๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

มืด vs สว่าง

1

ระยะหลังมานี้ ผมได้ยินคนนำคำสอนเรื่องเกี่ยวกับมืดและสว่างในพุทธศาสนามาเผยแพร่อยู่บ่อยครั้ง


ได้ยินแล้วผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาตะหงิดๆ ว่าการนำคำสอนเหล่านี้มาพูดกันแบบ ง่ายๆ นั้น จะทำให้เรา งงๆ และเผลอไผลเข้าใจผิดไปได้ ง่ายๆ ไหม


ผมคิดว่า อะไรที่สอนสั่งกันอย่าง ง่ายๆ ก็มีโอกาสมากมายไม่น้อย ที่จะเข้าใจผิดกันได้ ง่ายๆ ไม่น้อย


โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่คนไทยเรียกว่า ธรรมะ


เรื่องของความมืดและสว่างนี้ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น!


2

เรื่องของเรื่องก็คือ คำสอนที่ว่า เป็นคำสอนเกี่ยวกับมนุษย์เรา ว่ามีอยู่ด้วยกันสี่จำพวก


จำพวกแรกก็คือ มืดมา-มืดไป, จำพวกที่สองคือ มืดมา-สว่างไป, จำพวกที่สามคือ สว่างมา-มืดไป และสุดท้ายก็คือ สว่างมา-สว่างไป


แล้วก็มีการอธิบายกันไปต่างๆนานา โดยคำอธิบายที่ ป๊อบฯ ที่สุด ก็คือคำอธิบายที่อ้างว่านำมาจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย (คำว่า อังคุตตรนิกาย นั้น มีผู้เขียนผิดเป็น อังคุตรนิกาย เยอะทีเดียวครับ แถมบางคนก็เข้าใจผิดนึกว่าเป็น นิกาย อะไรสักอย่าง จริงๆแล้วหมายถึงชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่า นิบาต ภาษาอังกฤษบอกว่าหมายถึง Collection of Numerical Sayings เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็น นิกาย หรือ sect ทางศาสนาแบบนิกายต่างๆอะไรทั้งนั้นหรอกนะครับ)


คำอธิบายนั้นบอกว่า คนที่ มืดมา ก็คือพวกที่เกิดในตระกูลต่ำ หรือไม่ก็เป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ เตี้ยแคระ มีโรค ตาบอด เป็นง่อย หรือพิการ อะไรทำนองนี้


ส่วนพวก สว่างก็คือคนที่เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีเงินทอง มีข้าวของเครื่องใช้ หน้าตาดี รูปร่างสะสวย ผิวพรรณงดงาม มียวดยาน ดอกไม้ เครื่องหอมอยู่มาก


ทีนี้ถ้า มืดมา-สว่างไป ก็คือพวกตระกูลต่ำ หรือหน้าตาไม่ดี หรือพิการ ฯลฯ แต่เกิดประพฤติสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ พอตายไปก็เลยเรียกว่าได้ สว่างไป มีสว่างไปภายหน้า อะไรอย่างนี้เป็นต้น


ได้ฟังคำอธิบายทำนองนี้ ปัญหาของผมมันก็เกิดขึ้นสิครับ!


ปัญหาของผมก็คือ ผมคิดว่า คำอธิบาย มืดๆสว่างๆ อะไรพวกนี้ เป็นคำอธิบายของสังคมอินเดียสมัยด้อยปัญญาน่ะสิครับ


อ๊ะ! อย่าเพิ่งกล่าวหาว่าผมไม่เชื่อฟังพระพุทธเจ้า (หรือพุทธพจน์) เชียวนา เพราะผมคิดว่า คำอธิบายแบบนี้อาจจะใช้ได้ในยุคสมัยที่อินเดียแบ่งวรรณะกันอย่างเข้มข้น ทำให้ใครเกิดมาเป็นจัณฑาล ก็ต้องถือว่า มืด เสียยิ่งกว่ามืด หรือใครเกิดในตระกูลกษัตริย์ ก็พอกล้อมแกล้มบอกว่าเกิดมา สว่าง ได้อยู่หรอก


แต่เมื่อนำมาพูดในยุคสมัยปัจจุบัน ยุคสมัยแห่งวัตถุนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยม โดยนำมาทื่อๆเหมือนเดิม ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง


อันตรายตรงไหนหรือครับ?


