1
ผมมีเรื่องงุนงงสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง มันอาจเป็นข้อสงสัยตามประสาคนโง่ ไร้เดียงสา ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่เคยร่ำเรียนด้านสังคมศาสตร์ ไม่มีพื้นฐานทฤษฎี
ผมสงสัยอยู่ว่า ทำไมจู่ๆ ณ บัดนาว ผู้คนในแวดวงวิชาการถึงได้ออกมาร่ำร้องเรียกหาสิ่งไร้ชีวิตที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ กันปาวๆ โดยทำราวกับประชาธิปไตยเหมือนเป็นความจริงและความดีสูงสุด
จริงๆแล้วผมไม่มีปัญหาอะไรกับการเรียกร้องประชาธิปไตยหรอกนะครับ ผมมีปัญหากับการทำรัฐประหารมากกว่า ผมคิดแบบง่ายๆของผมว่า การทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก็คือการแสดงถึงวิธีคิดแบบเชิดชูวีรบุรุษทางการเมืองออกมาให้เห็น เป็นการคิดแบบหนังเรื่อง A Bug’s Life ว่าฝูงมดนั้นต้องการ ‘ฮีโร่’ อยู่ตลอดเวลา แล้วตัวกูนี่แหละ จะขออาสาเจ็บปวด (ด้วยนะ!) ทำตัวเป็นฮีโร่ให้คนอื่นได้พึ่ง โดยคิดว่าอะไรๆในชีวิตจริงมันน่าจะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมาเหมือนในการ์ตูน
แต่นั่นเป็นได้แค่ความคิดของคนที่เติบโตมาในกรอบกรงบางอย่างที่ไม่เคยคุ้น ไม่ได้สัมผัส และไม่เข้าใจความซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่
กรอบความคิดแบบเชิดชูฮีโร่ (และขอฉันเป็นฮีโร่เอง) เป็นความคิดแบบเด็กๆที่เคยดูแต่การ์ตูนแนวพระเอก-ผู้ร้าย แต่บังเอิญเด็กคนนั้นมีอาวุธอยู่ในมือ ทว่าไม่ได้ตระหนักว่า คนสมัยนี้เขาอ่านการ์ตูนที่ซับซ้อนในเชิงความคิดกันไปถึงไหนแล้ว โดยเฉพาะการ์ตูนญี่ปุ่นที่คนดูการ์ตูนโบราณมักคิดว่าเป็นปัญหานี่แหละ
โลกไม่ได้โง่กว่าฮีโร่ คนธรรมดาสามัญทั่วไปมีปัญญาจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาได้เอง คำถามก็คือ ปัญหานั้นมัน ‘กระทบ’ กับตัวของเขาแล้วหรือยังเท่านั้น ไม่ใช่เกิดปัญหาขึ้นกับคนที่อยู่ด้านบนของพีระมิดประชากร แล้วก็ดันคิดแทนคนอื่นๆไปด้วยว่าปัญหาจะต้องกระทบลงไปถึงคนด้านล่างด้วย
โลกไม่ได้เป็นพีระมิดแบบตรงไปตรงมาอย่างนั้น มันซับซ้อนกว่านั้นมาก และสิ่งที่เป็น ‘ปัญหา’ สำหรับคนรากหญ้า ก็อาจไม่ใช่ปัญหาเดียวกับชนชั้นปกครองก็ได้ คนธรรมดาทั่วไปจึงควรมี ‘สิทธิ’ ที่จะมองเห็นและจัดการกับปัญหาที่เขาเห็นว่าสำคัญกว่าก่อนจะไปใส่ใจกับปัญหาของฮีโร่
แต่ปัญหา (ของปัญหา) ก็คือ ชนชั้นปกครองนั้น มัวแต่ ‘หมกมุ่น’ อยู่กับการเป็น ‘ฮีโร่’ จนไม่ได้โงหัวขึ้นมาดูปัญหาของชาวบ้านเขา จึงทำให้เกิดปัญหาหมักหมมจากการหมกมุ่นที่ว่า กรทั่งประเทศไทยมีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในหนังเรื่อง Dark Knight หรือแบตแมนภาคล่าสุดนั้น มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งที่ผมชอบเอามากๆ
คำพูดประโยคนั้นก็คือ You Either Die a Hero, or Live to Become the Villain แปลความได้ว่า คุณสามารเลือกได้สองอย่าง นั่นก็คือจะตายอย่างฮีโร่ หรือว่าจะมีชีวิตอยู่ยาวนานพอจะกลายเป็นคนชั่ว
