๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒

บรรณาธิการ

 

                นันทขว้าง สิรสุนทร โทรศัพท์มาถามว่ามีความเห็นอย่างไรกับการที่มนุษย์ยุคไซเบอร์เข้าไปเขียนงานในเว็บกันมากขึ้น จนสื่อสิ่งพิมพ์แทบจะตายไปหมดแล้ว โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ และในภาวะอย่างนี้ คนที่เป็น บรรณาธิการ จะปรับตัวรับมืออย่างไร บรรณาธิการจะยังมีบทบาทอยู่ไหม ในยุคที่ใครๆก็เขียนได้ และเขียนปุ๊บก็สามารถ เผยแพร่ ได้ปั๊บ แทบจะในทันทีทันใด

                สำหรับตัวเอง ผมคิดว่าคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเช่นเดียวกัน ในกรณีนี้ ผมชอบคิดเปรียบเทียบ นักเขียน เข้ากับ นักพูด ในแง่ที่ว่า ใครๆก็ พูด เป็น ใครๆก็เจื้อยแจ้วเจรจาเล่าเรื่องกันได้ ส่งคลื่นสะเทือนผ่านเส้นเสียงออกมาเป็นคำกันได้

                แต่มีคนที่เป็น นักพูด ที่แท้จริงอยู่สักกี่คน

                ในเรื่องของการเขียนก็เช่นเดียวกัน ผมคิดว่ายิ่งมีคนเข้ามาเขียนในโลกไซเบอร์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นเรื่องดีเท่านั้น เพราะยิ่งมีคนเขียนในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เรา แยก คนที่ เป็น กับการเขียน กับคนที่ทำได้แค่เขียน ออกจากกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นกรณีคล้ายกับการแยกคนที่ เป็น กับการพูด กับคนที่ทำได้แค่พูดออกจากกัน

                แน่นอน คำว่า เป็น กับการเขียนในที่นี้ ย่อมไม่เหมือนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว ในโลกการเขียนยุค โมเดิร์นนิสม์ การเขียนย่อมมี แบบแผน บางอย่างที่ต้อง ไปให้ถึง อาทิเช่น การใช้ภาษา มุมมองที่เหมาะสม ลีลา การเล่าเรื่อง คลังคำ ฯลฯ ซึ่งในโลกแบบนั้น บรรณาธิการย่อมเป็นคนสำคัญที่สุด เพราะบรรณาธิการคือผู้คัดเลือก คัดสรร บรรณาธิการในตำนานอย่าง คุณย่าบอกอ แห่งสตรีสาร หรือคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ไม่ได้ทำหน้าแค่แนะนำวิธีเขียน แต่ยังแนะนำเลยไปถึงวิธีคิด เช่น แนะนำให้ผู้เขียนหัดมองโลกในแง่ดี รวมไปถึงนำเสนอวิธีใช้คำแบบใหม่ๆ บรรณาธิการอย่างสุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็เป็นตำนานที่สร้างนักเขียนเรื่องสั้นขึ้นมามากมาย

                แต่เราปฏิเสธได้หรือว่า บรรณาธิการแบบคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง หรือบรรณาธิการแบบสุชาติ สวัสดิ์ศรี นั้น ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ใช่ แบบ (หรือ Model ในความหมายของเพลโต) ของบรรณาธิการเพียง แบบ เดียว พูดง่ายๆก็คือ ถ้าคุณนิลวรรณเป็น สัจธรรม ของบรรณาธิการแบบหนึ่ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็เป็น สัจธรรม ของบรรณาธิการอีกแบบหนึ่ง

                ไม่นับรวมบรรณาธิการแบบสุวรรณี สุคนธา, นันทวัน หยุ่น, ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล, เสถียร จันทิมาธร, สุภาวดี โกมารทัต, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, นวลจันทร์ ศุภนิมิตร และอื่นๆ

                พูดง่ายๆก็คือ แม้จะมี หลักการใหญ่ บางอย่างร่วมกันอยู่เป็นสัจธรรมสูงสุด แต่เมื่อปลีกย่อยลงไปแล้ว บรรณาธิการแต่ละคนก็คือแต่ละ แบบ

                ผมคิดว่า คนรุ่นใหม่ที่เข้าไปอยู่ในเว็บไซต์มีลักษณะแบบโพสต์โมเดิร์นนิสม์มากขึ้น แต่ละคนได้ แตกกระจาย ในเรื่องของ แบบ ออกมา ทำให้ แบบ ที่เคย ใหญ่ นั้นแตกตัวออกมาเป็น แบบ เล็กๆยิบย่อย พูดง่ายๆก็คือ พวกเขาไขว่คว้าและ สร้าง สัจธรรมใน แบบ ของตัวเองขึ้นมา

