๒๙ เมษายน ๒๕๕๓

สองเรื่องที่เราต้องคุยกัน


1. สิ่งที่เห็นคือความจริง?

มีเรื่องเยอะแยะที่เราไม่รู้ หรือไม่ก็รู้แค่ส่วนเสี้ยวเดียวของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เรามักรีบด่วนบอกว่า สิ่งที่เราเห็นหรือเชื่อนั้นคือความจริง

ตัวอย่างเช่น ในคืนวันที่ 10 เมษายน คนที่อยู่ในเหตุการณ์มักยึดมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองเห็น มากับตาคือความจริงทั้งหมด เป็นความจริงสูงสุดที่คนอื่นๆซึ่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ไม่ควรบังอาจมาโต้แย้ง

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความจริงที่คนคนนั้นได้เห็นมา มันคือความจริงแค่ เสี้ยวเดียว ของเหตุการณ์ทั้งหมด ซึ่งจะตีขลุมเอาความจริงเสี้ยวเดียวนั้นไปคลุมความจริงทั้งหมดไม่ได้

ถ้ายังมีความเป็นวิญญูชนอยู่บ้าง จะไม่มีใครกล้าพูดว่า สิ่งที่ ตัวกู เห็น คือสิ่งที่เป็นความจริงสูงสุดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เพราะปัญหาของ ตัวกู ก็คือ มันมักจะยัดตัวตนลงไปจนเต็มแน่นและยึดตัวตนนั้นเอาไว้ไม่ยอมปล่อย

ตัวกูจึงมักทำให้เรายึดมั่นถือมั่นกับความจริงที่เราพบในสายตาของเรา โดยเฉพาะถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์ และเมื่อมีคลิปอะไรบางอย่างที่สอดรับกับ ความจริง ของเรา เราก็ยิ่งคิดว่าความจริงของเรานั้นจริงยิ่งกว่าของใครอื่น

แต่เหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน ไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเท่านั้น ยังมีเครือข่ายใยโยงอื่นๆอีกมากที่สลับซับซ้อน จนเราไม่อาจรู้ได้ว่า ที่แท้แล้วสิ่งซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพที่เราเห็นนั้นคืออะไร และการยึดมั่นในความจริงของเรา ที่แท้อาจเป็นความเท็จใต้หน้ากากความจริงก็ได้

เมื่อเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ เรามัก คิดว่าตัวเองมี ต้นทุน สูงกว่าคนอื่น ความคิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับคนที่คิดว่าตัวเองมี ต้นทุนสูงกว่าคนอื่นๆอีกหลายแบบด้วย เช่นนักวิชาการ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีความหลากหลายไม่แพ้คนกลุ่มใดในสังคม แต่เราจะเห็นว่า มีนักวิชาการหลากหลายกลุ่มออกมาต่อสู้ฟาดฟันเอาชนะคะคานกันในการนำเสนอ ความจริงของตัวเอง ประดุจว่าความจริงของตนนั้นเป็นความจริงขั้นสูงสุดที่ใครจะมา แตะต้อง ไม่ได้

เดิมทีเดียวในทางวิชาการ การแตะต้องวิพากษ์วิจารณ์กันคือหัวใจหลักของการพัฒนาองค์ความรู้ แต่เมื่อการต่อสู้แหลมคมยิ่งขึ้น เราก็จะเห็นว่า นักวิชาการจำนวนหนึ่งหันไปสมาทานตัวเองเข้ากับอำนาจบางฝ่าย (โปรดอย่าลืมว่า-การอ้างว่าไร้อำนาจเพื่อสร้างกลุ่มก็คืออำนาจแบบหนึ่ง) ขณะที่นักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านนักวิชาการกลุ่มแรก เสร็จแล้วเมื่อการต่อสู้งวดเข้า ในที่สุด ต่างฝ่ายต่างก็ต้อง ยึด ความจริงของตัวเองเอาไว้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่อย่างนั้นก็อาจเพลี่ยงพล้ำไป เห็นด้วยในบางประเด็น กับคนที่ทึกทักว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามได้ นักวิชาการเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นอะไรอื่น นอกจากนักประกอบสร้าง ความจริง ขึ้นมารับใช้ ตัวกู แถมยังเป็นนักประกอบสร้างความจริงที่น่ากลัวเสียด้วย เพราะเต็มไปด้วยตรรกะที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากถูก ฝึก มา (เหมือนหมาของพาฟลอฟ) ให้น้ำลายไหลเมื่อได้ยินตรรกะที่สอดรับกับจริตของตัวเอง