ผมเคยได้ยินคนนำมาพูด นำมาอธิบายทางวิทยุในแบบที่ว่าเปี๊ยบ มันเป็นคำอธิบายแบบ ง่ายๆ ซึ่งชวนให้คิดเป็นอย่างยิ่งว่า คำสอนนี้ได้วาง เป้าหมาย ของชีวิตเอาไว้ที่วัตถุ หรือสิ่งที่อยู่ภายนอก ซึ่งก็มีตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ชาติตระกูล หรือทรัพย์สมบัติ ซ้ำร้ายที่สุด ยังเป็น แส้ ที่เอาไว้โบยตีคนที่อยู่ในโครงสร้างสังคมชั้นล่างด้วย เรียกว่าถ้าเผลอเกิดมาหน้าตาชั่ว ฐานะยากจน หรือพิการละก็ ก็แปลว่าชาติก่อนคุณน่ะ ได้ทำกรรมชั่วเอาไว้ ถึงได้ มืดมา อย่างนี้ ซึ่งก็สอดรับกับวิธีคิดแบบ พุทธไทย โดยทั่วไปไม่น้อย


วิธีคิดแบบนี้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาอย่างน้อยก็สองอย่างครับ


อย่างแรกก็คือ มันเป็นวิธีคิดที่ช่วยค้ำจุน โครงสร้าง ทางสังคมแบบแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน นั่นคือเป็นการช่วยสร้างความ ชอบธรรม ให้กับคนที่อยู่ ด้านบน ของโครงสร้างสังคม ใครเกิดมารวย เกิดมาในตระกูลสูง ก็แปลว่าพวกเขา ชอบธรรม แล้ว เนื่องจากชาติที่แล้วทำดีมา เพราะฉะนั้น ถ้าคิดอย่างนี้ ก็เลิกได้เลยครับ ไม่ต้องไปคิดเรื่องภาษีมรดก หรือภาษีที่ดินหรอก ก็มันเป็นเรื่อง บุญทำกรรมแต่ง นี่นา


อย่างที่สองก็คือ มันเป็นวิธีคิดที่เอาไว้ใช้ ควบคุม คนชั้นล่างที่ดันเกิดมาจน หน้าตาก็ไม่สะสวยพอจะไปเป็นดาราหาเงินได้ แถมยังนับรวมไปถึงคนพิการหรือป่วยอีกต่างหาก ว่าคนเหล่านี้ก็ควรจะ ประพฤติดี เข้าไว้ ซึ่งการ ประพฤติดี ย่อมนับรวมไปถึงการไม่ลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องสิทธิของตัวเอง แม้ว่าจะถูกยึดที่ดินทำกิน หรือถูก โครงสร้าง ดูดกลืนเอาทรัพยากรของตัวเองไปมากแค่ไหนก็ตาม แต่เพื่อจะ สว่างไป ก็ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวทำตนเป็น คนดี เข้าไว้


พูดง่ายๆก็คือ อยากมีชีวิตที่ดีกว่าหรือ...รอชาติหน้าเถอะพี่!


ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทำใจให้เชื่อได้ยาก ว่าคำสอนที่ว่านี้ เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง!


3

โชคดีอย่างยิ่ง ที่ผมไปค้นอังคุตตรนิกายเพิ่มเติม แล้วก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมาอย่างหนึ่ง


เรื่องน่าสนใจที่ว่าก็คือ เคยมีพราหมณ์ชื่อ สิขาโมคคัลลานะ เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าด้วยคำถามที่ผมว่าสุดแสนจะทันสมัย ท้าทาย และคลาสสิคเป็นที่สุด


พราหมณ์ถามคล้ายๆกับว่า พระพุทธเจ้าเคยสอนเรื่องการไม่ทำกรรม เพื่อให้ดับสูญหรือถึงนิพพาน แต่เมื่อสอนอย่างนี้แล้วจะดีหรือ เพราะว่าโลกนั้นย่อมมีกรรมเป็นสภาพ พูดง่ายๆก็คือ โลกดำรงอยู่ได้ก็ด้วย กรรม นี่แหละ


พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสตอบ ด้วยเรื่องของกรรม ว่ากรรมนั้นมีอยู่ 4 อย่าง คือกรรมดำ, กรรมขาว, กรรมที่มีทั้งดำทั้งขาว และสุดท้ายก็คือ กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว


