั่งกาแฟอยู่หน้าเคาน์เตอร์ แต่ก็มีคนอีกราวสามร้อยคนในความรู้สึก พากันเบียดเสียดเยียดยัดเข้ามากองหน้าเคาน์เตอร์ ไม่ใช่เพื่อสั่งกาแฟ แต่เพื่อถ่ายรูป ถ่ายเสร็จแล้วก็ไป
เห็นแล้วผมอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่คือ ‘วิธีคิด’ พื้นฐานของเราชาวไทยจริงๆหรือ?
2
เมื่อเอาตัวรอดกลับมาจากกองทัพนักถ่ายรูปได้สำเร็จแล้ว ผมรู้สึกกับตัวเองอยู่ลึกๆว่า ดูเหมือนเวลานี้ บ้านเราจะมีแต่คนเชื่อว่า The Results always justify the means. หรือ ‘ผล’ เป็นตัวการตัดสิน ‘วิธีการ’ กันไปเสียหมดแล้ว
นักถ่ายรูปข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่ตัวอย่างที่เราเพิ่งเห็นกันหยกๆก็คือเรื่องของฝ่ายพันธมิตรกับคนรักทักษิณ ไล่เรื่อยไปจนถึงนักลากตั้งจัดตั้งรัฐบาล
ถ้าฝ่ายพันธมิตรเชื่อว่า ฝ่ายทักษิณเป็นคนเลว ก็ควรย้อนกลับไปดูการกระทำของตัวเองว่า วิธีการในการเรียกร้องของตนมีความสะอาดหมดจดมากน้อยแค่ไหน และการประกาศชัยชนะนั้นน่าตลกเพียงใด ในเวลาเดียวกัน ถ้าคนรักทักษิณคิดว่าฝ่ายพันธมิตรเลว ก็ต้องย้อนกลับไปดูสาเหตุตั้งต้นด้วยว่าการทุจริตที่เป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดมาจากใคร แต่ที่สุดของที่สุดก็คือ นักลากตั้งที่พยายามตั้งรัฐบาลกันนั้น ดูเหมือนจะพยายามไปให้ถึงจุดหมาย คือการได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น จะผสมพันธุ์กับใครหน้าไหนก็ช่างมัน-ฉันไม่แคร์
คล้ายว่า ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า เอาเหอะ จะใช้วิธีไหนก็ได้ล่ะวะ เพราะเมื่อกูชนะ เมื่อกูหันกลับมามองดูวิธีการที่กูใช้ มันย่อมเป็นวิธีการที่ถูกต้องเสมอ
ผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์-พวกเขาเชื่ออย่างนั้น
ผมว่ามันเป็นความเชื่อที่ห่วย!
แต่ที่ห่วยยิ่งไปกว่า ก็คือความคิดแบบนี้ไม่ได้เป็นความคิดของนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นความคิดของคนไทยทั่วๆไปด้วย และที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนที่สุดในหน้าเทศกาล ก็คือการตระเวนถ่ายรูป แล้ว ‘ทำอย่างไรก็ได้’ ให้ใบหน้าของคนที่ตัวเองถ่ายไปแปะอยู่บนวิวช้ำๆสวยๆทั้งหลาย
ผลก็คือ เราได้กองทัพนักถ่ายรูปที่ไม่มีความเกรงใจคนอื่น ถ่ายข้ามหัวคนอื่น ถ่ายรูปโดยไม่มีความเคารพต่อเจ้าของสถานที่ เอะอะเฮฮาสนุกสนานเพราะถือว่าเป็นวันพักผ่อนของฉัน ไม่เกรงใจคนอื่นๆที่มาใช้สถานที่เดียวกัน (ผมไม่แปลกใจอีกแล้ว ที่นักถ่ายรูปบางคนจะถูกนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นลุกขึ้นมาตั๊นหน้า หรือร้านบางร้านจะต้องออกกฎถึงขั้นสั่งห้ามถ่ายรูป!)
เราไม่พบนักถ่ายรูปที่ละเอียดประณีตอีกต่อไป ไม่เหมือนเมื่อนักถ่ายรูปยังใช้กล้องฟิล์มอยู่ พวกเขาต้องเล็งแล้วเล็งอีก กว่าจะกล้ากดชัตเตอร์
หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว เรื่องราวทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงเพราะเรื่องเงิน-เพราะฟิล์มมันแพงจึงต้องประหยัด แต่จิตสำนึกนั้นราคาถูกพอๆกับพิกเซลในกล้องดิจิตอล!
3
วิธีคิดแบบ ‘ทำอย่างไรก็ได้ ด้วยวิธีไหนก็ได้-ให้ชนะ’ นั้น มักว่ากันว่าเป็นวิธีคิดแบบมาคิอาเวลเลียน (มาจากชื่อของนิโคโล มาคิอาเวลลี นักปรัชญาการเมืองอิตาลี) แต่ขนาดมาคิอาเวลลีก็ยังเน้นย้ำเรื่อง virtue หรือคุณธรรมในทางการเมือง (ที่ไม่เหมือนคุณธรรมทางศาสนา) นั่นก็คือการใช้ทั้งกำลังอำนาจและความ ‘อดทน สุขุม ไตร่ตรอง’ ร่วมกัน มาคิอาเวลลีบอกไว้ว่า ผู้ปกครองที่ดีนั้น ต้องทำตัวเป็นทั้งสิงโตและหมาจิ้งจอก
ผมอยากรู้ว่า ณ นาทีนี้ เราเห็นใครเป็นสิงโตได้บ้างไหม-ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง, นักต่อสู้เรียกร้อง, นักถ่ายรูป,
หรือว่าเห็นแต่หมาบ้า!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น