สองร้อยปีก่อน มีขบวนการใต้ดินที่ช่วยปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระในอเมริกา ทุกวันนี้ ขบวนการใต้ดินนั้นย้ายเข้ามาอยู่ในไซเบอร์สเปซ
คำพูดของวิศวกรคนหนึ่งในองค์กรซอฟท์แวร์ FirePhoenix
ซึ่งเป็นเครือข่ายหนึ่งที่ต่อต้านการเซนเซอร์ในโลกไซเบอร์
ตลกดี-ผมคิด เมื่อเขาคนนั้นบอกว่าจะมีการติดตั้งระบบดักจับข้อมูลบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่าซอฟท์แวร์ ‘นักดม’ หรือ Sniffer
จริงๆคำว่า Sniff นั้น พูดขึ้นมาครั้งใด ก็ชวนให้คิดถึงหมาอยู่ร่ำไป เพราะเจ้าหมาที่คอยมาด้อมๆมองๆกระเป๋าของผู้โดยสารเพื่อตรวจหาสารเสพติดตามสนามบินนั้น ฝรั่งเขาเรียกว่า Sniff Dog
เพราะฉะนั้น พูดง่ายๆ โปรแกรม Sniffer ที่จะมีการติดตั้ง ก็คือโปรแกรมหมาดมกลิ่นนั่นแหละครับ
การติดตั้งระบบดักจับข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตนั้น พูดง่ายๆก็เหมือนกับการ ‘ดักฟัง’ โทรศัพท์ เพียงแต่ไม่ได้ดักฟังเป็นครั้งๆไป แต่มีการ ‘ดัก’ กันทั้งกระบวนการ โดยคณะทำงานกำกับดูแลและเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของกระทรวงไอซีที มีมติเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องติดตั้งเจ้า Sniffer หรือโปรแกรมหมาดมกลิ่นนี้ไว้ที่เกตเวย์ด้วย เอาไว้คอยดักอ่านข้อมูลที่วิ่งไปมาในเน็ตเวิร์คทั้งหมด แล้วพอเห็นอะไรผิดปกติ ก็จะแจ้งให้ผู้ประกอบการตรวจสอบ
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น มันเหมือนการ ‘ดักฟัง’ โทรศัพท์ทั้งระบบ
คำถามก็คือ จะทำไปทำไม?
ตอบง่ายๆก็คือ เป็นการช่วยป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือละเมิดลิขสิทธิ์ โดยไม่เหมือน พ.ร.บ. การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งจะเอาผิดได้เมื่อมีคดีความเกิดขึ้นเท่านั้น เรียกว่าถ้าเป็นอาการ ‘ป่วย’ ก็ถือเป็นการผ่าตัดเพื่อ ‘รักษา’ แต่เจ้าหมาดมกลิ่นนี้ จะเป็นการ ‘ป้องกัน’ ไม่ให้ผู้คนเกิดอาการป่วยขึ้น จึงเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุ
ที่สำคัญ ยังมีผู้ออกมาบอกว่า การติดตั้งเจ้าหมาดมกลิ่นนี้เป็นเรื่องสากลที่แม้แต่ประเทศใหญ่ๆอย่างสหรัฐอเมริกาก็ทำ!
ฟังดูน่าเชื่อถือ และน่าปฏิบัติตาม มีแต่คุณประโยชน์ดีเหมือนกันใช่ไหมครับ ยิ่งเรียกว่า Sniffer หรือเจ้าหมาดมกลิ่น ก็ยิ่งฟังดูน่ารักไม่ใช่เล่น น่าปล่อยให้มันเข้ามาดมในสนามหน้าบ้านของเราอยู่ไม่น้อย เผื่อว่าเจ้าหมาตัวนี้จะได้ช่วยระวังรักษาความปลอดภัยอะไรให้เราได้
แต่คำถามของผมก็คือ ว่าแต่, เจ้าหมาน้อยน่ารักที่มีหน้าที่ควบคุมผู้อื่นตัวนี้ มันจะรู้จัก ‘ควบคุมตัวเอง’ บ้างหรือเปล่าหนอ
มันจะรู้จัก ‘หยุด’ อยู่แค่ไหน แค่ในสวน แค่ที่ธรณีประตูบ้าน เข้ามาดมในห้องนั่งเล่น ในครัว หรือขึ้นไปนอนกระดิกหางอยู่บนเตียงของเราด้วย
ถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น การบังคับใช้เจ้าหมาตัวนี้ มันก็เหมือนการบังคับให้ประชาชนต้องเปิดม่านเอาไว้ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะกิน ขี้ ปี้ หรือนอน เพราะกลัวคุณจะใช้โถส้วมหรือเตียงนอนที่ละเมิดลิขสิทธิ์!