ผมคิดว่าคำพูดนี้มีนัยสำคัญหลายอย่าง อย่างแรกก็คือ ฮีโร่นั้นไม่ใช่ ‘สภาวะ’ ที่ยั่งยืนเลย นอกเสียจากว่าคุณจะ ‘ตาย’ ขณะที่เป็นฮีโร่อยู่ แต่ก็น่าแปลก ที่ผู้คนจำนวนมากกลับกระหายกระเหี้ยนจะเป็นฮีโร่กันไม่รู้จักแล้ว และใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เป็นฮีโร่ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ การเป็นฮีโร่จึงไม่ใช่เป็นกันแค่โดดๆ แต่มันคือขบวนการใหญ่ ที่อาจขนานนามให้ได้ว่าเป็น ‘ระบอบฮีโร่’ ซึ่งต้องการวิธีการต่างๆนานาในการขึ้นสู่อำนาจเพื่อเป็นฮีโร่ การรัฐประหารเป็นวิธีหนึ่ง การใช้เงินซื้อเสียงเพื่อให้ได้ขึ้นครองอำนาจเป็นอีกวิธีหนึ่ง และผมกำลังสงสัยอยู่ว่า การ ‘เรียกร้องประชาธิปไตย’ โดยไม่ลืมหูลืมตามาดู ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ ของประชาธิปไตย (ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์พูดถึงมาเป็นเวลานานแล้วในแวดวงวิชาการ) ก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งด้วย
ถ้าถามว่า ทำไมฮีโร่ถึงเป็นสภาวะที่ไม่ยั่งยืน ตรงนี้เป็นนัยสำคัญอย่างที่สองของคำพูดในหนังข้างต้น ผมคิดว่าที่ฮีโร่ไม่เคยยั่งยืน ก็เพราะฮีโร่เป็นมนุษย์ตดเหม็นธรรมดาสามัญ ต่อให้คุณจะมีคำนำหน้าชื่อว่า ฯพณฯ เป็นจอมพล เป็นพลเอก เป็นคุณหญิง หรือเป็นนายกรัฐมนตรี คุณก็เป็นได้แค่มนุษย์คนหนึ่ง และมนุษย์ก็มีวันทำผิดพลาดได้เสมอ
เพราะฉะนั้น ถ้าคนเรามีชีวิตอยู่ยืนยาวเกินไป (ผมหมายถึงในฐานะ ‘ฮีโร่’ น่ะนะครับ) ก็อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นกับสถานภาพฮีโร่นั้นได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ในตอนแรกๆ ความผิดพลาดของฮีโร่อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ผู้คนให้อภัย แต่ความผิดพลาดไม่เคยเกิดขึ้นครั้งเดียว ในมิติเดียว มันสามารถเกิดขึ้นได้ซ้ำๆ ในหลากเรื่อง ตามประสามนุษย์ปุถุชน และตามประสามนุษย์ปุถุชนอีกเช่นกัน ที่เมื่อผ่านช่วง ‘ฮันนีมูน’ ไปแล้ว ชาวบ้านร้านตลาดก็จะเริ่มมองเห็นข้อบกพร่องผิดพลาด เริ่มเห็นว่าฮีโร่มีข้อเสีย และพากันขุดคุ้ยอดีตและความเลวร้ายของฮีโร่ขึ้นมา
มันเหมือนสมการไฮเปอร์โบลา ที่เมื่อเกิดกระแสขึ้นแล้วก็ยิ่งกระพือโหมให้กระแสแรงมากขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ เมื่อเวลาผ่านไป ฮีโร่จึงมักกลายเป็นตัววายร้าย แม้เคยทำคุณงามความดีเอาไว้บ้าง แต่ก็ไม่มีใครจดจำ
หากทอดตามองทั่วแผ่นดิน เราจะพบว่า คำพูดในเรื่อง Dark Knight นั้น มีทั้งที่เป็นจริงและไม่เป็นจริง
แต่น่าแปลก, ที่ส่วนใหญ่มักเป็นจริง
(คนเคยเป็น) ฮีโร่ของสังคมนี้-คนที่สังคมนี้เคยยกย่องเชิดชู บัดนี้หลายคนถูกด่าว่า ถูกละทิ้ง และแม้กระทั่งถูกสบประมาทด้วยความคิดเห็นและข้อมูลที่แม้จะเป็นจริง แต่น่าขันที่เพิ่งถูกหยิบยกนำขึ้นมาโจมตีในวันที่ฮีโร่อ่อนแอถึงขีดสุด
นี่คือเรื่องน่าเศร้าของการ (เคย) เป็นฮีโร่
จึงน่าสงสัยยิ่งนัก ว่าแล้วเราจะกระสันอยากเป็นฮีโร่กันไปเพื่ออะไร เราไม่ได้อาศัยอยู่ในโลกการ์ตูนฝูงมดเสียหน่อย ปล่อยให้คนอื่นๆมีชีวิตอยู่อย่างที่พวกเขาเป็นไม่ได้หรือ
ทำไมต้องบังคับให้พวกเขาตกอยู่ใต้เงื้อมมือการปกครองดูแลของฮีโร่อยู่เสมอด้วย?
