๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๓

สุวรรณี สุคนธา ความตาย ดอกไม้ และอำนาจที่มองไม่เห็น

สุวรรณี สุคนธา

ความตาย ดอกไม้ และอำนาจที่มองไม่เห็น

ตอนหนึ่งจากหนังสืองานศพของ สุวรรณี สุคนธา, จักรพันธุ์ โปษยกฤต เขียนไว้ว่า

ขากลับจากพิษณุโลก ข้าพเจ้านั่งเขียนจดหมายในรถไฟถึงอาจารย์ ช่างเพ้อฝันมากมายเมื่อครั้งกระนั้น ข้าพเจ้าพูดถึงความตายอย่างเห็นสวย คิดเอาเองว่าถ้าจะให้สวยต้องไปที่เกาะเสมด็ด ยามค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวง เมื่อน้ำทะเลลดลงเห็นหาดไปไกลลิบตาโน่นแล้ว จึงค่อยๆเดินลงไปให้สุดหาด ล้มลงนอนในท่าทีอันดี แล้วหลับลง จนกระทั่งน้ำทะเลขึ้น ท่วมกายจมหายไป...อาจารย์ได้รับจดหมายข้าพเจ้าแล้วลงความเห็นด้วยว่าดีงาม ทั้งยังทำนายว่าข้าพเจ้าน่าจะเป็นนักเขียนหนังสือได้ แล้วต่อมาอีกหลายปี อาจารย์ก็ตั้งนามปากกาให้ข้าพเจ้า “ศศิวิมล”

อาจารย์ครับ ผมไม่รู้จะเขียนอะไรอีกแล้ว

เมื่อวาน น้องหนูโทร. มาถึงผม ขอให้ไปช่วยแต่งหน้าให้อาจารย์ เพราะไม่มีใครทำได้ กบก็ทำไม่ได้ ผมคิดว่าอย่างไรๆผมก็ต้องไปแต่งหน้าให้อาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย พอไปถึง แพ็ทก็บอกว่าทำไมความตายมันถึงได้ไม่สวยเหมือนอย่างที่จักรกับแต๋วเคยวางเอาไว้เล่า ผมไม่ทราบจะตอบแพ็ทว่าอย่างไร อาจารย์ครับ ถ้าหากว่าพวกเราได้ทำสิ่งใดล่วงเกิน ดีมากไปบ้างน้อยไปบ้าง อาจารย์คงจะให้อภัยอย่าถือโกรธ เรารักและอาลัยอาจารย์ทุกคน และเชื่อว่าอาจารย์คงจะไปยังที่สงบ ปราศจากความวุ่นวาย ผิดหวัง และหม่นหมอง เหมือนอย่างในโลกที่อาจารย์เคยเจอ และพวกเรายังจะต้องเจอต่อไปอีกไม่รู้ว่าช้านานเท่าไร

แค่นี้นะครับ

จักรพันธุ์ โปษยกฤต

5 กุมภาพันธ์ 2527

1

ข้างต้นนั้น เมื่ออ่านซ้ำครั้งใด ลำคอของผมก็ยังตีบตันหม่นหมอง แม้โดยส่วนตัวแล้วจะไม่มีอะไรข้องเกี่ยวกับนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อย่าง สุวรรณี สุคนธา เลยก็ตาม

แต่เดี๋ยวก่อน-บางทีอาจจะมีก็ได้...

2

เวลาอ่านตัวอักษรของสุวรรณี สุคนธา ผมมักคิดถึงความตาย

เรื่องของน้ำพุ น่าจะเป็นงานแรกของสุวรรณี-ที่ผมได้อ่าน จะว่าไป หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในงานฌาปนกิจศพของเด็กหนุ่มคนหนึ่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2517 และกลายเป็นหนังสือที่เด็กรุ่นผมต้องเคยผ่านกันมาทุกคน

ด้านหลังของปกหนังสือเล่มนี้ที่อยู่ในครอบครองของผม มีข้อความเขียนไว้ว่า

แด่ผู้ผลิตเฮโรอีน และผู้ค้าขายเฮโรอีน

ขอให้ท่านร่ำรวย และประสบความสุขความเจริญ

เพราะท่านจะต้องตกนรกหมกไหม้ไม่รู้ผุดรู้เกิด

ด้วยบาปที่ยมบาลตราไว้แล้ว

จึงขอให้พรไว้แก่ท่าน ณ ที่นี้

บาปของท่านจะได้ลดน้อยลงบ้างตามควร

นั่นเป็นข้อความที่แม่คนหนึ่งเขียนไว้บนหนังสืองานศพของลูก ซึ่งผมชอบคิดอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นการเขียนที่กล้าหาญเหลือเกิน ผู้ที่จะเขียนได้เช่นนั้น ต้องเป็นคนที่กล้าหาญ ยอมรับความจริง กล้าเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือกล้าเผชิญหน้ากับบรรทัดฐานบางอย่างที่สังคมชอบวางไว้บนบ่าของผู้หญิงจนหนักอึ้ง

ข้อความสั้นๆนั้นแสดงให้เห็นถึงความคับแค้นของแม่คนหนึ่งที่ต้องสูญเสียลูกไปให้กับยาเสพติด ทว่าแม้คับแค้น ก็กลับเป็นความคับแค้นที่ไม่ทิ้งวี่แววเมตตา และเปี่ยมด้วยร่องรอยของอารมณ์ขันแสนขื่น แม้ในข้อความสั้นๆนี้ ผู้เขียนก็ทำให้เราเห็นความย้อนแย้งของอารมณ์ความรู้สึกภายในที่ล้ำลึกใหญ่หลวง พลุ่งพล่าน ทว่าอยู่ในความควบคุมของความเข้าใจโลก อันเป็นส่วนผสมที่งดงามระหว่างความเป็นศิลปิน ความเป็นแม่ และความแกร่งของผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ก้มหัวให้ใคร