คำถามถัดมาก็คือ ถ้าเราต้องเปิดม่านเอาไว้ตลอดเวลา แน่ใจละหรือ ว่าพวกคุณทั้งหลายจะสนใจแต่โถส้วมหรือเตียงนอนละเมิดลิขสิทธิ์ โดยไม่สนกิจกรรมบนเตียงของคนคนนั้นเลย เพราะต่อให้เป็นคนที่ใช้เตียงนอนมีตราลิขสิทธิ์ติดหราให้เห็น กิจกรรมบนเตียงของคนคนนั้นก็ยังน่าสนใจอยู่ดี นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ผมเป็นกังวลอย่างยิ่ง เพราะถ้า ‘เข้าถึง’ ข้อมูลชนิดเปิดเปลือยแก้ผ้ากันล่อนจ้อนได้อย่างนี้ คุณๆทั้งหลายจะสนใจเรื่องอื่นนอกเหนือไปจากเรื่องลิขสิทธิ์ด้วยไหม และเมื่อสนใจแล้ว ก็จะด่วนตั้งตัวเป็นผู้พิพากษา ‘ตัดสิน’ ผิด-ถูก โดยเร็วอย่างที่เราคนไทยมักเป็นมากันโดยตลอดไหม
เซ็กซ์ (ที่เราเห็นว่า) พิสดารบนเตียง กับการใช้เตียงนอนละเมิดลิขสิทธิ์-คนเราสนใจจะยัดเยียดคำพิพากษาให้เรื่องไหนมากกว่ากัน
มีคนบอกว่า ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่เห็นต้องปิดบัง หมาดมกลิ่นที่สนามบินจะเข้ามาดมก็ดมไปสิ เปิดกระเป๋าอ้าซ่าให้หมาดมก็ยังได้ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด
แต่คำถามง่ายๆถัดมาก็คือ ผิดกับถูกที่ว่า มันคือผิดกับถูกของใครล่ะครับ
ไม้บรรทัดที่ใช้วัดความผิดถูกนั้น ไม่ได้มีอยู่ไม้เดียวอีกต่อไปแล้ว นักคิดสมัยใหม่ในโลกที่ซับซ้อนขึ้นนี้ก้าวไกลไปถึงขั้นเข้าใจกันแล้วด้วยซ้ำว่า ‘ความจริง’ หรือสัจธรรมนั้นไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว และแต่ละ ‘ระบบความจริง’ ก็คือระบบการ ‘กีดกัน’ ความจริงอื่นๆออกไปเสียจากมัน
เช่นถ้าคุณจะบอกว่า พระเจ้าองค์นี้สิ จริงแท้แน่นอน คุณก็กำลังกีดกันพระเจ้าองค์อื่นของคนอื่นออกไปไม่ให้ดำรงอยู่ และการ ‘กีดกัน’ พระเจ้าองค์อื่น ก็มักเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จนบางครั้งต้องหาทาง ‘ฆ่า’ พระเจ้าของคนอื่นด้วยวิธีการต่างๆที่เราเห็นๆกันอยู่ในโลก แม้แต่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นเพราะยึดมั่นใน ‘ความดี’ (ของตัวเอง) อย่างสุดขั้ว!
ถ้าเรายังเข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้ ผมไม่คิดว่าใครควรมี ‘สิทธิ’ ในการเข้าถึงข้อมูลของคนอื่นอย่างเต็มร้อย เพราะมีโอกาสมากเหลือเกิน ที่ใครคนนั้นอาจเผลอใช้ไม้บรรทัดในระบบความจริงของตัวเอง ไป ‘กีดกัน’ คนอื่นที่มีระบบความจริงอื่น มีพระเจ้าองค์อื่นให้หลุดหล่นหายไป พร้อมทั้งบังคับให้คนคนนั้นต้องหันมายึดถือในระบบความจริงของตัวเอง เพราะคิดว่านั่นดีเหลือเกิน วิเศษอย่างที่สุด คนอื่นจึงควรจะเห็นด้วยกับฉัน เพราะฉันเป็นคนดี
และวิธีการง่ายที่สุดในการทำอย่างนั้น ก็คือการบังคับควบคุมให้คนอื่นเป็น ‘คนดีเหมือนตู’ ด้วยการ ‘เข้าถึง’ คนอื่นให้ลึกที่สุด!