พวกที่ทำกรรมดำ ก็ย่อมได้วิบากดำ เช่น เบียดเบียนคนอื่น ก็ต้องได้เสวยเวทนาที่เป็นทุกข์ เหมือนสัตว์นรก, พวกที่ทำกรรมขาว ก็ย่อมได้วิบากขาว พระองค์ตรัสว่า เป็นสุขโดยส่วนเดียว เหมือนพวกเทพ, ส่วนคนที่ทำทั้งกรรมดำกรรมขาว (อันเห็นจะเป็นคนส่วนใหญ่ในโลก!) ก็จะได้วิบากทั้งดำบ้างขาวบ้าง พวกนี้ก็คือมนุษย์นี่แหละครับ


แต่ที่น่าสนใจสุดๆเลยก็คือกรรมประเภท ไม่ดำไม่ขาว เพราะนี่คือ กรรม ที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการ พ้น ไปจากวิธีคิดแบบ ทวิลักษณ์ หรือวิธีคิดแบบสองขั้ว คือดำ-ขาว (หรือมืด-สว่าง) ว่าเราจะพ้นไปจากกรรมได้ ก็ต่อเมื่อมีกรรมที่เป็นแบบไม่ดำไม่ขาว ซึ่งก็คืออาการ ไม่ผลักไส-ไม่ใฝ่หา ตามคำ (และชื่อหนังสือ) ของพระไพศาล วิสาโล นั่นเอง


4

เรื่องกรรมดำ-กรรมขาว ทำให้ผมได้ข้อสรุปเรื่อง มืดมา-สว่างไป ว่าอย่างนี้ครับ


ถ้าเราอยากให้เรื่อง มืดมา-สว่างไป เป็นเรื่องที่ สว่าง จริงๆ ไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอวิชชาทางสังคม (โดยไม่รู้ตัว!) ไม่ว่าจะแบบอินเดีย (ที่ยึดชนชั้นชาติกำเนิดเป็นใหญ่) หรือแบบทุนนิยม (ที่ยึดวัตถุทรัพย์สินเป็นใหญ่) ผมคิดว่าเราต้องตีความคำว่า มืดมา-สว่างไป เสียใหม่ครับ


การตีความที่ว่าก็คือ ใครก็ตามที่มีความ อยากสว่าง อยู่ในตัว (ไม่ว่าความสว่างนั้นจะหมายถึงการได้เกิดใหม่มีรูปร่างหน้าตาดี มีทรัพย์สมบัติมาก หรือแม้แต่ความสว่างที่หมายถึงสติปัญญา การเป็น คนดี หรือแม้แต่การ อยากนิพพาน) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพวก มืดมา ทั้งสิ้น


เพราะ ความอยาก ล้วนเป็นสมบัติของความมืด-ไม่ว่าจะ อยาก อะไรก็ตาม


โดยเฉพาะอยากสว่าง’ !


คนจำพวกเดียวที่จะ สว่างมา และ สว่างไป ได้ ก็คือคนที่ไปพ้นจากความ อยากสว่าง รวมถึงความ อยากมืด (ซึ่งจำพวกหลังนี้เห็นได้ง่ายว่าเป็นปัญหามากกว่าคนประเภท อยากสว่าง มากนัก) เพราะความ อยากสว่าง เอง ก็เป็นอวิชชา หรือเป็น ignorance ในตัวของมันเองด้วย


ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ คำสอนแบบ มืดมา-สว่างไป ที่พูดกันนั้น เป็นคำสอนแบบจริยธรรมพื้นๆ ที่มีเป้าหมายในการควบคุมสังคมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งก็มีปัญหาขัดแย้งในตัวของมันเองอยู่ สิ่งที่ยากกว่า น่าสนใจกว่า และน่าจะช่วยแก้ปัญหาในการ อยู่ร่วม และ ไปพ้น ของเราได้มากกว่า ก็คือการทำความเข้าใจและไปให้พ้นจากวิธีคิดแบบสองขั้ว ขาว-ดำ, มืด-สว่าง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงชี้แนะเอาไว้แล้วอย่างลึกซึ้ง


ถ้าเรายึดคำสอนแบบจริยธรรมพื้นฐาน เราก็เป็นได้เพียง พุทธวิคตอเรีย หรือ พุทธอินเดียโบราณ ซึ่งกล้อมแกล้มรวมกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ


แต่ไม่ใช่พุทธที่ปลอดพ้น!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น