การที่ลูกชายเสียชีวิตด้วยยาเสพติด ไม่ใช่เรื่องง่ายที่แม่คนหนึ่งจะยอมรับได้ แต่นอกจากยอมรับได้แล้ว สุวรรณียังทำในสิ่งที่คนทั่วไปไม่ทำอีกด้วย

นั่นคือการยกบทเรียนส่วนตัวนี้ให้เป็นบทเรียนของสังคม

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด

มีคนถามข้าพเจ้าเสมอ หลังจากที่น้ำพุได้สิ้นชีวิตแล้วว่า เลี้ยงลูกยังไงถึงได้ปล่อยให้ติดเฮโรอีน

ทำให้ต้องนิ่งและไม่อาจจะหาคำตอบได้

แต่ถ้าจะให้ตอบจริงๆแล้ว ก็จะต้องโทษตัวเองว่า เลี้ยงลูกไม่เป็น

และเมื่อเหตุไรที่ลูกชายสิ้นชีวิตไปเพราะยาเสพติดจึงนำเอามาเปิดเผย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย น่าจะอายและปิดเป็นความลับไว้มากกว่า

คำตอบตรงบรรทัดนี้มีอยู่ว่า เพราะไม่อยากให้ลูกของคนอื่นๆต้องเสียชีวิตไปเพราะยาเสพติดอีก ถ้าเรื่องของน้ำพุจะเป็นประโยชน์ต่อลูกของใครอื่นได้ ข้าพเจ้าก็จะยินดีอย่างยิ่ง และจะไม่ขออะไรอื่นนอกจากผลกุศลที่ได้เกิดจากสิ่งที่ทำไปแล้วนี้ ขอให้น้ำพุจงไปมีความสุขในโลกใหม่ หรือที่ใดก็ตามที่น้ำพุไปอยู่

ตอนหนึ่งจากคำนำใน เรื่องของน้ำพุ

ด้วยเจตนารมณ์เช่นนี้ สังคมที่พร้อมจะชี้นิ้วไปยังความบกพร่องในการเป็นแม่ของเธอ จึงต้องเปลี่ยนความคิด ความกล้าหาญทำให้เธอไม่ได้ปกป้องเพียงลูกชายของตัวเองเท่านั้น แต่ในแง่หนึ่ง เธอยังได้ร่วมปกป้องสังคมด้วยบทเรียนชีวิตที่ใหญ่หลวง และได้ทำให้น้ำพุ-ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายธรรมดาๆคนหนึ่ง, ได้มีที่ทางดำรงอยู่ในความทรงจำของสังคมไทยไปตราบนานเท่านาน

สำหรับผม คุณูปการสำคัญของ สุวรรณี สุคนธา ที่มีต่อสังคมไทย ก็คือการเปิดเปลือย การเมืองเรื่องส่วนตัว ของเธอออกมาให้โลกได้รับรู้อย่างที่ไม่มีใครกล้าทำ ต่อให้เป็นยุคสมัยนี้ที่ว่ากันว่าเป็นยุคใหม่ก็ตามที เรื่องของน้ำพุเป็นตัวอย่างอันยิ่งใหญ่ของการท้าทาย อำนาจที่มองไม่เห็น ของสังคม ซึ่งเคยกดผู้คนให้จมดิ่งอยู่กับความทุกข์ทรมานของการถูกตัดสิน ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สังคมไทยนั้นถนัดในการ พิพากษา เป็นอย่างยิ่ง เรามักไม่มองย้อนกลับไปหาเหตุปัจจัยหรือสมุหภาพทั้งปวงที่มีผลต่อปัจเจกภาพคนหนึ่ง แต่มักทำให้ปัจเจกภาพตัวเล็กๆคนหนึ่งกลายเป็น เหยื่อ ของการลงทัณฑ์ทางสังคม

การที่ปัจเจกภาพผู้ไร้อำนาจหรือ เหยื่อ จะลุกขึ้นพลิกคว่ำกลับข้างค่านิยมของอำนาจที่มองไม่เห็น ซึ่งทำหน้าที่เป็น ผู้ล่า นั้น-ช่างเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญนัก แต่ผู้หญิงคนนี้ทำได้

สำหรับผู้หญิง อำนาจที่มองไม่เห็น ในสังคมไทย คือตัวการที่ยื่นมือเข้ามากำกับทั้งความเป็นผู้หญิง ความเป็นเมีย และความเป็นแม่ อำนาจดังกล่าวคอยบงการให้ผู้หญิงต้องสมาทานตัวเองกับ กรอบเกณฑ์ และ มาตรฐาน บางอย่าง เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็น ผู้หญิงที่ดี

แต่สุวรรณีปฏิเสธกรอบเกณฑ์เหล่านี้-ด้วยชีวิตของเธอเอง

แน่นอน การปฏิเสธกรอบเกณฑ์เหล่านี้มี ราคาที่เธอต้องจ่ายอย่างสาหัส การเลือกเดินออกจากรีตรอยของอำนาจที่มองไม่เห็น ก็คล้ายการแหวกออกจากกรงขังหนึ่งเพื่อพบว่าที่แท้แล้ว กรงนั้นยังมีกรงที่ใหญ่กว่ากักขังชีวิตของมนุษย์อยู่เป็นชั้นๆไป และแต่ละกรงล้วนมี ราคา ที่เราต้องจ่ายแตกต่างกัน

กรงยิ่งใหญ่ ยิ่งมีเสรีภาพ แต่กรงยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งมีราคาแพง

