๐๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒

วาทกรรม

คุณเคยได้ยินคำว่า 'วาทกรรม' ไหม?

ล่าสุด ในสภา (อันเป็นที่รักยิ่ง!) ของเรา ก็มีคนหล่นคำว่า 'วาทกรรม' กันเกลื่อนกล่น คำคำนี้ยังหล่นอยู่ตามหน้าปัดวิทยุและจอโทรทัศน์อีกด้วย เมื่อนักเล่าข่าว พิธีกรข่าว หรือนักวิเคราะห์การเมืองทั้งหลายพูดถึง 'วาทะ' ของคนอื่นๆ

ผมเข้าใจว่า คำว่า 'วาทกรรม' ที่คนเหล่านี้ใช้ หมายความถึง 'วาทะ' + 'กรรม' อย่างตรงไปตรงมา (ซึ่งก็ชวนให้คิดเช่นนั้นอยู่) และแปลได้ง่ายๆว่าเป็น 'กรรม' หรือการกระทำที่เกิดจาก 'วาทะ' หรือการพูด ซึ่งฟังดูก็เก๋ไก๋ดี ตัวอย่างก็คือ บางคนบอกว่า สิ่งที่อีกคนหนึ่งพูดนั้นก็เป็นแค่ 'วาทกรรม' เท่านั้นเอง หาสาระประโยชน์อะไรไม่ได้ และทำให้คำว่า 'วาทกรรม' ที่สู้อุตส่าห์ถูกปลุกปั้นมาโดยนักวิชาการโพสต์โมเดิร์นนิสต์นั้น ต้องหดหายเรื่องความหมาย มาเหลือแค่คำว่า 'วาทะ' ในทำนองเดียวกับ วาทศิลป์ หรือการตีฝีปากอะไรแบบนั้น

ที่จริง 'วาทกรรม' มีที่มาจากคำว่า discourse และมันไม่ได้หมายถึงแค่ 'วาทะ' เฉยๆ แต่มีนัยย้อนโยงกลับไปถึงมิเชล ฟูโกต์ ซึ่งถ้าใครอยากจะรู้มากกว่านี้ ก็คงต้องไปค้นหากันเอาเองว่า discourse นั้นไซร้ มันหมายถึงอะไรบ้าง

เพราะผมไม่ได้อยากจะเล่าให้ใครฟังถึง 'วาทกรรม' แต่อย่างใด

เรื่องที่ผมอยากจะบันทึกไว้ และคิดว่ามันสุดแสนจะ irony ก็คือการที่ผมได้ยินนักวิชาการโพสต์โมเดิร์นบางราย ออกมาประณามการใช้คำว่า 'วาทกรรม' ในแบบที่หดหายมันให้เหลือความหมายในระดับของ 'วาทะ' โดยผู้ (ไม่) รู้ ในแวดวงสื่อสารมวลชนและนักการเมือง

ที่บอกว่ามัน irony เป็นเพราะโพสต์โมเดิร์นนิสม์นั้น ไม่มีนโยบายประชานิยม เอ๊ย! ไม่ใช่ครับ ไม่มีนโยบายแบ่งแยกประเภท อย่างหนังสือของ อ.ไชยันต์ ไชยพร ที่พูดถึงมนุษย์ที่แบ่งประเภทไม่ได้นั่นแหละ และนอกจากนี้ โพสต์โมเดิร์นก็ยังเกิดขึ้นเพื่อต่อสู้ต่อรองกับ 'โมเดิร์น' ด้วย โมเดิร์นนั้นหมายถึงหลักการอะไรบางอย่างที่ต้องมี 'แบบ' อันเป็นที่สุด เป็น model ที่ถูกต้องแน่นอน และต้องไปให้ถึงแบบนั้น ถึงจะเรียกได้ว่าโมเดิร์น แต่พอมาเป็นโพสต์โมเดิร์น ก็มีการ 'รื้อ' ทำลายไอ้เจ้าแบบที่ว่า แล้วสร้างใหม่ (หรือไม่สร้างก็ได้) ให้มันเกิดอาการกระจัดกระจายพรายพลัดเล่นๆ ถือเป็นการทำความเข้าใจและมองโลกที่เคยมีโครงสร้างแข็งๆเสียใหม่ ด้วยการรื้อโครงสร้างพวกนั้นออกมาดูกันให้ถึงกึ๋นถึงแก่น