คนกลุ่มอื่นๆที่คิดว่าตัวเองมี ต้นทุน สูงกว่าคนทั่วไปได้แก่สื่อมวลชนที่เข้าไปทำข่าวคลุกคลี (แต่ก็รับรู้ความจริงได้เฉพาะสิ่งที่ตัวเองพบ) ซึ่งถ้าสติขาดผึงลงเมื่อไหร่ ก็สามารถเหวี่ยงตัวเองเข้าไปอยู่ฟากใดฝ่ายหนึ่งได้ทันที เนื่องจากทนแรงเย้ายวนของ ความจริงหนึ่งที่สอดรับกับจริตของตัวเองไม่ได้, ผู้ชุมนุม ที่พาตัวเองเข้ามาอยู่ในกลุ่มใกล้เวที (หรือฟังรายการโทรทัศน์วิทยุที่ให้ข้อมูลในฟากของตน) เนื่องจากคิดว่าการเข้ามาอยู่ ใกล้ จะทำให้ได้ ความจริง มากกว่าการเสพสื่ออื่นๆทั่วไปอันมีทั้งสื่อที่โฆษณาชวนเชื่อฝ่ายตรงข้าม และสื่อกลวงๆของชนชั้นกลาง, นักการเมือง (หรือผู้ที่พยายามพาตัวเข้าไปเป็นหรือเข้าไปใกล้) ผู้คิดว่าตัวเองคลุกคลีอยู่กับ วงใน และมักทึกทักเอาว่าความจริงที่ตัวเองรู้มานั้น คือ ความจริง ที่แท้ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกลุ่มคนที่มี ต้นทุน ทางความเชื่อสูง (ซึ่งมักแปลว่ามีต้นทุนทางปัญญาต่ำ-แต่ก็ไม่เสมอไป) ที่เลือกจะเชื่อว่าสิ่งที่ ตัวกู เชื่อนั้น คือ ความจริง โดยไม่ต้องมีต้นทุนอื่นๆมาเป็นฐาน

ปัญหาของคนเหล่านี้ก็คือ เมื่อคิดว่า ความจริงของตัวเองคือความจริงเสียแล้ว ก็ต้องพยายามทำทั้งการ รักษา ความจริงนี้และเผยแผ่ความจริงนี้ให้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือการเผยแพร่ ข่าว ที่ตัวเองคิดว่า จริง โดยในปัจจุบันทำได้ง่ายผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ซึ่งถ้าเข้าไปพินิจดูให้ดี ก็จะเห็นการใช้ตรรกะมั่วๆ ผิดๆพลาดๆ หรือการให้ข่าวที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังยึดมั่นอยู่กับความเชื่อเดิมของตนไม่รู้จักโงหัวออกมาจากความจริงของตัวเองเสียบ้าง นอกจากการเผยแพร่ข่าวแล้ว ยังเผยแพร่การจิกกัดเสียดสีเยาะเย้ยกันและกัน การใช้คำรุนแรง คำหยาบคาย การปลุกระดมคนให้ออกมาฆ่าฟันกัน หรือการตีความ ความจริงของคนอื่นให้มาเข้าทางสอดรับกับความจริงของตัวเอง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องกับทุกฝ่าย จึงแสดงให้เห็นความล้มเหลวของสังคมไทย ในฐานะสังคมที่กำลัง หลง กับ ความจริง

เป็น ความจริงของ ตัวกูอันเป็นเรื่องน่าสมเพช

เพราะแม้มีคนตายไปแล้ว การเสพและยึดกับ ความจริง แบบนี้ ก็ยังอาจทำให้มีการตายเพิ่มเพื่อสังเวยการประกอบสร้างความจริงพวกนี้ต่อไปได้อีกไม่รู้จักสิ้นสุด!

2. ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง?

สำหรับผม การยุบสภาเป็นทางออกที่ดี แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น เพราะเป็นการฟังความเห็นของทุกฝ่าย ลองทำประชามติดูกันก่อนดีไหม ว่าจะยุบสภาหรือไม่ยุบสภา อาจต้องใช้เงินอีกพันถึงสองพันล้านบาท แต่ก็คุ้มค่ากับการแลกด้วยชีวิตคน

อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกทะแม่งๆกับการเรียกร้องของคนจำนวนหนึ่ง (ไม่ว่าจะเรียกร้องให้ยุบสภาหรือไม่ก็ตาม) ที่บอกว่าประชาธิปไตยมีพื้นฐานสำคัญที่สุดมาจากการ เลือกตั้ง และเรียกร้องการเลือกตั้งประดุจดังสิ่งนี้คือเครื่องมือจากเทพเจ้าที่จะแก้ไขปัญหาทั้งปวงได้ เพราะถ้าจะว่ากันตามประเทศที่เป็นแม่แบบประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกานั้น คุณค่าหลัก หรือ Core Value ที่เขาสอนเด็กกันมาตั้งแต่ระดับประถม มัธยม จนถึงคนทั่วไป (ซึ่งค่อยๆอธิบายให้ยากขึ้นทีละขั้น) นั้น การเลือกตั้งเป็นแค่คุณค่าหนึ่งเท่านั้น ยังต้องมา พร้อม กับคุณค่าอื่นๆอีกหลายอย่าง