โปรแกรมหมาดมกลิ่นนั้น มักจะเข้ากันได้ดีกับ ‘วิสัยหมาแก่’ (จนกลายเป็นหมาแก่ชอบดมกลิ่น!) ที่ต้องสอดรู้ทุกเรื่องเพื่อนำมา ‘ควบคุม’ ผู้คน ยิ่งควบคุมได้ลึกสุดๆถึงบนเตียงนอนและในห้องส้วมได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี อย่างที่เกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียตในยุคคอมมิวนิสม์ที่มีการดักฟังแทบทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศ
สำหรับผม นี่คือวิธีคิดและสำนึกแบบ Big Brother ที่ฝังรากลึกอยู่ในมือคนกุมอำนาจ และพร้อมจะแสดงออกมาทุกเมื่อที่มีโอกาส ที่บอกว่าเป็น Big Brother นั้น เห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของผู้มีอำนาจคนหนึ่ง ที่บอกว่าการใช้โปรแกรมหมาแก่ดมกลิ่นนั้น นอกจากจะสร้างความสงบสุขบนสังคมอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังจะเป็น ‘เกราะป้องกัน’ เยาวชนให้พ้นจากภัยที่มากับอินเตอร์เน็ตด้วย
คำถามก็คือ ความ ‘สงบสุข’ ที่ว่า คือความ ‘สงบสุข’ แบบไหนหรือครับ สังคมที่เอาแต่ใฝ่หาความสงบสุขโดยละเลยคนที่คิดต่างหรือทักท้วง เป็นสังคมประเภทไหนกันหรือ และเอาเข้าจริงแล้ว เยาวชนของเราคือใครหรือครับ หรือด้วยวิสัย ‘หมาแก่’ ที่ชอบ ‘ดมกลิ่น’ เราจึงมักมองเห็นประชาชนเป็น ‘ลูก’ เป็น ‘เด็ก’ อยู่เสมอ โดยมีรัฐเป็น Big Brother แก่เคร่งศีลธรรมที่ต้องคอยชี้ทางสว่างให้ ปกป้องจากสิ่งผิด และพาประชาชนไปสู่ความสงบสุข ซึ่งฟังดูเผินๆก็ดีอยู่ ถ้า Big Brother จะไม่ใช้ไม้บรรทัดศีลธรรมของตัวเองมาคอยกำกับและตัดสินคนที่ตัวเองมองว่าเด็กและไร้เดียงสาอยู่ตลอดเวลา
ถามตรงๆเถอะครับ ไม่รู้ตัวหรือไงว่าวิธีคิดแบบนี้นี่แหละ ที่ถูกมองว่าเป็นวิธีคิดของ ‘อำมาตย์’ ที่ใช้จูงจมูกประชาชนมาตลอด จนเกิดปัญหาอย่างทุกวันนี้-พวกคุณยังดูไม่ออกอีกหรือ?
การอ้างประเทศใหญ่ๆอย่างสหรัฐอเมริกา บอกว่าเขาก็ทำ ก็คือวิธีคิดของ Big Brother ที่ไม่ Big จริง แต่ต้องไปอ้างพี่ใหญ่ขึ้นไปอีกระดับขั้น สะท้อนความคิดแบบระบบอุปถัมภ์ ที่ต้องคอยหา ‘ลูกพี่’ มาปกป้องและยืนยันความมั่นใจให้ตัวเองเพื่ออุปถัมภ์ ‘ลูกน้อง’ ต่ออีกทอด อ่อนแอ ไม่เข้าใจโลก เอาเข้าจริงแล้ว ผมยังสงสัยอยู่ไม่น้อย ว่าสหรัฐอเมริกาหรือ United States of America น่ะนะ ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญพูดถึง Freedom of Speech (เสรีภาพในการแสดงออก) และ Freedom of Petition (เสรีภาพในการขอให้รัฐบาลทำหรือไม่ทำอะไร-และประชาชนมีสิทธินั้นอย่างแท้จริง) น่ะนะครับ ที่จะปล่อยให้เจ้าหมาแก่ดมกลิ่นออกเพ่นพ่านไปทั่วได้ตามใจ
นี่เราเป็นกังวลกับปัญหา ‘ลิขสิทธิ์’ มากถึงขั้นต้องเอา ‘เสรีภาพ’ ที่ได้รับการเชิดชูนักหนาว่าเป็นประชาธิปไตยไป ‘แลก’ กับมันเลยหรือครับ
หรือว่าโดยเนื้อแท้แล้ว-เราต้องการอย่างอื่นอีก
ถามจริงๆเถอะ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น