สำหรับเธอ การเลือกเดินออกมาจากกรอบกรงของชีวิตครอบครัวตามรีตรอยของอำนาจที่มองไม่เห็น ทำให้เธอต้องสมาทานตัวเองเข้ากับอาการที่นักสังคมวิทยายุคต่อมาเรียกว่าเป็น Superwoman Syndrome หรืออาการที่สังคมยุคโมเดิร์น ผลัก ให้ผู้หญิงเดินออกมาจากพื้นที่ส่วนตัวในฐานะเมียและแม่ที่ต้องอยู่ก้นครัว เดินหน้าผ่าเผยออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ ด้วยการทำงานนอกบ้าน ขันแข่งกับผู้ชายที่เคยครอบครองพื้นที่สาธารณะนี้มาก่อน แต่ในเวลาเดียวกัน อำนาจที่มองไม่เห็นก็ยังเรืองอำนาจ และกำกับสั่งการให้ผู้หญิงต้องเดินย้อนกลับจากพื้นที่สาธารณะกลับเข้าไปทำกับข้าว เลี้ยงดูลูก และทำ กิจของลูกผู้หญิง ในพื้นที่ส่วนตัว

ผู้หญิงในยุคหนึ่ง (หรือแม้กระทั่งยุคนี้) จึงต้องทำตัวเป็น ยอดหญิง หรือ Superwoman ด้วยการทำให้ดีเยี่ยมทั้งในบ้านและนอกบ้าน อันเป็นภาระที่ยิ่งหนักหน่วงมากขึ้นกว่าการยอมตัวอยู่ในกรอบกรงเก่า เป็นนางข้างครัวอดทนให้สามีทำอะไรกับชีวิตของตัวเองก็ได้-แม้กระทั่งการพาผู้หญิงอื่นเข้ามาอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

การปฏิเสธกรอบกรงเก่าเพื่อและกับเสรีภาพ มีราคาที่ต้องจ่ายด้วยภาวะ Superwoman Syndrome อันเป็น ราคา ที่แพงแสนแพง ตามที่สมุหภาพแห่ง สังคม เป็นผู้กำหนด

แต่ สุวรรณี สุคนธา ก็เลือกที่จะจ่าย

ในเวลานั้น เธออาจไม่รู้ว่า ราคา ที่แสนแพงนี้คืออะไรบ้าง แต่ในเวลานี้ พวกเราที่นั่งมองละครแห่งชีวิตของเธอต่างรับรู้แล้วว่า ความโหดร้ายของสมุหภาพแห่ง อำนาจที่มองไม่เห็น ได้กระทำต่อปัจเจกภาพที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งนั้น รุนแรงมากเพียงใด

ความโหดร้ายนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มบอบบางคล้ายจะปลิวหาย เล่มที่ชื่อว่า เรื่องของน้ำพุ

อันเป็นเรื่องของความตายบางอย่าง...

2

ผมชอบคิดว่า ร่องรอยการไม่ลงรอยให้กับ อำนาจที่มองไม่เห็น ของสุวรรณี สุคนธา ปรากฏมาตั้งแต่วัยเด็ก และสะท้อนออกมาในหนังสือสองเล่ม เล่มหนึ่งคือ สวนสัตว์ อีกเล่มหนึ่งคือ สร้อยสลับสี

คุณว่ายังไงนะ พูดถึงชนชั้นใช่ไหม ถูกแล้วที่คุณพูดขึ้นมาในตอนนี้ เพราะฉันก็กำลังจะเขียนถึง...มีการแบ่งชั้นแน่ๆ อย่างน้อยก็ระหว่างลูกข้าราชการกับลูกชาวบ้าน และข้าราชการกับชาวบ้าน

จากตอนที่มีชื่อว่า น้ำผึ้งที่ในพระจันทร์

ของหนังสือ สวนสัตว์

สำหรับผม ดูเหมือนสุวรรณีจะตระหนักถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจเหล่านี้มาตลอด เธอมีที่มาจากอำเภอบางระกำ พิษณุโลก อันเป็นหนแห่งที่ถูก อำนาจ ยื่นมือเข้ามากำกับ ทั้งอำนาจที่มองเห็นได้ชัด อย่างอำนาจที่ข้าราชการใช้กับชาวบ้าน ไปจนถึงอำนาจที่มองไม่เห็น ซึ่งคอยยื่นมือเข้ามาบงการชีวิตส่วนตัว ให้เธอต้องคอยต่อสู้ต่อรองกับมันอยู่เสมอจนชั่วชีวิต

อำนาจที่มองเห็นได้ชัดมักปรากฏกับเรื่องที่เป็นทางการ และอยู่ในความสัมพันธ์ของคนที่มีสถานภาพแตกต่างกัน อย่างเช่นข้าราชการกับประชาชน, คนต่างจังหวัดกับคนกรุงเทพฯ หรือครูกับนักเรียน

ในรายการเสียเงินค่าเล่าเรียน มีค่าบำรุงห้องสมุดด้วย แต่ตลอดหลายปีที่ฉันเรียนในโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนั้น ฉันไม่เคยได้อ่านหนังสือแม้แต่เล่มเดียว หนังสือดูเหมือนจะกลายเป็นคัมภีร์ที่มีคุณค่าสูงสุด คือลั่นกุญแจเก็บไว้ในตู้สำหรับคารวะเท่านั้น

เด็กรุ่นเราถูกสอนให้กลัวผู้ใหญ่ จนไม่กล้าไปเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เราได้รับการสั่งสอนไม่ให้เถียงเวลาผู้หญิงพูด ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะถูกหรือจะผิด เพราะฉะนั้น ใครหรือจะกล้าถามถึงค่าบำรุงห้องสมุดและตู้หนังสือที่ลั่นกุญแจอยู่เป็นนิจนั้น

จากตอนที่ชื่อ เขียวส่องศรี ในหนังสือ สร้อยสลับสี

อำนาจที่มองเห็นได้ชัดนั้น แม้จะแรงแค่ไหนก็ต่อสู้ได้ไม่ยากนัก เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็นตัวตนและเป้าหมายในการต่อสู้ได้ชัดแจ้ง อีกทั้งสุวรรณีมักมอง อำนาจ ที่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่เหล่านี้อย่างขบขัน หลายครั้งเธอถึงขั้นนำมาล้อเลียนให้เห็นกันกระจะตา แน่นอน บางครั้งเธออาจอารมณ์เสียกับมันบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าคนที่กล้าหาญและมีอารมณ์ขันอย่างเธอจะรับมือได้