                เพราะฉะนั้น แต่ละคนจึงสามารถเป็นได้ทั้ง นักเขียน และ บรรณาธิการ ในตัวของตัวเอง บรรณาธิการในโลกไซเบอร์เป็นได้ตั้งแต่คนที่คอย กำกับ ให้เด็กสาวในแคมฟร็อกถอดชิ้นนั้นชิ้นนี้ ไปจนกระทั่งถึงเพื่อนฝูงในเว็บบอร์ดคนรักการเขียนที่เอานิยายที่ตนเขียนมาโพสต์ แล้วคนอื่นๆก็ติชมและทำหน้าที่ shape ทั้งเรื่องและความคิดกันไป เลยไปถึงการเป็นเว็บมาสเตอร์คอยคัดกรองคำหรือวิธีคิดที่ (ตัวเองเห็นว่า) ไม่เหมาะสม

                ในโลกไซเบอร์จึงไม่มีคำว่า บรรณาธิการตัวจริง หรือ บรรณาธิการใหญ่ อยู่อีกต่อไปแล้ว ซึ่งสำหรับผม มันไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าเสียใจอะไร มันเพียงแต่เป็นไปอย่างที่มันเป็นเท่านั้นเอง

                อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อของผมอยู่ว่า หนังสือเล่มหรือนิตยสารไม่มีวันล้มหายตายจากไป มันจะเป็น สื่อ อีกสื่อหนึ่งที่คงอยู่และทำรายได้หล่อเลี้ยงตัวเองและคนที่รักมันได้ แม้จะไม่เปรี้ยงปร้างโด่งดังเหมือนเมื่อก่อน แต่ ข้อดีที่สุด ของการที่ผู้คน เคลื่อน เข้าไปอยู่ในเว็บกันเยอะ ทุกคนต่างก็ เขียนได้ นั้น มันทำให้แวดวงคนทำหนังสือเล่มหรือนิตยสาร มีโอกาส เห็น ได้ชัดขึ้น แยกแยะคนที่เขียนหนังสือ เป็น กับเขียนหนังสือ ได้ ได้ชัดเจนขึ้น เหมือนแยกอัญมณีในกองหิน และบรรณาธิการก็ยังคงมีบทบาทของตัวเองอยู่ เพียงแต่ต้อง รู้และ ตระหนัก ให้ได้ว่า ถ้าอยู่ในโลกไซเบอร์ เราควรเป็นบรรณาธิการแบบไหน ถ้าอยู่ในโลกจริงของการทำหนังสือเล่มและนิตยสาร เราควรเป็นบรรณาธิการแบบไหน และทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีเขียน ในโลกไซเบอร์ (ที่ต้องการความสั้นเป็นสรณะ) ก็ไม่เหมือน วิธีเขียน ในหนังสือเล่ม ในหนังสือ Microtrends ของ มาร์ค เพนน์ บอกไว้ว่า เทรนด์ การอ่านหนังสือของคนอเมริกัน (ที่คลั่งโลกไซเบอร์ยิ่งกว่าเรา) นั้น ตามสถติจะเห็นว่า หนังสือ ขายดี นั้นมี ความหนา เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ความหนาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยหน้า แปลว่าเมื่อโลกสมาธิสั้นกันถึงที่สุด ก็มีโอกาสที่คนบางกลุ่มจะหันมาสมาธิยาวกันใหม่อีกครั้งได้เหมือนกัน

                อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน ที่เคยใช้วัดสิ่งต่างๆมาตรฐานเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เราต้องการมากกว่า สองมาตรฐาน ด้วยซ้ำไปครับ ในสถานการณ์หนึ่งๆ บริบทหนึ่งๆ ผู้คนแบบหนึ่งๆ เราไม่สามารถเอามาตรวัดเดิมที่เราคุ้นเคย (ในฐานะบรรณาธิการ) ไปทาบเทียบ แล้วชี้ถูกผิดได้อีกต่อไป

                บทบาทของการเป็นบรรณาธิการในโลกยุคนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว อัญมณีเลอค่าของทุกวันนี้ ไม่ใช่อัญมณีก้อนเดิมกับเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว

                เผลอๆ ก้อนหินที่เคยไร้ค่า อาจกลายเป็นอัญมณีของยุคสมัยก็ได้ ใครจะรู้ มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะให้ค่ากับสิ่งไหน

                เพราะเราก็สมมุติทุกอย่างขึ้นมาไม่ใช่หรือ

                รวมทั้งความเป็น บรรณาธิการ ด้วยนั่นแหละ!

 

recalcitranter.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น