๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

(ไม่ใช่) ปัญหาของพระ

1

ได้ยินพระรูปหนึ่งให้คำปรึกษาญาติโยมในสื่อที่ทรงพลังทำนองนี้


ปุจฉาจากญาติโยม : ถ้าเราหยิบของของเพื่อนไปใช้โดยไม่ได้ตั้งใจจะขโมย เพียงแต่เห็นว่าของนั้น เจ้าของยังไม่ได้ใช้ในเวลานั้น จึงขอนำไปใช้ก่อนโดยถือวิสาสะ เพราะว่าคุ้นเคยกับเจ้าของดี อย่างนี้ถือว่าบาปไหม

วิสัชนาจากพระ : การหยิบของของคนอื่นไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ในทางกฎหมายต้องถือว่าผิดกฎหมาย แต่ถ้าถามว่าผิดศีลหรือเปล่า ในทางพุทธแล้ว ถือว่าให้ดูที่เจตนา ถ้าไม่มีเจตนาจะขโมยก็ถือว่าไม่ผิดศีล

ญาติโยม : สาธุ


เมื่อได้ยินอย่างนั้น ผมก็อดหลุดปากอยู่ในใจไม่ได้ว่า ไม่ผิดศีลหรอก (มั้ง) แต่ที่แน่ๆก็คือ-ไม่มีมารยาท!


2


คำสอนของพระทำให้ผมต้องเก็บกลับมาคิดเป็นการบ้าน เพราะอย่างแรกเลยทีเดียว ผมคิดว่าคำสอนนี้มีปัญหา และเมื่อคิดย้อนกลับ การที่ผมคิดว่าคำสอนนี้มีปัญหา ก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน


มองดูเหมือนเป็นปัญหาเล็กๆ แต่ถ้าคิดให้ดีแล้ว ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เราเห็นภาพอะไรบางอย่างในสังคมนี้ได้ชัดเจนไม่น้อย


ปัญหาคืออะไร?


เอาที่ปัญหาของพระท่านก่อนก็แล้วกันนะครับ


ผมคิดว่าพระรูปนี้มีความเป็น ชนบท อยู่สูงทีเดียว คำว่า ชนบท ในที่นี้ ไม่ได้มีนัยหมิ่นแคลนหรือเหยียดหยามนะครับ แต่คำว่า ชนบท ให้พลังของภาพลักษณ์ในคำอธิบายของท่านได้สูงยิ่ง


การที่ท่านบอกว่า หยิบของของคนอื่นไปใช้ได้โดยถือวิสาสะแล้วไม่ผิดศีลเพราะไม่มีเจตนาจะขโมยนั้น ชวนให้ผมคิดว่า ราก ของท่านชะรอยจะฝังอยู่ในสังคมชนบท สังคมที่พรั่งพร้อมไปด้วยข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคมที่อยู่รวมเป็นชุมชน แต่ละครอบครัวเป็น ครอบครัวขยาย ที่มีคนอยู่รวมกันมากมายและใกล้ชิดเป็น เครือข่าย ที่รู้จัก ตรวจสอบ บังคับ และลงโทษกันและกันได้โดยผ่านจารีตต่างๆ


ดังนั้น คำอธิบายของท่านจึงไม่ผิด เพราะถ้าอยู่ในบริบทของ ชนบท อย่างที่ว่า การขอหยิบขอยืมของไปใช้สักแป๊บ แล้วก็เอากลับมาคืนทีหลัง จะเป็นเรื่องผิดไปได้อย่างไรกัน เช่นอยากจะสอยมะม่วง แต่ไม่มีตะกร้อสอยมะม่วง เห็นตะกร้อของทิดเขียวที่ข้างบ้านวางว่างๆอยู่ ทิดเขียวก็ไม่ได้ใช้อะไร และเราก็ รู้ ด้วยว่า ตัวเราสนิทสนมกับทิดเขียวมากแค่ไหน เราจึงถือวิสาสะ หยิบ ตะกร้อมาสอยมะม่วงได้ แล้วพอสอยเสร็จ เราก็เอากลับไปวางไว้ที่เดิม


ไม่มีใคร เสีย อะไร-ไม่ว่าทรัพย์สินหรือความรู้สึก!


ดังนั้น คำอธิบายของท่านที่หยุดอยู่แค่ว่าไม่ผิดศีลหรอก จึงเป็นคำอธิบายที่ใช้การได้กับสังคมชนบท แต่ถ้าคิดให้ดีๆ คำอธิบายนี้คล้ายกับ สนับสนุน ให้ญาติโยมหยิบข้าวของของเพื่อนฝูงมาใช้ได้ ถ้าไม่มีเจตนาจะขโมย โดยดูเผินๆ เหมือนเป็นคำอธิบายที่ เป็นสากลและใช้การได้กับคนทั่วทั้งโลก เพราะเราเชื่ออยู่เสมอว่า คำสอนของพระ (ที่เราคิดว่าเป็นธรรมะ) นั้น เป็นเรื่องที่เป็นสัจธรรม


แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่า ถ้านำคำถามนี้ไปถามคนที่อยู่ในบริบทของสังคมอีกแบบหนึ่ง มันจะเป็นปัญหาแน่ๆ


ปัญหาเรื่อง มารยาท และ นัยทางกฎหมาย ยังไงล่ะครับ!