แม่บอกกับพวกเราว่า ถ้าหากคนของรัฐบาลติดต่อกับประชาชนแบบมะนาวไม่มีน้ำอย่างนี้แล้ว ช่องว่าง (เป็นคำที่แม่เกลียด) ระหว่างข้าราชการกับประชาชนก็จะห่างออกไปทุกที ความไม่เข้าใจกันก็จะเกิดขึ้น ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลหลายๆฝ่าย ยังเข้าใจว่า ตัวเองนั้นเป็นนายเหนือหัวของประชาชน

หน่อยเคยหัวเสียกลับมาจากอำเภอหรือสถานที่ราชการบ่อยครั้ง เมื่อต้องไปติดต่อทำเรื่องราวต่างๆ รอมเองก็เช่นเดียวกัน แม่จึงบอกว่า

“เอาอย่างแม่ซี พอขึ้นกระไดอำเภอก็ไหว้กราดไปให้หมดเลย”

จากตอนสุดท้ายของ วันวาร

หนังสือที่เป็นกึ่งอัตชีวประวัติ

อำนาจที่ต่อรองยากกว่า คืออำนาจที่มองไม่เห็น มันเหมือนสายลมหรือภูติผีที่คอยวนเวียนอยู่รอบตัวโดยไม่ปรากฎร่องรอย ในหนังสือ สร้อยสลับสี สุวรรณีชวนเราย้อนอดีตกลับไปพบกับทั้งเพื่อนนักเรียนและครูของเธอ เรื่องราวที่ดูเหมือนเรียบง่ายในชนบท กลับแฝงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และวาดภาพร่างรางๆของอำนาจที่มองไม่เห็นและคิดคาดไม่ถึงเอาไว้มากมาย อาทิเช่น เรื่องราวของเด็กสาวที่แม้จะสวย แต่ไม่อาจมีชีวิตของตัวเองได้อย่างที่เธอและสังคมหมายมาด แล้วในที่สุดก็ต้องจบลงด้วยความตาย (เขาเอาศพปิ่นโมราขึ้นที่วัด หล่อนขึ้นอืดจนไม่แลเห็นเค้าความงามเลยแม้แต่น้อย เศษผ้าสีแดงหรือนัยหนึ่งเสื้อของหล่อนยังติดรุ่งริ่งอยู่ตามเนื้อตัวของศพ เป็นเสื้อสีแดงตัวที่หล่อนชอบใส่ : จากตอนที่ชื่อ ปิ่นโมรา), อำนาจทางศาสนาที่เข้ามากำกับวิถีปฏิบัติ ที่แม้จะอยากต่อต้านก็ไม่อาจทำได้ (วันนี้เป็นวันพระ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ เป็นวันที่แม่ห้ามปาณาติบาตเด็ดขาด ถือว่าเป็นบาปอย่างแรงทีเดียว ถ้าจะจับปลาหรือฆ่าสัตว์ตัดชีวิต “เราฆ่าตลอดอาทิตย์ เว้นวันพระสักวันหนึ่งเป็นไร” แม่บอกกับฉันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าวันอาทิตย์วันใดตรงกับวันพระ ฉันจะถือว่าเป็นวันซวย : จากตอนที่ชื่อ นิลรำไพ), การแสดงให้เห็นว่าสังคมต้องเป็นผู้ อนุมัติ การเลือกในชีวิต (“พวกเธออย่าไปหลงลมนายร้อยสำรองนะ” ครูว่าเป็นเชิงสั่งสอน “ถ้าจะแต่งก็ให้ได้แต่งกับนายร้อยจริงๆ” เสียงหัวเราะคิกคักดังขึ้นแทนคำตอบ ฉันจำไม่ได้แล้วว่าฉันพลอยหัวเราะไปกับเขาด้วยหรือเปล่า : จากตอน ปิ่นโมรา) การควบคุมทางสังคมที่เกี่ยวโยงไปถึงการเหยียดเชื้อชาติ (ถ้าอาจารย์ชื่นใจได้เห็นมุกดา หล่อนจะนึกอย่างไรหนอ ฉันอยากให้ทั้งสองเผชิญหน้ากันนัก อาจารย์คงจะทำหน้าดูถูกเช่นที่เคย เพราะมุกดาพ้นสภาพเดิมก็เพราะยอมเป็นเมียเจ๊ก : จากตอน มุกดา)

แต่ที่น่าสนใจมากก็คือการแสดงความคิดเห็นที่แย้งกับอำนาจหลักทางสังคมในเรื่องความหลากหลายทางเพศ

คนเรามีสิทธิจะเลือกหาความสุขของตนโดยเฉพาะ ถ้าเห็นว่าสิ่งนั้นคือความสุข ครูเขียวส่องศรีเห็นว่า เมื่อมีผัวเป็นผู้หญิงมีความสุขกว่าผัวที่เป็นผู้ชาย ก็เป็นสิทธิของครูที่จะเลือก

เพื่อนชายของฉันหลายคนที่มีเมียหรือผัวเป็นเพศเดียวกันก็ถมไป...อย่าคิดว่าวิปริตเลย ความชอบเป็นสิ่งที่คนเราเลือกไม่ได้

...