คุณค่าพวกนี้ตั้งอยู่บนการให้นิยามกับ สิทธิ ต่างๆหลายอย่าง เช่นสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (ยกเว้นในบางสถานการณ์ที่เข้มข้นสุดขั้วจริงๆ-เช่นการประหารนักโทษ), สิทธิที่จะมีเสรีภาพในด้านต่างๆ โดยรวมแล้วก็คือสิทธิมนุษยชน, สิทธิที่จะแสวงหาความสุข (Pursuit of Happiness) ด้วยวิถีของตัวเอง, มีความดีร่วม, มีความยุติธรรม (ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก), มีความเท่าเทียม และมีความหลากหลาย แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะไปก่อให้เกิดหลักการในรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งถือเป็นหลักการประชาธิปไตยที่สำคัญทั้งหมด ไม่ใช่ข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น หลักการที่ว่ามีอาทิ มีการปกครองโดยกฎหมาย ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ถ้าจะมีการยกเว้น ก็เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้เป็นการเห็นชอบร่วมกันเหมือนที่บางประเทศทำอยู่, มีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นอำนาจทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้เกิดการคานอำนาจซึ่งกันและกัน, เป็นการปกครองโดยตัวแทน ซึ่งตรงนี้แหละครับ เป็นเรื่องของการเลือกตั้งที่เราพูดถึงกันอยู่, ต้องมีการตรวจสอบอำนาจที่มอบให้กับรัฐ, สิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนที่ต้องได้รับการคุ้มครอง, มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นต้น

จะเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด แต่ต้องมีสิ่งอื่นอีกมากมายมากำกับร่วมด้วยเสมอ (และไม่ใช่แค่การตรวจสอบด้วยซ้ำ) เพราะถ้าการเลือกตั้งโดย เสียงส่วนใหญ่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดเท่านั้นแล้ว คนที่คิดต่างจากเสียงส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง และเสียงส่วนใหญ่ก็อาจ ทำอะไรก็ได้ แม้แต่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน (หรือแม้แต่ละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของคนอื่น) เพียงเพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่

ทุกวันนี้ ยากจะปฏิเสธว่าเราอยู่ในระบอบการปกครองที่เรียกว่า Oligarchy หรือการปกครองที่ อำนาจ ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของชนชั้นนำเพียงส่วนน้อย เราจึงไม่รู้ว่า คนที่เป็น ส่วนน้อย พวกนี้ กำลังทำอะไรอยู่ ความจริงที่เราเห็น กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆอยู่หลังฉากคืออะไรนั้นเราไม่มีวันรู้ว่ามันจะเหมือนกันหรือไม่

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องนะครับ ที่เราจะ เหวี่ยง ตัวเอง หันไปเป็น Majoritarianism หรือที่เรียกว่า Ochlocracy หรือการถือเอาเสียงของ มวลชนเป็นใหญ่ (ไม่ว่าจะแบบ Mob Rule หรือผ่านการเลือกตั้ง) เพราะลำพังแค่การเลือกตั้งอย่างเดียว ยังไม่ทำให้เราเป็น ประชาธิปไตย ได้โดยสมบูรณ์หรอกครับ และการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ก้าวแรกเพียงก้าวเดียว แต่ต้องเป็นการก้าวไปพร้อมกับการเข้าใจ คุณค่าหลัก อื่นๆของประชาธิปไตยด้วย

แน่นอน การเข้าใจคุณค่าหลักพวกนี้ไม่ใช่การปล่อยให้ชนชั้นผู้นำลุกขึ้นมา มอบให้ อย่างที่ชนชั้นนำไทยบางส่วน (ยัง) คิดอย่างนั้นอยู่ แต่ประชาชนทั่วไปต้องเข้าใจด้วยตัวเอง ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก ถ้าเราจะบอกว่า ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตยแล้ว โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแล้ว เพียงเพราะประชาชนเรียกร้องการเลือกตั้งเท่านั้น

เพราะการคิดแบบนี้ ก็คือการสร้าง ความจริง แบบ Ochlocracy ของตัวเองขึ้นมา ต่อกร กับ ความจริง แบบ Oligarchy ของอำนาจเดิม แล้วต่างฝ่ายต่างก็ยึดมั่นถือมั่นในความจริงของ ตัวกู จนอัตตามันพองแทบระเบิด พลางคิดว่าไอ้อัตตานั่นแหละ คือพลังในการต่อสู้!

เรื่องสองเรื่องที่เราต้องคุยกันจึงเข้ามาซ้อนทับกลายเป็นบทละครเรื่องเดียวกันจนได้

บทละครเรื่องนั้นมีชื่อว่า-ราโชมอน!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น