สมมุติว่าเราไม่มี เจตนา เช่นเดียวกับกรณีหยิบตะกร้อของทิดเขียว แต่เปลี่ยนฉากจากชนบทมาอยู่ในเมือง เอาเป็นบนโต๊ะทำงานในออฟฟิศก็ได้ อยู่ๆวันหนึ่ง เราต้องใช้ที่เย็บกระดาษ แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ในที่สุดก็พบว่า เพื่อนโต๊ะข้างๆหยิบเอาไปใช้โดยไม่บอกกล่าวกันก่อน-เราจะรู้สึกอย่างไร


ที่จริงแล้ว เราจะ รู้สึก อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสมาทานวิธีคิดแบบไหนเข้ามาไว้ในสมองและความนึกคิดของเรา ถ้าเรามีความเป็นชนบทสูงกว่าความเป็นปัจเจกแบบตะวันตก เราก็อาจไม่รู้สึกขัดเคืองอะไรมาก แต่ถ้าเรามีความเป็นปัจเจกตามแบบอย่างสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเครือข่ายสังคมมากนัก เราก็อาจรู้สึกว่า ไอ้หมอนี่มันไม่มีมารยาทเอาเลย หยิบของของคนอื่นไปใช้ได้หน้าตาเฉย


ถ้าเป็นแค่เรื่องที่เย็บกระดาษ ก็คงไม่เป็นอะไรหรอกครับ เพราะเป็นของเล็กๆน้อยๆ แต่ถ้าเราขยาย ความคิดของเรื่องนี้ออกไปให้กว้างขึ้น เราจะเห็นว่ามันเป็นปัญหาไม่น้อย โดยเฉพาะถ้ามีใครนำวิธีคิดแบบที่เหมาะสมกับ ชนบท มาใช้กับความเป็น เมือง ในปัจจุบัน อาทิเช่น ถ้าอยู่ในชนบทสมัยก่อน จะทำรั้วผิดพลาดรุกล้ำที่คนอื่นนิดๆหน่อยๆ คงไม่มีใครว่าอะไรนักหนา เพราะรู้จักกันดีอยู่ และรู้กันว่าไม่มี เจตนา แต่ถ้าเป็นวิสัยคนเมืองแล้วทำอย่างเดียวกัน จะมีใครเชื่อไหมครับว่า ไม่มีเจตนา(ต่อให้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีก็เถอะ!) ยิ่งถ้าเป็นสังคมตะวันตก การหยิบของคนอื่นไปใช้โดยไม่บอกกล่าวขอยืมกันก่อนนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องผิดกฎหมายเท่านั้นนะครับ แต่ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายใหญ่โตทางสังคมเทียบเท่ากับการ ผิดศีล ได้เลย


เพราะฉะนั้น คำอธิบายของพระรูปนั้น จึงไม่ใช่คำอธิบายที่เป็น สากล ทว่าเป็นคำอธิบายที่ คับแคบ อยู่ในบริบทของสังคมแบบหนึ่งเท่านั้น


(และที่จริง ความคิดของผมในเรื่อง ไม่มีมารยาท ก็ถือได้ว่า คับแคบ อยู่ในบริบทของสังคมอีกแบบหนึ่งเท่านั้น-ด้วย)


อย่างไรก็ตาม ปัญหาในคำอธิบายต่างๆของพระท่านก็คือ คนฟังโดยทั่วไปนั้น เมื่อได้ฟังปุ๊บก็จะ ยัดเยียด ความเป็น สากล ให้กับคำสอนของท่านปั๊บทันที คิดว่าสิ่งที่ท่านสอนเป็น สัจธรรม ใช้ได้ทั่วทั้งโลกหล้า แต่ที่จริงแล้ว คำสอนของท่านไม่ได้ สากล ขนาดนั้น


เมื่อเป็นอย่างนั้น ปัญหาก็เกิดขึ้น เพราะเมื่อเราคิดว่าคำอธิบายของพระจะต้องถูกต้องเสมอ ไม่ว่าคำอธิบายนั้นเป็นอย่างไร คนก็ ต้อง ศรัทธาเลื่อมใสเสมอ คำสอนของผู้ที่เป็น พระจึงมักเหมือนบะหมี่หรือกาแฟสำเร็จรูป คนทั่วไปคิดว่าเอาไปชงในน้ำร้อนแป๊บๆก็สำเร็จ สามารถนำมา บำบัด ปัญหาต่างๆของเราได้ทั้งหมด เพราะมันเป็นสากล กินกาแฟก็ต้องหายง่วง ไม่ว่าจะเป็นกาแฟจากที่ไหน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หลายคนคิดว่า แค่เข้าวัดไปนั่งฟัง เสียง พระเทศน์ ก็ได้บุญแล้ว โดยบางครั้งไม่ได้นำสิ่งที่พระเทศนานั้นมา คิด ต่อ และหลายคนก็บอกว่าถ้าจะปฏิบัติธรรมแล้วก็ไม่ควรจะต้อง คิด เพราะครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ความคิดเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม


เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงมีคนที่ เชื่อ ใน ความเป็นสากลของคำสอนของพระเต็มไปหมด มีคนที่ใช้ ศรัทธา นำหน้า ปัญญา กันเต็มไปหมด แถมยังเชื่ออีกว่า สิ่งที่เชื่อนั้นจะนำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้เองลอยๆ


ในด้านกลับกัน เมื่อพระสร้างความเชื่อถือศรัทธาสำเร็จรูป ความเชื่อถือศรัทธาสำเร็จรูปก็สร้างพระด้วย ทำให้เกิดมี พระนักเทศน์ ขึ้นมากมาย แต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คุณภาพในการเทศน์ของแต่ละรูปนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่เพราะไม่มี ISO พระ แต่เพราะเรา เชื่อ ไปหมดเสียแล้ว ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านพูด ล้วนแต่ เป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นพระแบบสังคมชนบทที่ใช้วิธีอธิบายง่ายๆ หรือพระแบบสังคมชนชั้นกลางในเมือง ที่แค่ หยิบเอาคำเก๋ๆไก๋ๆของวัยรุ่นบางคำมาใช้ แล้วคิดว่าแค่นั้นก็ทันสมัยและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้แล้ว


สมัยก่อน พระเป็นผู้นำชุมชนได้ เพราะชุมชนสมัยก่อนไม่ซับซ้อนย้อนแย้งเหมือนสังคมสมัยใหม่ ศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนจึงอยู่ที่วัด แต่ปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าสังคมอาจซับซ้อนเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเข้าใจได้ง่ายๆ แต่พระจำนวนมากก็ยังใช้คำอธิบายเดิมๆที่ ง่ายเกินไป มาอธิบายสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น


จริงๆแล้วไม่ใช่แค่พระ แต่ยังลามไปถึง หมอ และ ครู ซึ่งล้วน เคย เป็นผู้มีบทบาทในการนำชุมชน (ที่มีขนาดเล็กๆและไม่ซับซ้อน) ในมิติของตัวเองด้วย!


แต่ถ้าถามว่า แล้วสิ่งเหล่านี้เป็น ปัญหา ของทั้งพระ หมอ และครู หรือเปล่า-ผมคิดว่าไม่ใช่


ปัญหาอยู่ที่ตัวเราแต่ละคนต่างหากที่เป็นผู้ ผลิต วิธีคิดแบบนี้ของทั้งพระ หมอ และครู ขึ้นมา แล้วเราก็ยึดมั่นเชื่อถือศรัทธากับบุคลากรเหล่านี้โดยปราศจากการวิพากษ์


ครั้งหนึ่ง ผมเคยถามพระรูปหนึ่งว่า คนเราจะปฏิบัติธรรมเองโดยไม่ต้องมี ครูบาอาจารย์ ได้ไหม ท่านบอกว่าไม่ได้เด็ดขาด เพราะการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผมแย้งท่านว่า แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่มีครูไม่ใช่หรือ เพราะครูมีแต่จะนำท่านไปผิดทาง ท่านบอกผมด้วยน้ำเสียงที่แข็งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดว่า คนธรรมดาอย่างเรามันไม่เหมือนพระพุทธเจ้า จะไปคิดอย่างนั้นได้ยังไง


อาจด้วยวิธีคิดเช่นนี้ เราจึง เสพติด ครูบาอาจารย์ (และคำสอนสำเร็จรูปที่เราคิดว่าเป็น สากล ของครูบาอาจารย์) แต่เมื่อไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงผู้เปี่ยมปัญญา เราหันซ้ายหันขวาก็เจอะแต่พระ หมอ และครู ซึ่งก็ให้บังเอิญว่าแต่ละคนกำลัง เล่น บทบาท ที่สอดรับกับจริตเสพติดครูบาอาจารย์ของเราพอดี เราจึง ยึด ท่านเหล่านี้เอาไว้เสียแน่น ซึ่งบางทีก็ทำให้ศิษย์ทั้งหลายมาขัดแย้งและ ทะเลาะกันในนามของความดี อีกต่างหาก


ปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา จึงไม่ใช่ปัญหาของพระ หมอ หรือครู หรอกนะครับ


แต่เป็นปัญหาทางปัญญาของเราแต่ละคนนี่เอง!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น