ผิดด้วยหรือถ้าเราจะชื่นชอบในความงามของคนเพศเดียวกัน ความงดงามของกล้ามเนื้อของเพศชายก็มิได้มีส่วนงามมากหรือน้อย ถ้าจะเทียบกันระหว่างส่วนคดโค้งของสตรีเพศ เช่นที่นม ช่วงขา หรือแห่งอื่นๆ...ฉันว่าระหว่างหญิงกับชายมีเส้นงดงามที่ชวนให้ใจเต้นระทึกได้เท่ากัน

เพราะฉะนั้นไม่น่าแปลก ถ้าหากว่าผู้หญิงจะมีผัวเป็นผู้หญิงด้วยกัน หรือผู้ชายรักใคร่ในเพศเดียวกัน

อย่าได้ประหลาดใจเลย

จากตอนที่ชื่อ มณีเนตร

ใน สร้อยสลับสี

แต่กระนั้น สุวรรณีก็ได้แสดงให้เราเห็นว่า การ หลุด ออกจากการครอบงำของอำนาจที่มองไม่เห็นที่คอยกำกับเราอยู่นั้น-ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากมันเกี่ยวข้องกับตัวของเราเองอย่างใกล้ชิด

รถเมล์แต่ละคันแน่นห้อยโหนกันเป็นพวง ความเป็นอิสระมันลำบากตรงนี้แหละ และดูเหมือนแม่ก็อยากจะให้รอมหัดลำบากเสียบ้าง

“ไม่งั้นรอมจะกลายเป็นกะเทย” แม่ห่วงนักในข้อนี้ เพราะพี่น้องของรอมเป็นผู้หญิงล้วนๆ

“แม่อยากให้รอมเป็นผู้ชายจริงๆ”

จากตอนต้นของ พระจันทร์สีน้ำเงิน

การอ่าน สุวรรณี สุคนธา โดยการแกะรอยความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ปรากฏอยู่ในเรื่องต่างๆ จึงเผยให้เห็นความซับซ้อนของอำนาจที่โยงใยไปมา ดูเผินๆน่าจะเป็นเรื่องไม่น่าอ่านและชวนเครียด ทว่าด้วยความเป็นศิลปินที่มีดวงตาอันละเอียดอ่อน มองเห็นลึกลงไปถึงเส้นเงาและความงามของสีสัน เธอจึงเลือกถ่ายทอด ความจริง ของชีวิต ซึ่งมีทั้งอ่อนหวานระคนปวดร้าว-ด้วยความงามของสีสัน

นี่ก็เป็นคุณูปการอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ

คุณูปการในการเชื่อมร้อยโลกของสีสันในดวงตาอันละมุนเข้ากับความงามของตัวอักษรอันละเมียดเพื่อตีแผ่ความโหดร้ายอย่างละไม

3

รงค์ วงษ์สวรรค์ คัดบทตอนหนึ่งจาก งูร้องไห้ ดอกไม้ยิ้ม เอามาจัดวางไว้ในคำไว้อาลัยที่เขามีให้กับเธอในหนังสืองานศพ มันคือการคัดบทตอนด้วยสายตาของพญาอินทรี ที่มองเห็นความงดงามในตัวอักษรของศิลปินแห่งสีสันอันเพริศแพร้ว-ดังต่อไปนี้...

คืนนั้นร้อนและอ้าว ใบไม้สงบไม่มีลม ฉันนั่งอยู่บนเฉลียงที่ยื่นออกไปในสระน้ำ กลิ่นดอกกระถินหอมอ่อนรวยริน ใบมันหุบ ด้วยว่าเป็นเวลาค่ำคืนแล้ว ยอดตำลึงชูช่ออวดไสว หนวดของมันชูขึ้นเบื้องบนราวกับจะเอื้อมถึงสวรรค์

ฉันได้ยินเสียงปรงแตกใบใหม่ ใบอ่อนอิ่มเอิบขดเป็นวงอ่อนช้อย ใบแก่แประน้ำหม่นหมอง ฉันนึกอยากให้ฝนตก แต่คงจะไม่ได้...

ฉันชอบดินชื้นหลังฝนตก มันมีกลิ่นพิเศษจากใบหญ้า ใบไม้ และดิน

ดงดอกดาวกระจายตะคุ่มอยู่ในความมืด ฉันเคยเข้าไปยืนท่ามกลางกลุ่มดอกไม้...

มันออกดอกสลับสล้างบนก้านระหง

ฉันชอบความรัก ฉันว่ามันเป็นศิลปะที่อยู่ในขั้นคลาสสิคทีเดียว ถ้าจะวัดกันด้วยอารมณ์สะเทือนใจ ฉันชอบความสะเทือนใจ เพราะมันทำให้เราเกิดอารมณ์...

รงค์ วงษ์สวรรค์ มองสุวรรณีได้แตกนัก-ว่า, ในงานเขียน หล่อนไม่เคยเป็นคาร์บ็อน เพเพอร์ ของใครโดยไม่ต้องสงสัย? แต่เขียนจากการรับรู้ ความทุกข์ ความสุข และความเป็นสุวรรณี สุคนธา ผลงานแบบเรื่องสั้น แน่นอน-ว่าได้รับการประเมินด้านคุณภาพจากนักวิจารณ์สูงกว่านวนิยาย บางคนว่าหล่อนเขียนเหมือนเขียนรูป ฉับไวกับสีสันและไขว่คว้าอารมณ์อย่างมีน้ำหนักกับความจริงของชีวิต และถ้าหล่อนถูกกล่าวหาว่าเป็นศิลปินในความหมาย-artist ผมไม่ปฏิเสธ!

ผมจำได้ว่า เคยอ่านจากที่ไหนสักแห่ง สมัยที่ สุวรรณี สุคนธา ยังไม่ได้เขียนหนังสือ เธอบอกเพื่อนนักเขียนคนหนึ่งในทำนองที่ว่า “ไอ้ที่พวกนักเขียนเขาเขียนๆกันน่ะ ฉันก็เขียนได้”

สุวรรณี สุคนธา เกิดในวันที่ 1 มีนาคม ของปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ 2475 แต่เธอเริ่มเขียนหนังสือจริงจัง ด้วยงานเรื่องสั้นอย่าง จดหมายถึงปุก ในปี 2508 ซึ่งตีพิมพ์ใน สตรีสาร เมื่อนับนิ้วมือแล้ว แปลว่าเธอเริ่มงานเขียนครั้งแรก เมื่ออายุสามสิบกว่าปี!