2
ที่ผมบอกว่า กำลังสงสัยว่า การ ‘เรียกร้องประชาธิปไตย’ โดยไม่ลืมหูลืมตามาดู ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ ของประชาธิปไตยนั้นจะมีส่วนในขบวนการสร้างฮีโร่มนุษย์ไฟฟ้าห้าสีด้วย ก็เป็นเพราะผมคิดว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบโดดๆ ด้านๆ โดยไม่ได้สนใจนำเสนอการวิพากษ์ประชาธิปไตยของนักวิชาการจำนวนมากในโลกตะวันตกที่คุ้นเคยกับประชาธิปไตยมากกว่าเรา (ไล่มาตั้งแต่ต๊อกเกอร์วิลล์คนเดิม, คาร์ล ชมิดท์ หรือชีเช็ค และผมคิดว่าคงมีคนอื่นๆอีกมากที่ผมไม่รู้จัก-ก็ผมไม่ใช่นักวิชาการนี่ครับ!) นั้น-ผมคิดว่า ณ เวลานี้ การคิดและทำ ‘เพียงแค่นี้’ ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากการ ‘ให้ท้ายระบอบทักษิณ’ อันเป็นการสำแดงปฏิกิริยาด้านกลับของอาการต่อต้านรัฐประหาร
การเรียกร้องประชาธิปไตยแบบโดดๆ ด้านๆ ขาดการวิพากษ์ เป็นไปอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู คิดว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือสิ่งที่สุดเท่แสนคูล นึกว่ามันคือการปฏิวัติฝรั่งเศส และจะนำประเทศนี้ไปสู่อุดมคติ ที่สุดแล้ววิธีคิดแบบนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากกลายเป็นฟันเฟืองส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้าง ‘ระบอบฮีโร่’ ขึ้นมาให้ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ระบอบฮีโร่’ นั้นด้วย
ฝ่ายขวาเคยพูดว่า ประเทศไทยนั้นมีความเฉพาะ ต้องการการปกครองเฉพาะ ฟังแล้วคลื่นเหียนวิงเวียน เพราะเรารู้อยู่ว่าการพูดแบบนั้นมีประเด็นที่ซ่อนเร้นอะไรอยู่ แต่ในเวลาเดียวกัน การที่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยออกมาโจมตีประเด็นนี้ โดยพยายามบอกว่าประชาธิปไตยไทยจะไปเฉพาะอะไร มันสามารถเหมือนประชาธิปไตยอื่นๆโดยทั่วไปได้นั้น ผมคิดว่าก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริง ประชาธิปไตยในโลกที่พัฒนาแล้วนั้น นอกจากจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อังกฤษ, อเมริกา, ประเทศในยุโรป, ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย, ญี่ปุ่น ฯลฯ ต่างก็มีประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน
แต่ยิ่งไปกว่านั้น ต่อให้เป็นประชาธิปไตยในประเทศเดียวกัน (เช่น ประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา) มันก็ไม่ใช่ ‘ประชาธิปไตยแข็งตัว’ ที่ทื่อนิ่งตายซากอยู่บนพานแว่นฟ้าเหมือนที่เราชอบคิดกัน
ประชาธิปไตยก็เหมือนเพศสภาวะ มันไม่ ‘แข็ง’ แต่มันเลื่อนไหลได้ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีทั้งประชาธิปไตยที่เน้นสังคมนิยม ประชาธิปไตยที่เน้นพหุนิยม ประชาธิปไตยที่เน้นเสรีนิยม แม้กระทั่งประชาธิปไตยแนว Radical Democracy (ที่ผมนึกคำแปลเป็นไทยไม่ออก) และอื่นๆอีกมากมาย เราจึงต้องการการถกเถียงอย่างเข้มข้น ว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหนอย่างไรกันแน่ แต่เรามักชอบลัดขั้นตอนเพื่อวิ่งตรงไปสู่จุดสุดยอดในระบอบฮีโร่ เราทำทุกวิถีทางเพื่อเป้าหมายเท่านั้น ฐานคิดของเราจึงอ่อนแอน่าสมเพชและน่าผิดหวัง
ประชาธิปไตยแบบต่างๆเหล่านี้กระทบกระทั่งกันอยู่ตลอดเวลาเหมือนเปลือกทวีป เวลามันกระทบกัน ก็มักจะเกิดแผ่นดินไหว พ่นลาวา ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้แต่สึนามิขึ้นมาเสมอ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามนุษย์ทั่วไปจะต้องตายไปเพราะการกระทบกระทั่งเหล่านี้และนอนงอมืองอตีนรอความช่วยเหลือจากระบอบฮีโร่เสมอไป
สิ่งที่ผมเรียกร้องก็คือ จงหยุดการ Simplify ความรู้ที่พวกคุณมีอยู่เพื่อนำไปใช้ให้ท้ายระบอบฮีโร่เถอะครับ
ไม่ว่าจะเป็นระบอบฮีโร่แบบไหนก็ตาม!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น