๒๑ มีนาคม ๒๕๕๓

ความรุนแรงในม็อบ


เมื่อวานไปที่ม็อบ ได้เห็นความรุนแรงที่สะเทือนใจอย่างหนึ่ง คือมีชาวเสื้อแดงเข็นรถ
เข็นขายไอติมกะทิจนๆคนหนึ่งเปิดตักไอติมให้ทุกคนกินฟรีๆ

ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสวิ่งเข้ามาหาความเย็นของไอติมในไอแดดเปรี้ยง โดยไม่มีใครต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว

ไม่ใช่แค่ไอติม แต่รวมถึงเครื่องเคราราดหน้าไอติมด้วย

ตอนนั้นเอง ชาวเสื้อแดงในรถเก๋งติดแอร์เย็นฉ่ำคันหนึ่ง ก็ได้ส่งลูกวิ่งเข้ามา 'ขอ' ไอติมที่ว่ากินด้วย ไม่ใช่เพราะร้อน เพราะในรถติดแอร์เย็นฉ่ำ ไม่ใช่เพราะหิว เพราะมีเสบียงกรังอยู่ในรถพอสมควรแล้ว แน่นอน อาจมีเหตุผลอื่น เช่น เด็กอยากกินไอติม แต่เหตุผลหนึ่งที่ผมมองเห็นด้วยสายตามองโลกในแง่ร้าย ก็คือไอติมเป็น 'ของฟรี'

ที่คิดอย่างนั้นก็เพราะเด็กคนนั้นไม่ได้ขอไอติมเพียงถ้วยเดียว แต่ขอหลายถ้วยเพื่อนำกลับไปแบ่งปันให้คนในครอบครัวของตัวเองด้วย

สำหรับผม-นี่คือความรุนแรงอย่างหนึ่ง

ถูกละ คนขายไอติมอยากแจก มันเป็นสิ่งเล็กๆที่เขาทำได้เพื่อแสดงออกถึงความคิดและความเชื่อของเขา เขาตักจนแขนล้าน้ำตารื้น จนต้องนั่งพัก

สิ่งที่เขาได้ 'มอบให้' กับความคิดและความเชื่อของเขา คือการทุ่มเทลงไปจนหมดทั้งเนื้อตัว ใช่! ด้วยไอติมแค่ถังเดียว มูลค่าทั้งถังไม่เท่ายางเส้นหนึ่งของรถเก๋งคันนั้นด้วยซ้ำ

ผมชอบนึกถึงพระเยซู ที่เคยตรัสถึงหญิงชราผู้นำเหรียญเล็กๆมาบริจาคให้โบสถ์ว่า เธอนี่แหละ คือผู้ที่จะเข้าถึงสวรรค์ ขณะที่เศรษฐีบริจาคเงินเป็นร้อยเป็นชั่ง กลับไม่ได้ไปถึงสวรรค์ เพราะเงินร้อยชั่งของเศรษฐี แท้จริงแล้วเป็นแค่เศษเงินของเขา ขณะที่เงินเหรียญเดียวนั่น คือเหรียญเดียวที่หญิงชรามีอยู่ทั้งชีวิต

ผมคิดว่า สาระสำคัญของประชาธิปไตยที่เราเรียกร้องอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงการมองให้เห็น โครงสร้างความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง แม้เป็นเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย แม้ดูเหมือนชอบธรรม เพราะคนขายไอติมอยากแจก และคนนั่งรถเก๋งอยากรับ

จนถึงวันนี้ ผมได้แต่สงสัยว่า ไอติมถังนั้น ใครคือผู้แบกรับ เพราะอะไร คนที่ยากจนอยู่แล้ว จึงอาสาแบกรับสิ่งเหล่านี้

และเพราะอะไร คนบางคนในสถานะที่เหนือกว่า จึงเป็นผู้ให้ไม่ได้เสียที