โดยพื้นฐานแล้ว พูดได้ว่า สุวรรณี สุคนธา มีส่วนผสมในตัวหลายอย่าง เธอเป็นทั้ง เด็กบ้านนอก ที่ เข้ากรุงเทพฯ มาเป็นนักศึกษา โดยเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง และคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นกลายมาเป็น ครู ด้วยการสอนศิลปะที่โรงเรียนศิลปศึกษา ก่อนจะกลายมาเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

ศศิวิมล เคยเล่าเอาไว้ว่า เมื่อครั้งที่ สุวรรณี สุคนธา เป็นอาจารย์นั้น เธอเป็นทั้งที่รักและที่เกรงขามของนักศึกษาไปพร้อมๆกัน ครั้งหนึ่ง นักศึกษาที่อยู่ในห้องข้างๆส่งเสียงเอะอะวุ่นวายให้รำคาญใจ อาจารย์สุวรรณีไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่ลุกขึ้นตบโต๊ะ และแผดสุรเสียงสีหนาทก้องฟ้าข้ามห้องออกไปว่า “หนกขู!” เพียงเท่านั้น ทุกอย่างก็สงบราบคาบ

ด้วยพื้นฐานการเป็นศิลปินนี้เอง เมื่อคิดถึงงานเขียนของสุวรรณี ผมจึงชอบคิดถึงงานเหล่านั้นในฐานะของภาพเขียนสีน้ำอันอ่อนไหว

จุดเด่นในงานเขียนของสุวรรณี ก็คือการมองเห็นสีสันของโลก และนำมาสอดร้อยไว้ในแทบทุกบทตอนอย่างศิลปินโดยแท้ ผมคิดว่า การ มองเห็น สีสันของโลกนี้ อย่างหนึ่งเป็นคุณสมบัติส่วนตัว แต่อีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ในทุ่งดอกหญ้าสีขาวพราว ริมแม่น้ำที่ใสเสียจนมองเห็นกุ้งก้ามกรามสีน้ำเงิน ในดินแดนเปี่ยมสีสันที่คนอื่นไม่เคยเห็น โดยเฉพาะในงานเขียนถึงวัยเด็กอย่าง สวนสัตว์ ที่เพียงพลิกไปไม่กี่หน้า เราก็จะรับรู้ได้ถึงสีสันอันเจิดจ้าแจ่มใสในโลกของเธอ เธอจะเห็นสีทองของค้างพลู (พลูทอง เขาเรียกกันว่าอย่างนั้น ใบมันเป็นสีเขียวอมเหลือง แลดูเป็นทองอร่ามได้เหมือนกันในยามที่มีแดด ทว่าเป็นทองชนิดที่ปนด้วยสีเขียวสดใส : จาก เช้าวันอาทิตย์), สีของดอกจำปา (เมื่อฉันจำความได้ จำปาต้นนี้ก็ยืนระหง ชูยอดขึ้นไปบนฟ้าอย่างสง่า ให้ดอกสีส้มอ่อนๆสดสวย : จากบทเดียวกัน), ความงดงามของคุ้งน้ำและถนนในแบบของศิลปิน (ลำน้ำตอนนั้นคดโค้ง ถ้าเป็นเส้นที่ลากลงบนกระดาษ ก็เป็นเส้นชนิดที่มีความอ่อนโยนละมุนละไม ถนนสายนั้นสีแดงจัดจ้า เนื่องจากดินแถบนั้นเป็นดินสีสวยอย่างประหลาด มีดินสีเหลือง และสีแดง และดินที่ว่านี้มีอยู่ตามแม่น้ำนอกเมือง : จากบทเดียวกัน), ความงามและหอมหวนของดอกไม้ในมือ (ทุกเช้าในฤดูหนาว เราเก็บสารภีไปโรงเรียนทุกวัน และทุกวันที่มือของฉันมีละอองสีทองติดอยู่เต็ม...ไม่ใช่ทองอย่างธรรมดา ละอองทองนั้นหอมหวนอย่างไม่มีน้ำหอมชั้นดีชนิดไหนจะทำเลียนขึ้นได้ : จาก สารภีเดือนกุมภา), แม้แต่สีของอีกาตัวร้าย (นัยนต์ตาของมันดูเจ้าเล่ห์ และขี้โกงอย่างร้าย ขนดูดำขลับ จะเป็นสีน้ำเงินเลื่อมในแสงตะวัน : จาก สีทอง), หรือการวาดภาพแลนด์สเคปกว้างไกลให้เห็นด้วยตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัว (แม่น้ำยมช่วงนี้แคบที่สุด โรงสีข้างฝั่งโน้นมีปล่องไฟสูงๆปล่อยควันสีดำเป็นสายขึ้นไป มองผาดๆเหมือนเมฆสีเทาบนท้องฟ้าใสสีครามกว้างขวางมหึมาไม่มีสิ้นสุด และตัวเราเหมือนเศษธุลียืนตัวกระจ้อย : จาก หมอบุญคองกับไอ้เขียว)

แต่กระนั้น ความงาม พวกนี้ก็ไม่ได้ละทิ้งซึ่ง ความจริง แต่อย่างใด งานเขียนเรื่องสั้นของเธอมีจุดเด่นที่ภาษาและสีสัน สะท้อนการต่อสู้กับอำนาจต่างๆไว้บางเบาและซุกซ่อน ปล่อยให้การต่อสู้นั้นค่อยๆซอนสู่หัวใจขอผู้อ่านทีละน้อย งานเขียนที่เป็นนวนิยายหลายเล่มของเธอได้สะท้อน ความจริง และ การต่อสู้ อันเจ็บปวดออกมาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็น คนเริงเมือง หรือ เดือนดับที่สบทาแต่ในขณะเดียวกัน นิยายของเธอหลายเรื่องก็ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นงานในกลุ่ม น้ำเน่า ที่ไม่มีคุณค่าด้วย