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องสุดแสน irony สำหรับผมนัก ที่นักโพสต์โมเดิร์น (อันที่จริงโลกไม่มีคำคำนี้หรอกนะครับ เพราะโพสต์โมเดิร์นแบ่งแยกประเภทไม่ได้!) จะออกมาบอกเราว่า มีการใช้คำว่า 'วาทกรรม' ผิดๆ

เพราะถ้าคุณพูดเช่นนั้น ก็หมายความว่ามี 'แบบ' ของคำว่า 'วาทกรรม' ที่ถูกต้องอยู่แบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือ 'แบบ' ที่ใช้กันในแวดวงวิชาการ คือ 'นิยาม' แบบเดียวกับ discourse ของฟูโกต์ หรืออะไรทำนองนั้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม มีคนบอกว่า 'ความจริง' ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่อง exclusivism คือเป็นการ 'กัน' ความจริงอื่นๆทิ้งไปให้หมด ความจริงตามนิยามของฉัน (หรือของกู!) จะได้เด่นชัด จะได้ลอยตัวขึ้นมาให้เห็นได้ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน ถ้าเราอยากให้ 'วาทกรรม' มีนิยามเฉพาะในแบบของเรา เราก็ต้อง 'กัน' ความจริงในการใช้คำว่า 'วาทกรรม' ในแบบอื่นๆทิ้งไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักโพสต์โมเดิร์นออกมาพยายาม 'กัน' ความจริงที่ว่า 'วาทกรรม' ก็คือ 'วาทะ' ของคนหลายๆคน (ในวงกว้าง)

แต่การออกมา 'กัน' แบบนี้ มันคือท่าทีแบบโมเดิร์นนะครับ ไม่ใช่ท่าทีแบบโพสต์โมเดิร์น!

เหมือนที่เรา (เคย) บอกว่า ภาษาไทยที่ถูกต้องก็คือภาษาไทยกลางเท่านั้น ไทยอีสาน ไทยเหนือ ไทยสุพรรณฯ เป็นแค่สำเนียงที่ 'แปร่ง' หรือ 'เหน่อ' ไปจาก 'ต้นแบบ' (ที่เห็นในทีวีและข่าวพระราชสำนัก) เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็น 'ภาษา' โดยตัวของมันเอง นั่นก็คือการพยายามลดทอน 'อำนาจ' ของภาษาแบบอื่นที่ไม่เหมือนกับตัวเอง และเป็นบทเรียนอันเจ็บแสบ เจ็บปวด ที่เกิดขึ้นกับคำว่า 'รัฐไทย' ซึ่งส่วนหนึ่งส่องสะท้อนออกมาในปัญหาความขัดแย้งปัจจุบันด้วย

มันเกิดขึ้นเพราะวิธีคิดแบบโมเดิร์นนั่นเอง!

ผมคิดว่า ใครจะใช้คำว่า 'วาทกรรม' อย่างไร ก็เชิญใช้กันได้ตามเสบย แต่ควรต้องรู้ด้วยว่า 'นิยาม' ที่ตนใช้คืออะไร กีดกันสิ่งอื่นๆออกมามากน้อยแค่ไหน (เช่น วาทกรรมของนักข่าวและนักการเมือง ก็ได้ 'กีดกัน' คำว่า 'วาทกรรม' ในความหมายแบบฟูโกต์ออกไปอย่างสิ้นเชิง-ซึ่งก็น่าคับแค้นพอควรสำหรับคนที่อุตส่าห์คิดค้นขึ้นมา) และคิดว่านักคิดโพสต์โมเดิร์นก็คงเห็นด้วยกับความคิดนี้ ส่วนใครที่อยากตีวง จำกัดคำว่า วาทกรรม เอาไว้ในแวดวงของตัวเอง 'เท่านั้น'

คนคนนั้นก็ 'เดิ้น' (ในความหมายของ 'โมเดิร์น') จริงๆครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น