ที่จริง สุวรรณี สุคนธา มีสำนึกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือสำนึกของการ วิพากษ์ตัวเอง อันเป็นสิ่งที่หาได้ยาก จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สภาวะของ Superwoman Syndrome บีบให้เธอต้อง ทำงานอันเป็นที่รัก ไปพร้อมกับการ ทำมาหาเลี้ยงลูก ซึ่งทำให้เธอต้อง ตั้งคำถาม กับตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าเธอกำลังทำอะไรอยู่

นักเขียนชายหลายคนมีโอกาสตั้งคำถามได้ชัดเจนกว่าเธอว่า เขาควรเลือกอะไร ระหว่าง งาน หรือ ครอบครัว และหลายคนก็เลือกได้ ง่าย นัก เพราะมักมีผู้หญิงที่ยอมศิโรราบให้กับความเป็นผู้ชายด้วยการดูแลภาระในครอบครัวแทนเขาอยู่เสมอ เขาจึงสามารถที่จะ ทำงาน และ มีลูก ได้ โดยพุ่งเป้าความสนใจไปที่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว

แต่นักเขียนหญิงที่อยู่ในสภาพของ แม่ (และ/หรือ เมีย) ตามการกำกับของอำนาจที่มองไม่เห็น-สามารถทำอย่างนั้นได้ไหม?

นี่เป็นข้อขัดแย้ง (Dilemma) ที่สุวรรณีต้องพบ เธอรู้ดีว่าอยากทำงานแบบไหน และรู้ดีว่างานแบบไหนที่ ตลาด ต้องการ งานแบบหนึ่งของสุวรรณี จึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าในเชิงวรรณกรรม ขณะที่งานอีกแบบ กลายเป็นงานที่อ่านผ่านได้โดยไม่เสียดายอะไร ทว่าเป็นงานแบบหลังต่างหาก ที่เป็น หลักฐาน ยืนยันถึงความเจ็บปวดในฐานะคนสร้างงานที่เป็นผู้หญิง ซึ่งต้องตกอยู่ในภาวะ จำยอม ผลิตงานเพื่อเงิน เพื่อนำมาเลี้ยงดูลูกๆ

แต่ที่สำคัญกว่านั้น-สุวรรณี สุคนธา ตระหนักดีถึงความเจ็บปวดนี้ และ วิพากษ์ตัวเอง ด้วยข้อกล่าวหานี้อยู่บ่อยครั้ง และปรากฎให้เห็นแม้กระทั่งใน พินัยกรรม ที่เธอเขียนถึงลูกชาย

แม่เคยเขียนหนังสือบ้างเหมือนกัน ทั้งเรื่องสั้นเรื่องยาว แต่ก็มีค่าเพียงทำให้มีเงินเลี้ยงลูกๆ อย่าเอาค่าในตัวหนังสือ เพราะมันไม่มีค่าอะไรทั้งนั้น พูดอย่างนี้บางทีแม่ชักอาย เพราะเคยอ่านเรื่องของนักเขียนหนุ่มคนหนึ่ง เขาเขียนหนังสือดีทุกเรื่อง มีอยู่ตอนหนึ่งเขากล่าวเนื้อความถึง นักเขียนโสเภณี แม่อ่านแล้วสะดุ้ง และรู้สึกชาราวกับมีคนมาตบหน้า เพราะแม่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักเขียน นักประพันธ์กับเขาเลย อย่างที่ว่ามาแล้ว ปัญญาแค่หางอึ่งจะอาอะไรมาให้ผู้อ่านเขาได้นอกจากเป็นนักเขียนโสเภณี คือเท่ากับการเขียนอย่างขายตัวและขายวิญญาณนั่นเอง

ถ้าแม่เลือกได้ แม่จะเลือกไม่ให้พวกลูกมาเกิดกับแม่ เพราะแม่นั้นยากจนนัก สติปัญญาที่จะเลี้ยงลูกก็ไม่มีถึงกับขายวิญญาณในการเขียนของตนเอง เขียนเพื่ออะไรเล่า นึกย้อนถามตัวเองอีกทีหรือ เปล่าเลย มิใช่ชื่อเสียงหามิได้ เพื่อเงินต่างหาก เงินที่จะให้ลูกๆนั้นเจริญต่อไปข้างหน้าโดยมีการศึกษา มีกิน มีเสื้อผ้าอย่างลูกเขาอื่น ถ้าแม่อยู่คนเดียวไม่มีลูก แม่จะนั่งบำเพ็ญตนเป็นนักเขียนที่ไม่ต้องการเงินเลยก็ได้ ผลิตงานออกมาเพื่อจะให้เป็นศิลปจริงๆอย่างที่เขาว่าศิลปเพื่อศิลป เพราะถ้าอดก็อดคนเดียว จะบำเพ็ญทุกข์กิริยาใดๆก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าแม่ทิ้งทอดลูกอดอยาก หรือไม่มีเงินให้การศึกษาเล่าเรียน แม่จะทนได้อย่างไร

สุวรรณี สุคนธา น่าจะเป็นนักเขียนหญิงเพียงหนึ่งเดียวที่ เชื่อม โลกของนักเขียนหญิงเข้ากับนักเขียนชายได้ในยุคสมัยของเธอ เพราะเธอห้าวหาญ ฝ่าฟัน กลั่นกล้า และตรงไปตรงมาทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น บทบาทในการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ลลนาของเธอ กล่าวได้ว่าได้ แจ้งเกิด ให้กับนักเขียนมากมาย

ผมเคยอ่านพบที่ไหนสักแห่งว่า ชาติ กอบจิตติ เคยส่งเรื่องไปที่ลลนา ตอนนั้นสุวรรณี สุคนธา ตอบกลับมาว่าให้เขาแก้ไขบางส่วนตรงนั้นตรงนี้ เขาถามไปว่าทำไมบรรณาธิการไม่แก้ไขให้ สุวรรณีตอบในทำนองที่ว่า เพราะถ้าเธอแก้ไขให้ งานก็จะไม่ใช่งานของชาติอีกต่อไป มันจะกลายเป็นงานที่เธอมีส่วนเข้าไปดัดแปลงด้วย แต่เธออยากให้เขาได้แก้ไขงานของตัวเองด้วยตัวเองมากกว่า

ผมไม่รู้ว่าเรื่องเล่านี้จริงเท็จอย่างไร แต่นึกถึงเรื่องนี้ทีไรก็รู้สึกอบอุ่น เพราะนี่คือการที่บรรณาธิการ สร้าง นักเขียนด้วยวิธีการที่ปล่อยให้นักเขียนได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง และแสดงให้เห็นว่า บรรณาธิการคนนั้นข้ามพ้น ตัวตน ของตัวเองได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจาก ตัวตน หนึ่งของบรรณาธิการอย่างสุวรรณี สุคนธา ก็คือนักเขียน และเป็นนักเขียนชั้นครูที่เคยเป็นครูจริงๆเสียด้วย แต่เธอก็สกัด ความเป็นครู ในแบบช่างสอนสั่งออกไป เพื่อเปิดที่ทางให้ความเป็นนักเขียนที่แท้ได้งอกงามในตัวของนักเขียนหนุ่ม

ดังนี้ เมื่อเธอจบชีวิตในปี 2527 อย่างไม่คาดฝัน ในฐานะบรรณาธิการผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง-ผมจึงใจหาย

และใจหายมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้กระทำอนันตริยกรรมกับเธอเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดี และเมื่อขึ้นศาล แม่ค้าสาวๆหลายคนพากันไปให้กำลังใจพวกเขา

ผมอดคิดไม่ได้ว่า เรื่องย้อนแย้งแบบนี้นี่แหละ ที่ สุวรรณี สุคนธา ชอบนำมาเขียนถึง มันกลายเป็น ปม (Conflict) ที่นำมาผูกเรื่องเป็นนิยายหรือเรื่องสั้นได้สะเทือนใจนัก

บางทีเธออาจนั่งเขียนเรื่องความตายของตัวเองอยู่ที่ไหนสักแห่งก็ได้ ที่ซึ่งมีละอองสีทองของสารภีล่องลอยหอมหวานอยู่ในอากาศ...

4

ได้แต่คิดว่า คนเรานั้น ได้พบกัน ได้รักกัน เพื่อวันหนึ่งที่จะต้องมาถึงแน่ ๆ วันนั้นคือ...วันที่จะต้องจากกัน

ตอนจบของ ฉันรักกรุงเทพฯ

เมื่อคิดถึง สุวรรณี สุคนธา ผมมักคิดถึงการจากกัน

งานเขียนหลายเรื่องของเธอจบลงที่ความตายของใครสักคน รวมถึงเรื่องที่โด่งดังที่สุดอย่าง เขาชื่อกานต์ ด้วย

นี่เป็นงานเขียนประเภทสัจนิยมที่สะท้อน ความจริง ในสังคมออกมา ความจริงของการต่อสู้เชิงอำนาจ ซึ่งในเรื่องไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้ระหว่างอำนาจไฟแรงของคนหนุ่มกับอำนาจเถื่อนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังซ่อนการต่อสู้กับ อำนาจที่มองไม่เห็น เอาไว้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของหฤทัย หญิงสาวผู้เป็นที่รักของหมอกานต์ และจบลงด้วยความตายของคนที่ทุ่มเทเพื่อผู้อื่น

หนังสือเล่มนี้ เมื่ออ่านซ้ำครั้งใด ลำคอของผมก็ยังตีบตันหม่นหมอง แม้โดยส่วนตัวแล้วจะไม่มีอะไรข้องเกี่ยวกับมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่อย่างหมอกานต์และ สุวรรณี สุคนธา เลยก็ตาม

แต่เดี๋ยวก่อน-บางทีอาจจะมีก็ได้...

ที่จริงแล้ว เป็นเรื่อง เขาชื่อกานต์ นี้เอง ที่ทำให้ผมได้บังอาจมีส่วนข้องเกี่ยวกับ สุวรรณี สุคนธา โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะแม่เคยเล่าให้ฟังว่า ชื่อของผมนั้นมีที่มาจากตัวละครหนึ่งในเรื่อง ซึ่งคลับคล้ายจะเป็นตัวร้าย ทว่าก็ไม่ได้ร้ายกาจโดยไร้เหตุผล และบางหนผู้คนก็ออกจะสงสารอยู่ครามครันเสียด้วยซ้ำ

ผมจึงนึกดีใจ ที่ตัวละครชื่อเดียวกับผม มีส่วนทำให้งานเขียนชิ้นนี้สำแดงความซับซ้อนของมนุษย์ออกมาให้เห็น

และเพราะชีวิตนั้นซับซ้อนอย่างนี้เอง เราจึงควรตระหนักไว้ให้ดี ว่าอย่าด่วน พิพากษา ใคร เพราะเราไม่มีวันรู้หรอกว่า เหตุปัจจัยแท้จริงที่บ่มเพาะปัจเจกภาพหนึ่งๆให้เป็นอย่างที่เป็นนั้นคืออะไร

สุวรรณี สุคนธา มักเขียนถึงความตายและการจากพรากบ่อยๆ เธอเคยบอกว่าการร่ำลาที่สนามบินนั้นไม่น่าเศร้าเท่าการการร่ำลาที่สถานีรถไฟ...เมื่อรถไฟค่อยๆแล่นออกไป และดวงหน้าของคนที่เรารักก็ค่อยๆเคลื่อนห่าง จากช้าสู่เร็วจนลับหาย...

แต่กรนั้น ความตายก็มีหลายแบบ ความตายบางแบบไม่ได้มอบความเศร้าให้เพียงอย่างเดียว ยังมีความตายประเภทที่ทำให้ดอกไม้บานได้ด้วย

ผมชอบคิดว่า การจากไปของ สุวรรณี สุคนธา ก็เป็นความตายแบบนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น